- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 17 September 2014 22:35
- Hits: 2874
รมว.พาณิชย์ เชื่อไทยยังได้เปรียบจาก เออีซี
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเปิดประชุม'เจาะลึกสุดยอดอาเซียน'หรือ Insights Asean summit 2014 ว่า การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ปี 2558 จะเป็นรากฐานสำคัญของอาเซียนทั้งโอกาสและความท้าทาย เนื่องจากจะมีการรวมกันของประชากรกว่า 700 ล้านคน ซึ่งไทยยังจะมีบทบาทสำคัญต่อเนื่อง เพราะมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงทางด้านกายภาพจากเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกและทางอากาศก็มีความคืบหน้าไปมาก ทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างไทย-อาเซียน เพิ่มขึ้นได้อีกมาก โดยตลาดอาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยตั้งแต่ปี 2545
ทั้งนี้ หากดูมูลค่าการค้ารวมระหว่างอาเซียนกับไทยปี 2556 มีมากกว่า 101,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียนถึงร้อยละ 25.9 สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ไทยส่งออกไปอาเซียนมีมูลค่ามากกว่า 57,000 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยพร้อมที่จะดำเนินการตามข้อตกลงร่วมกันของอาเซียน โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันภายหลังปี 2558 ที่มุ่งเน้นสะท้อนความต้องการของประชาชนและสนับสนุนให้เป็นภูมิภาคที่สันติ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคอย่างสร้างสรรค์
ด้านนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวในหัวข้อ'แผนแม่บท AEC โอกาสและความท้าทาย'ยอมรับว่า ความท้าทายสำหรับไทยที่จะใช้ประโยชน์จากเออีซี คือ เอสเอ็มอีของไทย ซึ่งคิดเป็นจำนวนมากกว่า 2 ล้านราย แต่ยังมีจำนวนน้อยที่กล้าออกไปลงทุนนอกประเทศ ทั้งที่ภาพรวมเอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพ รวมทั้งยังมีความท้าทายต่อการจัดการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะการลงทุน นอกจากนี้ ไทยยังต้องเร่งพัฒนาให้หลุดจากกลุ่มประเทศรายได้ชนชั้นกลางมานานหลายปี โดยจะต้องเพิ่มรายได้ประชากรต่อหัวให้เกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี จากปัจจุบันเฉลี่ยเพียง 7,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี แต่จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งและการเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคการค้า และการลงทุนต้องได้รับการส่งเสริมด้านของเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย และการพัฒนาในหลายด้าน รวมทั้งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และกฎหมาย เพื่อจะรองรับการรวมกลุ่มอาเซียนและประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค และเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ การประชุม Insights Asean summit 2014 จัดโดยองค์กรนักธุรกิจและผู้บริหารรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายนนี้ที่ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี โดยมีผู้นำจากภาคธุรกิจต่างๆ ทั่วทวีปเอเชียมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้แก่ผู้บริหารและผู้นำด้านธุรกิจ จำนวน 300 คนจากทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งจะมีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกทางด้านธุรกิจที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และวิธีการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการรวมกลุ่มเออีซี ปี 2558
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งสร้างความพร้อมผู้ประกอบการก่อนเข้าเออีซี
แนวหน้า : นางสาวพิกุล ทักษิณวราจาร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ หรือการให้บริการขนส่งและขนถ่ายสินค้า บริการคลังสินค้า ธุรกิจตัวแทนออกของพิธีการทางศุลกากร และธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศนั้น ถือว่าเป็นธุรกิจที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้กับธุรกิจภาคอื่นๆ เป็นธุรกิจหลักที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเป็นสาขาธุรกิจที่เร่งรัดเปิดเสรีภายใต้ความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (AFAS) โดยตั้งแต่ปี 2556 ผู้ประกอบธุรกิจในอาเซียนสามารถถือหุ้นในประเทศสมาชิกได้ถึง 70% ดังนั้นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไทย ได้มีแนวคิดส่งเสริมพัฒนาธุรกิจของคนไทยให้มีศักยภาพ โดยการยกระดับคุณภาพธุรกิจของคนไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล และสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เห็นว่าปัจจุบัน ณ วันที่ 31 ส.ค.2557 มีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ จำนวน 19,332 ราย มีทุนจดทะเบียนรวม 811,525.96 ล้านบาท สามารถสร้างรายได้กว่า 700,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี และอยู่ในภาคการขนส่งที่มีการแข่งขันสูงคิดเป็น 75.45% กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้มีการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจด้วยกลยุทธ์บันได 3 ขั้น คือ การสร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจ, การยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจและมาตรฐานสากล และการสร้างโอกาสทางการตลาด และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจสู่สากล ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ฉบับที่ 2 (2556-2560) ที่มุ่งเน้นส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ และมีมาตรฐานทัดเทียมสากล จึงเป็นที่มาของโครงการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์สู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กรมฯ ยังมองว่าธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ ที่เริ่มต้นจากการพัฒนาเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็ง และสามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเชื่อว่าหากทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจไทยอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ภาคเศรษฐกิจของไทยก็จะมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น