WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaaDITP

รมว.พาณิชย์ เปิดงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ช่วยกระตุ้นยอดส่งออก หนุนผู้ประกอบการรายใหม่สู่ตลาดโลก

       นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 62 ภายใต้แนวคิด "Heritage & Craftsmanship" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2561

     งาน Bangkok Gems and Jewelry Fair เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งขนาดใหญ่และผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศได้เจรจาการค้า พบปะพันธมิตรจากทั้งในประเทศและนานาประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักออกแบบหน้าใหม่ได้แสดงศักยภาพผ่านผลงานเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สู่สายตาของผู้ซื้อกลุ่มเป้าหมายจากทั่วโลก ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่างาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ได้รับผลตอบรับที่ดีโดยมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมแสดงสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยงานครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Heritage & Craftsmanship" ชูฝีมือช่างศิลป์ไทยที่ผสมผสานความงดงามแบบไทยเข้ากับความต้องการของผู้บริโภคนานาชาติได้อย่างลงตัว อีกทั้งตอกย้ำจุดยืนของประเทศไทยที่เป็นผู้นำเทรนด์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลก

        อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการยกระดับความคิดสร้างสรรค์ รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น "ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก" (Jewelry Hub) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้วางยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินการเพื่อสนับสนุนภารกิจดังกล่าวให้บรรลุผล"

        "ปี 2560 ที่ผ่านมา อัญมณีและเครื่องประดับไทยนับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 รองจากยานยนต์ และคอมพิวเตอร์ ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2561 ขยายตัวถึง 6.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาและกรมมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะยังสดใสต่อเนื่อง" นายสนธิรัตน์ กล่าว

       รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดตัวแคมเปญระดับโลก นำเสนอภาพลักษณ์ใหม่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ด้วยแนวคิด "Thailand’s Magic Hands: The Spirit of Jewelry Making: มหัศจรรย์แห่งหัตถาช่างศิลป์ไทย" ที่แสดงให้เห็นถึงข้อได้เปรียบของไทยในการสร้างสรรค์เครื่องประดับชั้นยอดโดยช่างฝีมือไทย ตลอดจนมุ่งเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่และ SMEs กว่า 150 รายจาก 18 จังหวัดทั่วประเทศในโซน The New Faces มั่นใจดึงดูดนักธุรกิจและผู้ซื้อกว่า 20,000 รายจาก 130 ประเทศร่วมงานและกระตุ้นยอดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย

รมว.พาณิชย์ หนุน GIT เดินหน้าขยายโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากชุมชนสู่สากล

     นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างรายได้สู่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน (สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ) ถือเป็นนโยบายของกระทรวงฯ ที่ต้องการจะพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในภูมิภาค โดยการพัฒนาต่อยอดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์การก้าวสู่ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก โดยมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เป็นหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ และปัจจุบัน GIT สามารถพัฒนาศักยภาพของผู้เข้าร่วมโครงการในจังหวัดเป้าหมายให้สามารถพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น สามารถสร้างเสริมรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย

      ด้านนางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการ GIT เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการสำคัญที่สถาบันฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2560 โดยลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการและหารือหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการและเดินหน้าพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ในจังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน และสุโขทัย ซึ่งการค้นหาอัตลักษณ์ของงานออกแบบเครื่องประดับ ผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมเดิม และอัตลักษณ์เฉพาะตัวในการออกแบบของแต่ละแบรนด์ กับอิทธิพลวัฒนธรรมภายนอก กลายเป็นเครื่องประดับลูกผสม (Hybridization) อันสวยงาม

       นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังเดินหน้าพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสู่จังหวัดเป้าหมายอีก 5 จังหวัด ได้แก่ แพร่ สุรินทร์ เพชรบุรี ตราด และสตูล โดยการใช้อัตลักษณ์อันโดดเด่นในแต่ละจังหวัด มาปรับใช้ในการออกแบบเครื่องประดับให้มีความสวยงาม และร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ผ่านการอบรมให้ความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงการบริหารจัดการและการตลาด ก่อนที่จะทำเวิร์คชอปพร้อมคัดเลือกผู้ประกอบการ และ/หรือนักออกแบบที่มีความสามารถจำนวน 4 คนเข้าร่วมโครงการในแต่ละจังหวัด เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและออกแบบครื่องประดับร่วมกับนักออกแบบมืออาชีพ และ ผู้เชี่ยวชาญ

        ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ และภาพลักษณ์ใหม่ด้านการออกแบบ รวมถึงสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าให้กับผลงานการออกแบบเครื่องประดับในโครงการดังกล่าว สถาบันฯ จึงได้นำแรงบันดาลใจ และตัวอย่างชิ้นงานที่ผลิตจริงมาจัดแสดง และจำหน่าย ภายในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับบางกอกเจมส์แอนด์จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 62 ระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2561 ณ บริเวณบูธ GEMS TREASURE ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี รวมถึงนำไปจัดแสดงและจำหน่ายภายในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนานาชาติที่ฮ่องกง ระหว่างวันที่ 14-18 กันยายน 2561 อีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายตลาดสินค้าไทยจากชุมชนสู่ตลาดสากล ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการด้านการออกแบบด้านอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่เคยมีมาก่อน

      นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบ จึงได้จัดนิทรรศการจัดแสดงผลงานด้านการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับอย่างยิ่งใหญ่อลังการจากฝีมือของนักออกแบบในโครงการ GIT’s World Jewelry Design Awards 2018 ภายใต้หัวข้อ The Pearl of Wisdom-Illumination from under the Surface ร่วมกับการจัดแสดงผลงานการพัฒนาศักยภาพการออกแบบในภูมิภาคอีกด้วย

     อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!