- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 26 August 2018 11:03
- Hits: 5019
พาณิชย์ ยังคงเป้ายอดจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ปีนี้กว่า 8 หมื่นราย แม้ก.ค. ลดลง YoY และ MoM
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ยังคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจตลอดปี 2561 ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย แม้ยอดการจดทะเบียนธุรกิจในเดือนกรกฎาคม 2561 พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 5,964 ราย ลดลง 550 ราย เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 6,514 ราย หรือคิดเป็น 8% และเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 ลดลง 15 ราย จากจำนวน 5,979 ราย หรืดคิดเป็น 0.3%
สำหรับ ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรกในเดือนกรกฎาคม 2561 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 516 ราย รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 322 ราย และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 204 ราย มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 26,354 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 24,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,765 ล้านบาท คิดเป็น 7% และเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 จำนวน 21,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 5,096 ล้านบาท คิดเป็น 24%
ส่วนธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการในเดือนกรกฎาคม 2561 มีจำนวน 1,688 ราย เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 1,392 ราย เพิ่มขึ้น 296 ราย คิดเป็น 21% และเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 จำนวน 1,626 ราย เพิ่มขึ้น 62 ราย คิดเป็น 4% โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 148 ราย รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 115 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 56 ราย ส่งผลให้ ณ วันที่ 31 ก.ค.61 มีธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ 706,192 ราย มูลค่าทุน 17.85 ล้านล้านบาท
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- ก.ค.61) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 43,512 ราย เพิ่มขึ้น 1,591 ราย คิดเป็น 4% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.60) จำนวน 41,921 ราย ซึ่งมีทิศทางสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจากภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนถึงการวางแนวทางในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ต่อไป
และจากการที่กรมฯ ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยการปรับลดความยุ่งยากของขั้นตอนการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (Ease of Doing Business) โดยลดขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจโดยการรวมขั้นตอนการจองชื่อและจดทะเบียนนิติบุคคลออนไลน์เป็นขั้นตอนเดียวกัน (จากเดิมมี 2 ขั้นตอน) และลดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดที่ยื่นผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีผลใช้บังคับในวันที่ 21 เมษายน 2561 จากเดิม 5,500 - 275,000 บาท เป็น 5,500 บาทอัตราเดียว และการจดทะเบียนออนไลน์ e-Registration 3,850 บาท
นอกจากนี้ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลจะช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า SMEs ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะสามารถขอสินเชื่อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น มีวงเงินกู้สูงขึ้น ได้รับการลดหย่อนภาษี เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพิ่มโอกาสได้ลูกค้ารายใหม่ รวมถึงมีโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐมากยิ่งขึ้น
อินโฟเควสท์