- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 09 August 2018 14:08
- Hits: 2372
พาณิชย์ เจรจา CPTPP โปร่งใส เดินสายรับฟังความเห็นทั่วประเทศ
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมเดินสายทั่วประเทศ รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเรื่อง CPTPP โดยเฉพาะประเด็นที่ยังมีข้อกังวล เพื่อความรอบคอบ ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ เริ่มต้นประเดิมจัดสัมมนารับฟังความเห็นครั้งแรกในภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี และเตรียมจัดต่อเนื่องทั่วทุกภูมิภาค ก่อนรวบรวมข้อมูลเสนอรัฐบาลประกอบการตัดสินใจ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กำหนดจัดสัมมนาเรื่อง “โอกาส และความท้าทายของไทยภายใต้ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and progressive agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP)” โดยจะมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมในการเสวนา เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องผลประโยชน์ ผลกระทบ ข้อกังวล ตลอดจนแนวทางการเยียวยาหากไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยจะเริ่มจัดครั้งแรกในวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี และในเดือนกันยายน 2561 กำหนดจัดอีก 4 ครั้ง ที่เชียงใหม่ สงขลา กรุงเทพฯ และขอนแก่น
นางอรมน กล่าวว่า การสัมมนาดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ในช่วงเช้าจะเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อ “ตระหนักรู้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)” ครอบคลุมภาพรวม และสาระสำคัญของความตกลง CPTPP ตลอดจนประเด็นการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน และในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP” จะเจาะลึกรายประเด็น อาทิ เกษตร การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เพื่อเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความเห็นสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นต่อความตกลง CPTPP ในประเด็นต่างๆ
นางอรมน กล่าวเสริมว่า คาดว่าความตกลง CPTPP จะมีผลใช้บังคับในช่วงต้นปี 2562 ในระหว่างนี้ไทยจึงมีเวลาที่จะศึกษาผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน โดยกรมฯ พร้อมเปิดกว้างสำหรับทุกภาคส่วนในการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และจะนำผลการรับฟังความเห็น ตลอดจนผลการวิเคราะห์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผลการศึกษาที่กรมฯ ให้สถาบันวิจัยที่เป็นหน่วยงานภายนอกช่วยดำเนินการ มารวบรวมเป็นข้อมูลเสนอรัฐบาลประกอบการตัดสินใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ต่อไป
ทั้งนี้ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิก CPTPP ได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี ปัจจุบัน สมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ คาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับต้นปี 2562
พาณิชย์ จับมือแคนาดา ปฏิรูปการทำงานของ WTO แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้า
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการหารือกับนายโจนาธาน ฟรีด ผู้แทนนายกรัฐมนตรีแคนาดา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 ว่า นอกจากการหารือเรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและแคนาดาแล้ว ยังได้หารือเรื่องข้อกังวลต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นในระบบการค้าพหุภาคี ที่ปัจจุบันการเจรจารอบโดฮาขององค์การการค้าโลก (WTO) ไม่คืบหน้า ขณะเดียวกัน เริ่มมีสมาชิก WTO บางประเทศหันมาใช้มาตรการทางการค้าฝ่ายเดียวมากขึ้น ถือเป็นการลดทอนความสำคัญของ WTO ลง จึงเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อรักษาบทบาทความสำคัญของ WTO ในการกำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศไว้ เช่น ปรับปรุงกฎเกณฑ์การค้าของ WTO เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้า ปรับปรุงการดำเนินงานของ WTO โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส และการกำหนดให้สมาชิกแจ้งข้อมูลเมื่อมีการปรับแก้ไขกฎระเบียบให้สมาชิกอื่นได้รับทราบทันท่วงที
ตลอดจนผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาคืบหน้า ปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO ปรับปรุงขอบเขตอำนาจและการทำงานขององค์กรอุทธรณ์ของ WTO ซึ่งที่ผ่านมาอาจมีกรณีที่การตัดสินคดีขององค์กรอุทธรณ์ไปกระทบสิทธิของสมาชิก WTO ตลอดจนเร่งคัดสรรสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ของ WTO เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง 3 ใน 7 ตำแหน่งในปัจจุบัน เพื่อให้การตัดสินคดีอุทธรณ์ของ WTO เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงักลง เป็นต้น
นางสาวชุติมา กล่าวอีกว่า ไทยยังแจ้งให้แคนาดาทราบว่าไทยมีความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งแคนาดาเป็นหนึ่งใน 11 ประเทศสมาชิกก่อตั้ง โดยแคนาดาแจ้งว่าพร้อมสนับสนุนไทย และยินดีให้ข้อมูลกระบวนการดำเนินการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก CPTPP โดยปัจจุบัน แคนาดาได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อให้สัตยาบันการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ต่อรัฐสภาของแคนาดาแล้ว และคาดว่าจะสามารถยื่นสัตยาบันได้ภายในปีนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ความตกลง CPTPP มีผลใช้บังคับได้ในต้นปี 2562 โดยหากไทยประสงค์จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ก็สามารถยื่นหนังสือแสดงความจำนงเข้าร่วมได้ตั้งแต่ที่ CPTPP มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป
"นอกจากนี้ แคนาดาต้องการผลักดันให้อาเซียนเปิดการเจรจาจัดทำความตกลง FTA กับแคนาดาโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในการขยายการค้าการลงทุนระหว่างภูมิภาค โดยแคนาดาสามารถเป็นประตูเข้าสู่อเมริกาเหนือ สหภาพยุโรป และสมาชิก CPTPP ให้อาเซียนได้ ขณะที่อาเซียนก็เป็นประตูให้แคนาดาสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA อาเซียนและแคนาดา" นางสาวชุติมา กล่าว
ทั้งนี้ แคนาดาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 15 ของอาเซียน ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของแคนาดา ในปี 2559 การค้ารวมระหว่างอาเซียนกับแคนาดา มูลค่า 20.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ แคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 32 ของไทย ในปี 2560 มีมูลค่าการค้ารวม 2,217 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย) โดยไทยส่งออกไปแคนาดาเป็นมูลค่า 1,432 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 0.6 ของการส่งออกทั้งหมด) มีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และไทยนำเข้าจากแคนาดาเป็นมูลค่า 785 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 0.4 ของการนำเข้าทั้งหมด) โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
อินโฟเควสท์