- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 05 August 2018 12:41
- Hits: 1778
สภาผู้ส่งออก เผยมีลุ้นส่งออกปีนี้โตได้ถึง 9% จากเป้า 8% หวังสงครามการค้าเอื้อประโยชน์-บาทไม่ผันผวน
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออก คาดการณ์มูลค่าการส่งออกไทยในปี 61 เติบโต 8-9% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 (บวก/ลบ 0.5) บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 ส.ค. 61 – 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)
ก่อนหน้านี้ สรท.คงเป้าการส่งออกไทยในปี 61 เติบโตที่ 8% แต่ได้ปรับสมมติฐานค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ
หลังจากการส่งออกเดือนมิถุนายน 2561 มีมูลค่า 21,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 16 ที่ 8.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 694,113 ล้านบาท ขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY)
ขณะที่ การนำเข้าในเดือนมิถุนายน 2561 มีมูลค่า 20,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 652,583 ล้านบาท ขยายตัว 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนมิถุนายน 2561 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,579 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 41,530 ล้านบาท
"การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน ปี 61 ยังคงสามารถกระจายการขยายตัวได้ดีในเกือบทุกตลาดสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดหลัก, ตลาดรอง และตลาดศักยภาพ อาทิ สหภาพยุโรป(15), ญี่ปุ่น, จีน, อินเดีย และ CLMV โดยเฉพาะ ตลาดสหรัฐอเมริกา ที่มีการขยายตัวสูงสุดในประวัติการณ์ ถึงแม้ว่าจะมีแรงกดดันจากสงครามการค้าในช่วงที่ผ่านมา จากความกังวลถึงการส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน"
สำหรับ ปัจจัยบวกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยให้เติบโตได้ ประกอบไปด้วย 1) อุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะตลาดศักยภาพสูง สอดคล้องกับภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าน้อยกว่าที่คาดการณ์กันไว้
2) การขาดดุลการค้าจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบอย่างต่อเนื่องอันแสดงถึงการลงทุนของภาคการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต 3) ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออก ไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ระดับ 66.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.5 ในเดือนที่ผ่านมา แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่มีต่อภาคการส่งออกของไทย
4) การส่งออกของไทยมีแนวโน้มกระจายตลาดการส่งออกในตลาดใหม่มากขึ้น ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการค้ากับคู่ค้าหลัก 5) ผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์สงครามการค้า ที่ไทยเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าไทย ไปทดแทนกลุ่มสินค้าที่มีการดำเนินการกีดกันการค้า (โดยเฉพาะกลุ่มเหล็ก และอลูมิเนียม) ทำให้ในเดือนมิถุนายน มูลค่าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ มีการขยายตัวในระดับสูง 6) แนวโน้มทิศทางการอ่อนค่าลงของเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลาร์สหรัฐฯ เป็นการเพิ่มความความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยและเป็นการเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการไทยในรูปเงินบาท และ 7)นโยบายผลักดันการพัฒนาธุรกิจ e-Commerce ของภาครัฐ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร
ขณะที่ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 201 –Safeguard Measure ที่ส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และแผงโซลาเซล ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในภาพรวม ไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ลบกับภาคการส่งออกไทยมากนัก แต่ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยยังควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
2) ความผันผวนของตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) กลับไปยังสหรัฐฯ อันจะส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่ผู้ส่งออกไทยควรจับตามองและทำประกันความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ
3) ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางและมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ราคาน้ำมันและราคาแก็สหุงต้มปรับตัวขึ้นอาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น อีกทั้งยังกระทบต่อความสามารถในการบริโภคของอุปสงค์ภายในประเทศ อันส่งผลต่อผลกำไรของผู้ประกอบการในทางอ้อม
4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อผลิต เผชิญปัญหาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น
5) สินค้าเกษตรบางรายการยังคงเผชิญสภาวะราคาตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ล่าสุด อินโดนีเซีย ละเมิดข้อตกลงการควบคุมปริมาณการกรีดยาง ทำให้ราคาตกเพราะอุปทานล้นตลาด ประกอบกับ สินค้าทุเรียนและลำไยที่กำลังโดนมาตรการกีดกันการค้าจากอินโดนีเซีย เช่นเดียวกัน และ 6) ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์ และปัญหากฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในการส่งออก
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ภาครัฐควรสนับสนุนการหาตลาดทดแทนให้กับภาคเอกชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้า โดยเฉพาะมาตรการ 201 และ 232 เช่น การศึกษาตลาดที่มีศักยภาพนำเข้าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยผู้ประกอบการส่งออกทดแทนตลาดสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในตลาดโลก 2) ประชาสัมพันธ์เผยแพร่การสิทธิประโยชน์ ภายใต้กรอบ FTA อื่นๆ เพื่อทดแทนความเสี่ยงรายอุตสาหกรรม ที่อาจเกิดขึ้นจากประเทศที่อยู่ในสงครามการค้า ที่อาจกระทบกับการส่งออกในระยะสั้น 3) ผลักดันการเจรจาการค้าเสรีใหม่ CPTPP, RCEP, EU, Pakistan, Turkey, Bangladesh และกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างสรุปการเจรจา เพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้าในระยะยาวและเป็นการเปิดตลาดให้กับผู้ส่งออกของไทยให้มีโอกาสและการกระจายความเสี่ยงของตลาดมากยิ่งขึ้น 4) ผู้ส่งออกควรเพิ่มการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการซื้อขาย โดยกำหนด Invoicing แบบ Direct Quote เพื่อให้เกิด "Currency Diversification" เป็นการกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมิให้พึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐฯ มากจนเกินไป รวมถึงการใช้บริการป้องกันความเสี่ยงรูปแบบอื่นจากธนาคารพาณิชย์ การใช้บัญชี FCD และการเข้าร่วมโครงการ Qualified Company ของธนาคารแห่งประเทศไทย
5) ส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce B2B Cross Border ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้าและกลุ่ม SMEs / Startup นอกจากนี้ ควรติดตาม, เฝ้าระวัง และควบคุม มาตรฐานสินค้าและกลไกการกำหนดราคาสินค้าส่งออกที่อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ขายในประเทศจากธุรกิจข้ามชาติ (e-Commerce) 6) การผลักดันการเร่งเจรจาความตกลงทางการค้าในระดับนโยบาย อาทิ ข้อตกลง EU/RCEP/CPTPP และ 7) ภาครัฐควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ การเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการยกขนตู้สินค้าภายในท่าเรือแหลมฉบังและเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางและ ICD นอกท่าเรือเพื่อลดแถวคอยของรถบรรทุกภายในท่าเรือ การส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณและยกระดับตู้สินค้าเพื่อการส่งออกให้เพียงพอและคุณภาพตรงต่อความต้องการ การกำหนดให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศในส่วนของต้นทุนภายในประเทศ เป็นบริการควบคุมภายใต้ พระราชบัญญัติราคาสินค้าและบริการ พุทธศักราช 2542 การแก้ไข และปรับปรุงประกาศและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ อาทิ ประกาศตาม พรบ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และการผลักดันการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement) ที่สอดคล้องกับแนวทางตามกรอบของ WTO เพื่อช่วยส่งเสริมการค้าและการส่งออก เป็นต้น
อินโฟเควสท์
เอกชนลุ้นส่งออกปีนี้โต 9%อานิสงส์สงครามการค้าหวั่นปัจจัยเสี่ยงค่าเงิน
แนวหน้า : นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมิถุนายน 2561 มีมูลค่า 21,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 16 ที่ 8.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 694,113 ล้านบาท ขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนมิถุนายน 2561 มีมูลค่า 20,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ปีก่อน (YoY)
"การส่งออกของไทยในเดือน มิถุนายน สามารถกระจายการขยายตัว ได้ดีในเกือบทุกตลาดสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดหลัก, ตลาดรอง และตลาดศักยภาพ โดยเฉพาะ ตลาดสหรัฐอเมริกา ที่มีการขยายตัว สูงสุดในประวัติการณ์ ถึงแม้ว่าจะมีแรงกดดันจากสงครามการค้า ในช่วงที่ผ่านมา"
สภาผู้ส่งออก ยังคงคาดการณ์ มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2561 เติบโต 8-9% บนสมมุติฐานค่าเงินบาท อยู่ที่ 33.0 (ฑ 0.5) บาทต่อเหรียญ สหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 สิงหาคม อยู่ที่ 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) และมีปัจจัยบวกสำคัญ อาทิ ผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์สงครามการค้า ที่ไทย เร่งผลักดันการส่งออกสินค้าไทย ไปทดแทนกลุ่มสินค้าที่มีการ ดำเนินการกีดกันการค้า (โดยเฉพาะ กลุ่มเหล็ก และอะลูมิเนียม) ทำให้ ในเดือนมิถุนายน มูลค่าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ มีการขยายตัว ในระดับสูง
ขณะที่ ความเสี่ยงที่อาจเป็น อุปสรรคสำคัญ อาทิ ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางและ มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ราคาน้ำมันและราคาแก๊สหุงต้ม ปรับตัวขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทที่มี แนวโน้มอ่อนค่าลงส่งผลให้ผู้ประกอบการ นำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อผลิต เผชิญปัญหา ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และปัจจัยอื่นๆ