- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 16 June 2018 17:21
- Hits: 4645
กรมเจรจาฯ เผยการค้าระหว่างไทยกับแดนปลาดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 จากอานิสงส์ FTA
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 (เดือนมกราคม-มีนาคม) อยู่ที่ 15,034.18 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ของช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 17.9 โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 6,502 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 23.4 และนำเข้าจากญี่ปุ่น 8,532 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 14.1
นางอรมน กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ FTA ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิด ไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 พบว่า การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอานิสงส์ของ FTA โดยไทยมีการส่งออกไปญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิ FTA ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 ถึง 1,776.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 84.8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิ 1,957.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 22.9 ของมูลค่าการนำเข้ารวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ญี่ปุ่น หรือ AJCEP ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 ไทยมีการใช้สิทธิเพื่อส่งออกในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม2561 มูลค่า 71.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 3.6 ของมูลค่าการส่งออกรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิ 55.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 0.6 ของมูลค่าการนำเข้ารวม
ทั้งนี้ ปัจจุบันสองประเทศอยู่ระหว่างการทบทวนความตกลง JTEPA ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสินค้าส่งออกหลักสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์ และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 และนักลงทุนอันดับหนึ่งของไทย ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย อีกทั้งญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญและจัดไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าในอาเซียนเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของไทยที่เน้นการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เพื่อให้ไทยเป็นส่วนสำคัญต่อห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ขยายไปสู่อาเซียน และห่วงโซ่การผลิตของโลกต่อไป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์