WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOCจนทรา ยมเรวตพาณิชย์ ออกไทยเทรดดอทคอมกระตุ้นตลาดออนไลน์ไทย ตั้งเป้ามูลค่าซื้อขายแตะหมื่นลบ.ภายในปี 64

      พาณิชย์ ออกไทยเทรดดอทคอมเชื่อมสู่ตลาดโลก หลัง ‘แจ๊ก หม่า’ เยือนไทยกระตุ้นตลาดการค้าออนไลน์ เล็งสร้างมูลค่าซื้อขายระดับหมื่นล้านบาทภายในปี 64

    นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ นายแจ๊ก หม่า ประธานกรรมการบริหารบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) ร่วมหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนบนพื้นที่อีอีซี ว่า นายแจ๊ก หม่า ได้มีเป้าหมายสำคัญที่จะมาช่วยผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยให้มีความสามารถแข่งขันได้มากขึ้น โดยเชื่อมสินค้าเกษตรเข้ามาสู่การค้าทางออนไลน์ ขณะที่ทางผู้ประกอบการ ก็เริ่มมีความตื่นตัวในการทำการค้าออนไลน์มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะทำผ่านเว็บไซต์ทั่วไป ซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ

   ทางสค.มีหน้าที่ ส่งเสริมและสนับสนุนในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นช่องทางตลาด การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำการค้าออนไลน์ รวมไปถึงการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เพื่อให้ SMEs และ วิสาหกิจชุมชนได้มีช่องทางการส่งออกสินค้ามากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ทางอาลีบาบาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เช่น ทุเรียนรวมถึงผลไม้ต่างๆ เพราะประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ มีการผลิตสินค้าเกษตรปริมาณมาก แต่ด้วยช่องทางการระบายสินค้าเกษตรมีอยู่จำกัดทำให้ประสบปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรอยู่บ่อยครั้ง ในส่วนนี้จึงอาจได้อาลีบาบามาช่วยดูแลเรื่องการขายปาล์ม ข้าว และยางพาราของไทยผ่านเว็บไซต์ ที-มอลล์ อย่างไรก็ตาม นอกจากสินค้าเกษตรที่ทางประเทศจีนสนใจแล้ว ยังมีอีกหลายสินค้าที่ได้รับความสนใจ เช่น หมอนยางพารา ผลิตภัณฑ์สปา อาหารแปรรูปประเภทขนมขบเคี้ยว รวมไปถึงผลิตภัณฑ์โอทอปของไทย เพราะถือเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์และได้รับความนิยมมากในประเทศจีน เป็นกระตอกย้ำว่ายังมีสินค้าอีกมากมายที่มีโอกาสเพิ่มพูนรายได้จากตลาดจีน

   นางจันทิรา กล่าวต่อว่า สำหรับกลไกการซื้อขายทางเว็บไซต์ที-มอลล์จะเลือกสินค้าที่จะนำไปขายที่ประเทศจีนผ่านเว็บไซต์ไทยเทรดดอทคอม อีมาร์เก็ตเพลส ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ของไทยที่จัดตั้งโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวมสินค้าไทยคุณภาพดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดสภาพคล่องทางการค้าอย่างมาก และสร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้าต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

   “ด้านการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพพร้อมรับมือกับการค้าขายที่ใหญ่ขึ้น ทางรัฐบาลได้มีเครื่องมือมากมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการรายย่อยหรือเกษตรกรด้านองค์ความรู้ในการทำการค้าออนไลน์ รวมไปถึงการยกระดับผู้ประกอบการทั่วไปสู่การเป็นนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าและผู้ประกอบการให้มีคุณภาพก่อนจะนำเข้าสู่ไทยเทรดดอทคอมต่อไป ทั้งนี้ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังได้จับมือกับพันธมิตรอีมาร์เก็ตเพลสอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ อเมซอน อีเบย์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขยายสินค้าไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าหลังจากที่รัฐบาลได้จับมือกับอีมาร์เก็ตเพลสอย่างอาลีบาบาและอีกหลายประเทศแล้ว จะทำให้มูลค่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท จะสามารถเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวหรือประมาณหมื่นล้านบาทภายใน 3 ปีข้างหน้าหรือในปีพ.ศ.2564” นางจันทิรา กล่าว

  ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและอาลีบาบา กรุ๊ป ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศแผนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยมีการลงนามกับกระทรวงอุตสาหกรรม 4 ด้าน ได้แก่ 1.โครงการลงทุนสร้างศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่อีอีซี เพื่อเป็นศูนย์ประมวลข้อมูลโลจิสติกส์รองรับขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน ข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และไปยังที่อื่นทั่วโลก 2.โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรรองรับการส่งเสริมธุรกิจผ่านอีคอมเมิร์ซ โดยอาลีบาบา จะร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มุ่งพัฒนากลุ่มคนที่มีศักยภาพหรือดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) โดยอาลีบาบาเสนอให้วิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา นำ Platform E-Commerce มาใช้อบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการไทย 3.โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้ประกอบการ SME และสตาร์ตอัพของไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพระดับชุมชนทั่วประเทศ 4.อาลีบาบา เตรียมร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำ Thailand Tourism Platform บนออนไลน์เชื่อมโยงข้อมูลทางการท่องเที่ยวเมืองรองและการท่องเที่ยวชุมชน คาดว่ารายได้จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเติบโต 113,400 ล้านบาท ในปี 2561 เพิ่มเป็น 186,500 ล้านบาท ในปี 2565

    สำหรับ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและส่งเสริมบุคลากรไทยในการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซ จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม SME หรือ วิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เขาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งการค้าออนไลน์ พร้อมเชื่อมโยงไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีแผนลงทุนพัฒนาศูนย์ Smart Digital Hub พร้อมแนะนำ Thai Rice Tmall Flagship Store เพื่อเปิดการซื้อ-ขายข้าวไทยผ่านเว็บไซต์ ที-มอลล์ แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ของอาลีบาบา

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

พาณิชย์ ปลื้มบริษัทจีนสนใจสั่งซื้อผลไม้ไทย-เยี่ยมชมสวน,โรงงานผลิต ช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกในอนาคต

    นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ศักยภาพผลไม้ไทยตามแผนยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจรของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีเป้าหมายในการผลักดันประเทศไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลก พร้อมกำหนดให้ตลาดจีนเป็นเป้าหมายว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ดำเนินโครงการเพื่อแนะนำผลไม้ของไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดจีนเพิ่มขึ้น โดยได้จัดกิจกรรมในหลายรูปแบบ ทั้งการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้าผลไม้ของจีน การประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยและแจกชิมผลไม้ไทยในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถขยายตลาดส่งออกผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น และทำให้ชาวจีนรู้จักผลไม้ไทยเพิ่มมากขึ้น

       ทั้งนี้ ในการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ได้เชิญตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรและผลไม้ และบริษัทโลจิสติกส์รูปแบบควบคุมอุณหภูมิที่ใหญ่ที่สุดของจีนมาเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งปรากฏว่าสามารถตกลงซื้อขายผลไม้ไทยได้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ บริษัท Shanghai Zhengming สั่งซื้อทุเรียนสด 100 ตู้ ทุเรียนแช่แข็ง 200 ตู้ จากบริษัท AJ Fruit Intertrade จำกัด, บริษัท Shanghai Agriculture Product Center สั่งซื้อมังคุด 2 ตัน เพื่อทดลองตลาดจากบริษัท Fruit Capital จำกัด และ Jiaxing Fruit Market สนใจซื้อมังคุด ทุเรียน ขนุน ลำไย โดยเน้นผลไม้แบรนด์พรีเมี่ยม

       ขณะเดียวกัน บริษัทจีนยังมีความต้องการที่จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าเยี่ยมชมบริษัทและโรงงานผลิตทุเรียนแช่แข็งและสวนเพาะปลูกทุเรียนของบริษัท AJ Fruit และบริษัท Queen Frozen Fruit ในเดือนมิ.ย.2561 ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้ขยายตลาดส่งออกผลไม้สดและแปรรูปไปจีนได้เพิ่มขึ้น

       นางจันทิรา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย ได้ดำเนินการในห้างสรรพสินค้านำเข้า City Shop สาขาเขตผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้ โดยจัดกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วน คือ การประชาสัมพันธ์ผลไม้ศักยภาพของไทย และการจัดกิจกรรมแจกชิมผลไม้ไทย พบว่า ผู้บริโภคชาวจีนตอบรับและชื่นชอบผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองและลำไย ได้รับความนิยมมากที่สุด

       ส่วนการสำรวจตลาดผลไม้ไทยในห้างดังกล่าว พบว่า มีทุเรียนหมอนทอง มังคุด ลำไย และมะม่วงจากไทยจำหน่ายเป็นจำนวนมาก และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องการแอบอ้างและปลอมปนผลไม้ประเภทเดียวกันกับผลไม้นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมังคุดและลำไยสด ซึ่งกรมฯ จะประสานทูตพาณิชย์ไทยในเซี่ยงไฮ้ เพื่อติดตามและดำเนินการแก้ไข

      สำหรับ การนำคณะเข้าพบปะหารือกับบริษัทและหน่วยงานที่มีศักยภาพทางการค้าสินค้าเกษตรและผลไม้ ได้แก่ ตลาด Shanghai Xijiao International Agricultural Product Trade ที่ตั้งขึ้นจากความร่วมมือของรัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้และบริษัท Bright Food (Group) ได้รับคำยืนยันว่า ผลไม้ไทยยังคงเป็นที่ต้องการของผู้นำเข้าจีน โดยเฉพาะทุเรียน ลำไย มังคุด รวมถึงกล้วยหอม ซึ่งจากการจัดตั้งและรวมกลุ่มของผู้ประกอบการผลไม้จันทบุรี สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บริษัทฝ่ายจีนเป็นอย่างมาก และทั้งสองฝ่ายยังได้มีการแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่อ โดยเฉพาะการประสานผ่านสมาคมทุเรียนและมังคุดจังหวัดจันทบุรีที่เป็นตัวกลางในการประสานระหว่างผู้นำเข้าฝ่ายจีนและบริษัทไทยรายอื่นๆ ในเครือข่ายต่อไป

                              อินโฟเควสท์

พาณิชย์ นำร่องภูเก็ต จัดงาน Smart Startup 2018 ยกทัพกูรูปั้นโมเดลธุรกิจยุคดิจิทัล ติดอาวุธ SME

     นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนเชิงรุกในการสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศรับมือพร้อมปรับตัวกับโลกธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

      กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจจัดงาน ‘Smart Startup 2018’ ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2561 ณ บริเวณชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต จ.ภูเก็ต และอีก 2 ครั้งที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 13-15 กรกฎาคม 2561 และ จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2561 เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และกระตุ้นแนวคิดการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจให้ก้าวสู่การเป็น Smart Enterprise รวมถึงเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายและต่อยอดทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) และสตาร์ทอัพ (Startup) ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้น

      สำหรับ กิจกรรมภายในงานจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 โซนนิทรรศการ ส่วนที่ 2 การนำเสนอธุรกิจ ซึ่งเป็นการนำเสนอบริการของธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาในการดำเนินธุรกิจในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านการบริหารจัดการ การตลาด การเงินการบัญชี การซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ การขนส่งและจัดเก็บสินค้า โดยตามประเภทธุรกิจ เช่น สินค้าไลฟ์สไตล์ ท่องเที่ยวและโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ การศึกษา อาหารและการเกษตร บริการด้านสุขภาพ

     และส่วนที่ 3 สัมมนา New Economy Dialogue โดยผู้เชี่ยวชาญที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ (Startup) สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเอสเอ็มอี (SME) ได้โดยตรง ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญที่มากด้วยประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ คุณจิรวัฒน์ กรัณย์วิทยาการ Technology Evangelist และ Google Developer Expert ด้าน Firebase คนแรกของประเทศไทย คุณขวัญชัย ห้วยลึก Co-Founder of MEHUB Group และคุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ CEO บริษัท คิว คิว จำกัด มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินธุรกิจยุคดิจิทัล

      "จังหวัดภูเก็ต เป็นหนึ่งในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันที่มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว อาทิ สนามบินนานาชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก จึงทำให้การขยายตัวด้านการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2561) มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่จำนวน 19,703 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 149,311.76 ล้านล้านบาท จากศักยภาพด้านการลงทุนจะเป็นโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ภาคธุรกิจภายในจังหวัดภูเก็ตมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าว

       อินโฟเควสท์

นายกฯ เผยแจ็ค หม่าพร้อมร่วมลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมหนุนใช้ e-Commerce ช่วย SME และภาคเกษตร

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังนายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป เข้าพบว่า ได้ร่วมหารือถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทย ไม่ใช่เพียงการดำเนินธุรกิจของกลุ่มอาลีบาบาเพียงอย่างเดียว เพราะวันนี้ประเทศไทยต้องการความช่วยเหลือในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น บุคลากร และ ระบบทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มอาลีบาบาพร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือ

     นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงความร่วมมือในด้านการพัฒนาสหกรณ์และเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้สามารถส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางอาลีบาบาพร้อมที่จะสนับสนุนสินค้าเกษตรของไทย

      นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวประเทศไทยจะไม่เสียเปรียบ แต่จะต้องพูดคุยในเรื่องผลประโยชน์ร่วมกัน

      "เรื่องผลประโยชน์ต่างๆ เป็นเรื่องที่เราได้รับ อย่าไปคิดว่า เราจะเสียเปรียบอะไรเขาเลย"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

       นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในระหว่างการหารือยังได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลผู้มีรายได้น้อย ซึ่งก่อนหน้านี้จีนก็เคยปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มการนำเข้าแทนการส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่ภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทยก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะมีบทบาทนำ ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับกลุ่มอาลีบาบา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เน้นการใช้เทคโนโลยีกับดิจิทัลเข้ามาช่วยเสริม ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่คนไทยต้องสร้างความเข้าใจ

      นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายแจ็ค หม่า จะเข้ามาช่วยในด้านการพัฒนาบุคลากร ด้วยการตั้งโรงเรียนสอนธุรกิจ สอนผู้ประกอบการรายย่อย และ SME รวมถึงการส่งเสริมการค้าขายผ่านระบบ e-Commerce ซึ่งถือเป็นการสร้างประโยชน์ร่วมกัน และ ยังมุ่งหวังจะช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยและภาคเกษตรให้สามารถเข้าสู่การค้าในระบบ e-Commerce ได้

      นอกจากนี้ ในวันนี้จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซึ่งจะครอบคลุมในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านดิจิทัล และด้านการท่องเที่ยว และสิ่งสำคัญ คือต้องเน้น การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของไทย และส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัลฮับในโครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าความร่วมมือจะเชื่อมโยงกันทั้งหมด

      ส่วนการส่งเสริมสินค้าข้าวของไทย ทางอาลีบาบาจะนำไปจำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์ของอาลีบาบา ทั้งนี้ความร่วมมือต่างๆที่ได้ตกลงร่วมกัน จะเร่งให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี

      "สัญญาว่าในปีนี้ก่อนปี 2562 เราจะทำอะไรที่มีประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย เขาบอกว่า เขาไม่ได้มุ่งหวังเรื่องธุรกิจอย่างเดียว เพราะเขามีเพียงพอแล้ว"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

       อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดถึงตัวเลขการลงทุนของกลุ่มอาลีบาบา โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจะไปพิจารณาต่อไป

นายกฯวอนอย่ากังวลอาลีบาบาผูกขาดการค้า พร้อมยืนยันรัฐบาลยึดหลักผลประโยชน์ร่วมกัน-คำนึงถึงประเทศชาติเป็นสำคัญ

        พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผูกขาดทางการค้า หลังจากที่อาลีบาบา กรุ๊ป ได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในโครงการ Smart Digital Hub พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า เข้าใจดีถึงข้อห่วงใยของนักธุรกิจและประชาชน แต่อยากให้เปิดใจกว้างมองอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะสิ่งดี ๆ ที่ไทยจะได้รับ โดยยืนยันว่ารัฐบาลยึดหลักผลประโยชน์ร่วมกัน และคำนึงถึงประเทศชาติเป็นสำคัญ

      "นายกฯ ได้กำชับให้ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติอย่างเหมาะสม โดยต้องไม่ให้กระทบต่อนักลงทุนไทย ควบคุมดูแลสินค้านำเข้าเพื่อปกป้องผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ให้โอกาสนักลงทุนรายอื่นเข้ามาแข่งขัน เพื่อสร้างความสมดุลในระบบเศรษฐกิจด้วย"

      นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ทางอาลีบาบาได้ประกาศชัดเจนว่าต้องการสร้างความสามารถให้ธุรกิจและคนรุ่นใหม่ของประเทศที่ไปลงทุนนั้นประสบความสำเร็จ โดยไม่ต้องการทำสงครามทางการค้า เพราะเชื่อมั่นในการแข่งขันเสรี ขณะนี้มีสินค้าของไทยหลายรายการที่ชาวจีนชื่นชอบมาก เช่น ข้าวหอมมะลิ ทุเรียน และผลไม้ต่าง ๆ เมื่อเข้าสู่ระบบการขายแบบอีคอมเมิร์ซ ก็ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจนขายหมดอย่างรวดเร็ว

        ที่ผ่านมาไทยเราไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ใด ๆ นับตั้งแต่การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ดังนั้น วันนี้ EEC จึงเป็นจุดขายของไทยในการดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมาแล้วอย่างเช่น จีน ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทั้งเมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย ก็ล้วนมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นกัน

       "นายกฯ แนะให้นักธุรกิจไทยปรับตัวรองรับการแข่งขัน อย่ามองว่าเป็นอุปสรรค แต่ควรมองเป็นความท้าทาย เพราะคนไทยมีศักยภาพไม่แพ้ใครในโลก โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 และเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อนำกลับไปพัฒนาธุรกิจของตนอย่างเต็มที่"

สมคิด เผย Alibaba พร้อมเป็นพันธมิตรระยะยาวกับไทย ชี้มั่นใจศักยภาพนโยบาย Thailand 4.0

      นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไทยแสดงความตั้งใจที่จะร่วมมือกับอาลีบาบาโดยทำหนังสือแสดงเจตจำนงร่วมกันเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2559 และพิธีการในวันนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการประกาศความร่วมมือดังกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีและความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยและบริษัทในเครืออาลีบาบากรุ๊ปที่มีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และผลักดันให้สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ในเวทีโลกผ่านนวัตกรรมด้านดิจิทัลต่าง ๆ ได้

       "อาลีบาบา ได้ทำการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคและตัดสินใจที่จะลงทุนสร้างดิจิทัลฮับ (Smart Digital Hub) ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในนโยบายประเทศไทย 4.0 และอนาคตที่สดใสของเศรษฐกิจไทย โดยดิจิทัลฮับที่จะสร้างขึ้นนี้ นับเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยง SMEs ไทยในทุกระดับ ทุกท้องถิ่น รวมถึงกลุ่ม OTOP และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงตลาดจีนและตลาดโลก ความร่วมมือกับอาลีบาบาที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อ SMEs และเกษตรกรของไทย ซึ่งจะขยายไปยังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ ในขณะเดียวกันยังจะเป็นแรงเสริมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยด้วย" นายสมคิด กล่าว

     นายสมคิด กล่าวว่า การเข้ามาของกลุ่มอาลีบาบาในช่วงนี้ถือว่าเหมาะสมกับจังหวะเวลา เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นช่วงขาขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะขยายตัวเกิน 4% อย่างแน่นอน ซึ่งการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยจังหวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายปรับโครงสร้าง SMEs ให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล, การปฏิรูปภาคเกษตรให้สามารถพัฒนาสินค้าไปขายในตลาดโลกได้, การสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีอนาคต

      "การเลือกกลุ่มอาลีบาบาเข้ามาไม่ใช่เพราะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ท่านประธานมี Big Heart ที่จะสร้างประโยชน์ให้สังคม ไม่ได้เน้นที่ผลกำไร ไม่ใช่แค่มีเงิน หวังจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคนี้" นายสมคิด กล่าว

      นายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา กล่าวว่า ด้วยจุดแข็งในเรื่องผู้คนและวัฒนธรรมของไทย ประกอบกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ทำให้เรามั่นใจในอนาคตและศักยภาพการเติบโตของไทย ทั้งนี้ กลุ่มอาลีบาบายืนยันที่จะเป็นพันธมิตรในระยะยาวกับประเทศไทยในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่โลกดิจิทัล

      "ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะเป็นการสร้างอนาคตร่วมกัน ไม่ใช่แค่การเข้ามาเพื่อทำธุรกิจ...ถ้าจะเข้ามาทำธุรกิจคงคุยกันไม่นานแค่เดือนเดียวก็เรียบร้อย แต่นี่ใช้เวลาวางแผนงานร่วมกันถึง 8 เดือน ซึ่งผมมีความเชื่อมั่นในประเทศไทย และให้ความมั่นใจว่าเป็นการเข้ามาลงทุนในระยะยาว เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ยั่งยืน จุดเริ่มต้นครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่อาจจะยาก แต่จะไม่ทำให้ผิดหวัง...ความร่วมมือครั้งนี้จะวิน วิน วินทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภค ทั้งภาคีเครือข่าย และทั้งอาลีบาบา" นายแจ๊ค หม่า กล่าว

      นอกจากนี้ ยังได้ระบุอีกว่า ต้องการผลักดันการค้าเสรี ไม่ชอบให้เกิดสงครามการค้า หรือสงครามในรูปแบบใด เพราะไม่ส่งผลดีต่อใคร เกิดแล้วจบยาก การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะไม่ได้เป็นการผูกขาด แต่ต้องการช่วยผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีความเชื่อมั่นในเรื่องของเทคโนโลยีเหมือนกันให้สามารถแข่งขันได้

      ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความได้เปรียบประเทศอื่น โดยเฉพาะความพร้อมในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม วัฒนธรรม และอาหารที่อร่อย นอกจากนี้ยังชื่นชมอุปนิสัยใจคอของคนไทยที่มีรอยยิ้มให้กับทุกคน

      "ผมจะนำทรัพยากรที่สร้างสมมา 19 ปีมาทำประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ โดยไม่ได้คิดที่จะไปแข่งขันกับใคร ความร่วมมือครั้งนี้ไม่ได้ต้องการอภิสิทธิ์ใดๆ" นายแจ๊ค หม่า กล่าว

       สำหรับ ความร่วมมือในโครงการหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ประกอบด้วย -โครงการจัดตั้งศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่อีอีซีเพื่อส่งเสริมการค้ากับจีนและกลุ่ม CLMV โครงการลงทุนจัดตั้งศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC นี้จะอาศัยเทคโนโลยีระดับโลกของอาลีบาบาในด้านการประมวลข้อมูลโลจิสติกส์ ผ่าน ไช่เหนี่ยว (Cainiao Network) ซึ่งเป็นธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของอาลีบาบา เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และไปยังที่อื่นทั่วโลก มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

        นอกจากนี้ ยังได้มีการประสานกับกรมศุลกากรในการยกระดับพิธีการทางศุลกากรให้เป็นระบบดิจิทัลด้วย ซึ่งการตั้งศูนย์ Smart Digital Hub นี้ จะเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาดิจิทัล ซึ่งสำนักงาน EEC จะเชื่อมประสาน Smart Digital Hub กับ เขตนวัตกรรมดิจิทัล หรือดิจิทัลพาร์ค (EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ด้วย

      ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถทำพิธีวางศิลาฤกษ์ในการก่อสร้าง Smart Digital Hub ได้ภายในปี พ.ศ. 2561 และคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2562 ต่อไป

       - โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย อาลีบาบาได้เสนอให้วิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) ซึ่งเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรของอาลีบาบา ที่ตั้งอยู่ที่เมืองหางโจว ร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซของ SMEs ไทยทุกกลุ่มทั่วประเทศ รวมถึง SMEs ในชุมชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อย โดยเน้นให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ ได้เรียนรู้และเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีไทยให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ และเข้าถึงตลาดจีนที่มีผู้บริโภคอยู่ไม่น้อยกว่า 500 ล้านคน รวมถึงตลาดในภูมิภาคและตลาดสากลได้ตามลำดับ (Regional and Global Value Chain) โดยอาลีบาบาจะจัดทีมงานร่วมลงพื้นที่กับทีมงานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยอาศัยเครือข่าย ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC) ในระดับภาคและจังหวัดของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานภูมิภาคของกระทรวงพาณิชย์ทั่วประเทศ

       - โครงการอบรมพัฒนาดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) นอกจากการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ผ่านอีคอมเมิร์ซแล้ว Alibaba Business School ยังจะร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการพัฒนากลุ่มคนเก่งหรือดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) ในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาหลายหลักสูตร โดยเปิดโอกาส ให้นักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐไปร่วมเข้าโครงการฝึกอบรมพัฒนาในด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งสร้างเครือข่าย (Networking) กับดาวเด่นหรือ Talents ทั่วโลกที่ประเทศจีน

      - กระทรวงพาณิชย์และอาลีบาบายังได้ร่วมกันเปิดตัว Thai Rice Flagship Store บนเว็บไซต์ Tmall.com ซึ่งเป็นเว็บซื้อขายออนไลน์ระดับโลกที่เน้นร้านค้าแบรนด์ชั้นนำหรือร้านค้าตัวแทนที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยผลักดันยอดขายผลิตผลทางการเกษตรเริ่มต้นจากข้าว และขยายผลไปถึงผลไม้ต่าง ๆ ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีนเป็นอย่างยิ่ง กระทรวงพาณิชย์และอาลีบาบาจะร่วมกันผลักดันการส่งออกข้าวไทยและผลิตผลทางการเกษตรของไทย โดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกหรือ Insight ในเรื่องตลาดผู้บริโภคที่อาลีบาบามีความเชี่ยวชาญ

         - โครงการความร่วมมือด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวดิจิทัล โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะร่วมมือกับอาลีบาบาและฟลิกกี้ (Fliggy) บริษัทด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนำของจีน ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวดิจิทัลและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวรายย่อยในไทย โดย Fliggy คู่ร่วมลงนามกับ ททท. จะใช้ประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดจัดทำ Thailand Tourism Platform ให้กับสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกในด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น คู่มือไกด์ออนไลน์ ระบบจำหน่ายตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการเจียระไนแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจซึ่งเปรียบเสมือนอัญมณีที่ถูกซ่อนเร้นให้ส่องประกายเตะตานักท่องเที่ยวชาวจีน

     ทั้งนี้ Fliggy และ Ant Financial ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการระบบขำระเงิน Alipay ในเครือของอาลีบาบาอยู่ในระหว่างการเจรจากับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลแบบครบวงจรต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่กระบวนการทางวีซ่า บริการหลังเดินทางแบบดิจิทัล ด้วยการคืนเงินภาษีนักท่องเที่ยวผ่านระบบ Alipay ซึ่งความร่วมมือกันในด้านการท่องเที่ยวนี้ คาดว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน และยังช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยได้มากยิ่งขึ้น

        ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันพระจอมเกล้าลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การเข้ามาลงทุนของกลุ่มอาลีบาบาจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและตื่นตัวที่จะเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรสาขานี้อย่างมาก

       "การเข้ามาของอาลีบาบาจะเป็นประโยชน์มหาศาล สร้างแรงบันดาลใจเรื่องการศึกษา เพราะเราขาดแคลนบุคลากรสาขานี้อย่างมาก เด็กที่จบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์แต่ละปีมีน้อย และไปทำงานเป็นดปรแกรมเมอร์ไม่ถึง 10%" นายสุชัชวีร์ กล่าว

      สิ่งที่อยากให้รัฐบาลพิจารณาเร่งด่วนคือการผลิตบุคลากร เพราะนักเรียนสาขาอาชีวะศึกษามีสัดส่วนเพียง 30% และไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ สิ่งที่เรียนมาไม่สามารถตอบสนองต่อตลาดแรงงานในปัจจุบันได้

          "อยากให้มาช่วยพัฒนาหลักสูตรด้านดิจิทัลมีเดีย เพื่อจะได้ไปช่วยยกระดับ SME" นายสุชัชวีร์ กล่าว

         อินโฟเควสท์

ก.อุตฯ จับมือ แจ็ค หม่า ลงนาม MOU ดันเอสเอ็มอีไทยลงตลาดอีคอมเมิร์ซ

    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารกลุ่มอาลีบาบา และนายลวี่ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยกับบริษัทในเครืออาลีบาบากรุ้ป เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยมี นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นเกียรติ ณ โรงแรมแบ็งค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค

       การลงนามความร่วมมือบันทึกความเข้าใจ 4 ฉบับ ที่หน่วยงานภาครัฐของไทยลงนามร่วมกับบริษัทเครืออาลีบาบากรุ้ป ได้แก่

               1. ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่าง สำนักงาน อีอีซีและ Alibaba.com Singapore E-Commerce Private Limited

               2. ความร่วมมือด้านการลงทุนในศูนย์สมาร์ท ดิจิทัล ฮับ ในพื้นที่ อีอีซี ระหว่างสำนักงานอีอีซี กรมศุลกากร และบริษัท Cainao Smart Logistics Network Hong Kong Limited

               3. ความร่วมมือด้านการพัฒนาเอสเอ็มอีและบุคลากรในด้านดิจิทัล และการส่งเสริมธุรกิจผ่านอีคอมเมิร์ซ ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ Alibaba Business School

               4. ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัท Zhejiang Fliggy Network Technology Company Limited

       ภายในงาน ยังมีการเปิดตัว Thai Rice Flagship Store บนเว็บไซต์ Tmall.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ระดับโลกที่เน้นร้านค้าแบรนด์ชั้นนำหรือร้านค้าตัวแทนที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยผลักดันยอดขายผลิตผลทางการเกษตรเริ่มต้นจากข้าวและขยายไปยังผลไม้อื่นๆของไทย ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และอาลีบาบา

      ทั้งนี้ ในช่วงเช้า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหาร Alibaba Group เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยถึงโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและส่งเสริมบุคลากรในด้านธุรกิจดิจิทัล รวมถึงการจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!