- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 11 September 2014 12:19
- Hits: 2544
พาณิชย์ เผยฟิลิปปินส์กำลังก้าวเป็นผู้นำด้านบริการธุรกิจผ่านระบบ IT ในตลาดโลก แนะไทยใช้ BPO โมเดลในการพัฒนาธุรกิจ
ฟิลิปปินส์ กำลังจะก้าวเป็นผู้นำในธุรกิจบริการผ่านสื่อ IT หรือ Business Process Outsourcing (BPO) ของโลก ส่งผลให้ฟิลิปปินส์ได้รับความสนใจจากบริษัทข้ามชาติที่กำลังมองหาแหล่งลงทุนที่มีต้นทุนต่ำ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แนะไทยใช้ BPO โมเดลในการพัฒนาธุรกิจบริการในอนาคตและผู้ส่งออกควรเจาะตลาดเมือง IT สำคัญของฟิลิปปินส์ที่มีกำลังซื้อสูง
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันฟิลิปปินส์ มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเฉลี่ย 7.4% ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคบริการ(60% ของ GDP) โดยภาคบริการที่เป็นดาวเด่น คือ การธุรกิจบริการผ่าน BPO ( เช่น Call Center และการพัฒนา Software) ส่งผลให้ฟิลิปปินส์กำลังเบียดแซงอินเดียเพื่อก้าวเป็นผู้นำธุรกิจบริการผ่าน BPO ซึ่งระบบดังกล่าวนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ ด้วยอัตราขยายตัว 15 % ต่อปี โดยปัจจัยความสำเร็จของ BPO ในฟิลิปปินส์ที่สำคัญ คือ ค่าจ้างแรงงานราคาถูก มีทักษะ มีการศึกษาสูงและมีความคิดสร้างสรรค์ ประกอบกับการสนับสนุนของรัฐบาล โดยจัดให้ธุรกิจ BPO อยู่ในแผนส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญอันดับต้นๆ ทำให้สามารถดึงดูดบริษัทข้ามชาติ ให้เข้ามาลงทุนในฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น
ประเทศไทยอาจพิจารณานำฟิลิปปินส์ BPO โมเดล มาปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจบริการต่างๆ ที่ไทย มีความพร้อมสูง เช่น งานด้าน Call Center การบริหารข้อมูลทางการแพทย์ โลจิสติกส์ การพัฒนาซอฟท์แวร์และแอนิเมชั่น การรักษาพยาบาล การท่องเที่ยว และการศึกษา เป็นต้น ควบคู่กับการพัฒนาทักษะ ด้านภาษาอังกฤษเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ธุรกิจบริการผ่าน BPO ไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
นางอัมพวัน พิชาลัย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การเติบโตของธุรกิจ BPO ยังก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อใน 7 เมือง IT ชั้นนำของฟิลิปปินส์ ได้แก่ กรุงมะนิลา ซีบู ดาเวา ซานตาโรซา (ลากูน่า) บาโคโล๊ต อิโลอิโล่ และบาเกียว ซึ่งมีห้างขนาดใหญ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จะเป็นโอกาสที่ดีแก่ผู้ส่งออกไทยในการเจาะตลาดในเมืองดังกล่าว โดยสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องปรุงรสอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค ยานยนต์ และชิ้นส่วน (โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์และอะไหล่) วัสดุก่อสร้าง/เครื่องประดับและตกแต่งบ้าน และเสื้อผ้า/ผ้าผืน เป็นต้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย