WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC นนทวลย ศกนตนาคไทยจับมือโมซัมบิก ขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจรอบด้าน

     นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทย อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งภาคเอกชน เดินทางเยือนสาธารณรัฐโมซัมบิกอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย – โมซัมบิก ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20-23 พฤษภาคม 2561 ณ กรุงมาปูโต สาธารณรัฐโมซัมบิก เพื่อหารือแนวทางขยายการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับโมซัมบิก พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน

        นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นความสำคัญของการอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน และจะพิจารณาจัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaty: BIT) และความตกลงเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Tax Agreement: DTA) นอกจากนี้ ปัจจุบัน โมซัมบิกมีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และได้เผยแพร่ข้อมูลกฎระเบียบส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจในโมซัมบิกเป็นภาษาอังกฤษแล้ว อีกทั้งโมซัมบิกไม่มีการจำกัดการโอนเงินออกจากประเทศสำหรับการชำระค่าสินค้านำเข้า หรือการโอนเงินของนักลงทุนต่างชาติ จึงเอื้อต่อการเข้าไปลงทุนของไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ อัญมณี พลังงาน การประมง การเกษตร และการท่องเที่ยว ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ไทย – โมซัมบิก (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 1 พร้อมทั้งเชิญโมซัมบิกเข้าร่วมงาน Bangkok Gems & Jewelry Fairs ในช่วงต้นปี 2562

นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้นำภาคเอกชนไทยเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีของโมซัมบิก

       ซึ่งนายกรัฐมนตรีโมซัมบิกได้ขอบคุณรัฐบาลไทยที่บริจาคข้าวให้แก่โมซัมบิก จำนวน 1,000 ตัน โดยข้าวดังกล่าวส่งถึงโมซัมบิกแล้ว เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 นอกจากนี้ ได้แสดงความสนใจที่จะให้ภาคเอกชนของไทยเข้ามาลงทุนในโมซัมบิก โดยเฉพาะในด้านการเกษตรและประมง และยินดีที่จะจัดสรรพื้นที่ของรัฐที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชนไทยที่สนใจลงทุนในโมซัมบิกต่อไป ขณะที่ ภาคเอกชนไทยก็แสดงความสนใจที่จะลงทุนในด้านต่างๆ รวมทั้งการปลูกป่าเพื่ออุตสาหกรรมกระดาษ นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยเข้าเยี่ยมชมเหมืองของบริษัท Mustang Resources ที่ได้สัมปทานในจังหวัด Cabo Delgado ทั้งนี้ ทับทิมกว่าร้อยละ 60 ของการค้าทับทิมในตลาดโลกมาจากประเทศโมซัมบิก และจากการพบหารือกับผู้แทนบริษัท Mustang Resources ทราบว่าบริษัทฯ จะนำทับทิมจากเหมืองของบริษัทมาประมูลในไทยช่วงต้นปี 2562

        ในปี 2560 โมซัมบิกเป็นคู่ค้าอันดับที่ 75 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 11 ในภูมิภาคแอฟริกา การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 219.84 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.9 จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกมูลค่า 204.05 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อย 37.8 จากปีก่อนหน้า และนำเข้ามูลค่า 15.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.3 จากปีก่อนหน้า โมซัมบิกยังเป็นประเทศที่ไทยลงทุนเป็นมูลค่าสูงที่สุดในทวีปแอฟริกา โดยปัจจุบัน ไทยลงทุนในโมซัมบิกมูลค่ากว่า 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสาขาสำคัญ อาทิ พลังงาน การก่อสร้าง โรงแรมและการท่องเที่ยว

      สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปโมซัมบิก ได้แก่ ข้าว เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ปูนซิเมนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผ้าผืน ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากโมซัมบิก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่

พาณิชย์ เผยฮังการีสนใจลงทุนใน EEC พร้อมหนุน FTA ไทย-อียู

           นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยผลหารือกับนายซิลเวสเตอร์ บุช รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี ในโอกาสที่เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงาน THAIFEX 2018 โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งหารือถึงแนวทางการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-ฮังการี

      ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ฮังการีมีความคล้ายคลึงกับไทยในเรื่องที่ตั้งของประเทศที่อยู่ใจกลางภูมิภาค และมีนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยภาคการผลิตเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเช่นเดียวกันกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งนายซิลเวสเตอร์ บุช ได้เชิญชวนผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในฮังการี พร้อมทั้งสนใจจะมาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยในสาขาที่ฮังการีมีความเชี่ยวชาญ อาทิ การแพทย์ การบริหารจัดการน้ำเสีย และปิโตรเคมี และเน้นย้ำว่า ไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น ตลอดจนน่าลงทุนเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค ซึ่งฮังการีประสงค์จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ฝ่ายฮังการีสนับสนุนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรปอย่างเต็มที่ และเร่งกระชับความสัมพันธ์กับไทยในทุกมิติ

     ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการไทยไปแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนในฮังการีซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของฮังการีเป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรปกลาง โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฮังการีประจำประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะดำเนินการร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนของไทยและฮังการีมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาคเอกชนคือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนให้ขยายตัวอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้แสดงความยินดีที่มีบริษัทส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ของฮังการีเข้าร่วมจัดคูหาแสดงสินค้าในงาน THAIFEX เพื่อแสวงหาหุ้นส่วนทางธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยในครั้งนี้ ทั้งนี้ฝ่ายฮังการีมีความประสงค์จะเปิดตลาดตับห่าน ไวน์ และผลิตภัณฑ์จากหมูพันธุ์พิเศษกับไทยในอนาคตด้วย

      ในปี 2560 การค้าไทย-ฮังการีมีมูลค่า 578.44 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปมูลค่า 425.2 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก๊อก วาล์ว และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ การนำเข้ามีมูลค่า 153 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม การลงทุนไทยในฮังการี ปี 2559 ไทยลงทุนในฮังการีมูลค่า 11.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสาขาอาหาร การลงทุนของฮังการีในไทยไม่มาก มีการลงทุนจากฮังการีที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี 2559 จำนวน 1 โครงการ มูลค่า 7.95 แสนเหรียญสหรัฐ เป็นการขยายการลงทุนของบริษัทผลิตสายไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ฮังการีตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคยุโรปจึงเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญของยุโรปกลางและตะวันออก มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเป็นผู้ผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่สำคัญของภูมิภาคยุโรปกลาง และเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญ

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!