- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 06 June 2018 16:26
- Hits: 1358
สภาผู้ส่งออก คงเป้าส่งออกปีนี้โต 8% แม้เม.ย.ขยายตัว 12.3% จับตาค่าเงินบาท-สงครามการค้า-ราคาน้ำมันใกล้ชิด
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออก ยังคงคาดการณ์มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2561 เติบโตเท่ากับ 8% แม้การส่งออกในเดือนเม.ย. ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 14 ที่ระดับ 12.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า ขยายตัว 20.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,283 ล้านดอลลาร์
"การส่งออกของไทยในเดือน เม.ย.61สูงเป็นลำดับที่สองในกลุ่มอาเซียน แซงหน้าประเทศเวียดนาม เนื่องจากปัจจัยที่พื้นฐานเศรษฐกิจของทั้งประเทศคู่ค้าหลักและรองยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดดยการส่งออกของไทยสามารถกระจายการขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ" น.ส.กัณญภัค กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่า การส่งออกในช่วงไตรมาส 2/61 จะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% จากช่วงไตรมาส 1/61 สามารถเติบโตได้ 11% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากกลุ่มยานยนต์ กลุ่มอาหาร กลุ่มสินค้าเกษตร และกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นสัดส่วนการส่งออกหลักของประเทศมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลดีจากภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าต่างๆ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม มองว่า ประเด็นที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไทย ประกอบด้วย 1) ความผันผวนของค่าเงินบาท โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากแรงเทขายเพื่อเก็งกำไรค่าเงินในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัวและผันผวนในกรอบ 31.90-32.20
ขณะที่สภาผู้ส่งออก ยังคงสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 31.5 (± 0.5) บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคาร ณ วันที่ 4 มิ.ย. 2561 เท่ากับ 32.013 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) ดังนั้นผู้ส่งออกควรติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและควรทำประกันความเสี่ยงป้องกันความผันผวนจากค่าเงิน
2) แม้ว่าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ (Trade War) มีแนวโน้มคลี่คลายลง หากแต่ทั้งสองต่างตกลงที่จะนำเข้าสินค้าจากฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเพื่อเป็นการลดการขาดดุลทางการค้า เป็นผลกระทบทางอ้อมที่จีนหรือสหรัฐฯ จะนำเข้าสินค้าจากไทยน้อยลงในฐานะห่วงโซ่อุปทาน
3) ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางและมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ราคาน้ำมันและราคาก๊าซหุงต้มปรับตัวขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น อีกทั้งยังกระทบต่อความสามารถในการบริโภคของอุปสงค์ภายในประเทศ อันส่งผลต่อผลกำไรของผู้ประกอบการในทางอ้อม
4) มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศต่างๆ อาทิ กลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันการนำเข้ารถยนต์จากเวียดนาม ซึ่ง อาจทำให้ภาคการส่งออกของไทยสะดุดลงได้ กอปรกับล่าสุด EU อาจมีการยื่นฟ้อง WTO ในกรณีการขึ้นภาษีเหล็ก และเหล็กกล้าที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการค้าโลกสามารถสะดุดลงได้ และ 5) สถานการณ์ในอิตาลี ทั้งด้านการเมือง ความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะในปริมาณมาก และการรักษาสมาชิกภาพในฐานะประเทศผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ สภาผู้ส่งออกมีข้อเสนอแนะสำคัญไปยังรัฐบาล คือ ภาครัฐควรส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce ให้ครอบคลุมสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตามฤดูกาลมากขึ้น หลังจากสามารถเพิ่มยอดขายและราคาให้ข้าวและทุเรียนได้ ทั้งนี้ ควรติดตาม เฝ้าระวังและควบคุม มาตรฐานสินค้าและกลไกการกำหนดราคาสินค้าส่งออกจากการทำธุรกิจ e-Commerce ที่อาจส่งผลต่อราคาสินค้าในประเทศ รวมถึงต้องมีการส่งเสริมพัฒนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการในระบบ B2B Cross Border e-Commerce ทั้งภาคการผลิตและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ให้ปรับตัวและเพิ่มยอดขายมากขึ้น
ภาครัฐควรเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจส่งผลมาจากการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพื่อปรับดุลการค้า โดยใช้โอกาสหาช่องทางดันผลักดันการส่งออกสินค้าไทยเข้าไปทดแทนในตลาดคู่ค้าหลักทั้งสองประเทศ และหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนปริมาณการส่งออกที่อาจลดลงจากการตกลงที่จะนำเข้าจากฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นของทั้งสองประเทศ
ภาครัฐควรติดตามมาตรการกีดกันทางการค้า ในรูปแบบต่างๆ พร้อมทั้งหารือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือรวมถึงให้คำปรึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงของสหรัฐฯ ต่อประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ เป็นต้น และเผยแพร่สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะสามารถใช้ได้จากข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อีกทั้ง สนับสนุนให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเร่งเจรจาการค้าเสรีและกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจทั้งระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคี โดยเฉพาะการรวมตัวของกลุ่มเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ CPTPP, RCEP และ Thai-EU เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้าในระยะยาว และเป็นการเปิดตลาดให้กับผู้ส่งออกของไทยให้มีโอกาสและการกระจายความเสี่ยงของตลาดมากยิ่งขึ้น
และภาครัฐควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการยกขนตู้สินค้าภายในท่าเรือแหลมฉบังและเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางและ ICD นอกท่าเรือเพื่อลดแถวคอยของรถบรรทุกภายในท่าเรือ ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ เพื่อเพิ่มปริมาณและยกระดับตู้สินค้าเพื่อการส่งออกให้เพียงพอและคุณภาพตรงต่อความต้องการ แก้ไขประกาศและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ ก หนดให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องเป็นบริการควบคุมภายใต้ พระราชบัญญัติราคาสินค้าและบริการ พุทธศักราช 2542 เป็นต้น
อินโฟเควสท์