WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แบะท่ายืมงบอีก 2 หมื่นล.'ยรรยง' รอเคาะวันเลือกตั้งหวังจ่ายหนี้จำนำข้าว

      บ้านเมือง : นายยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เตรียมเสนอให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ให้เสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณากรอบการขอกู้เงินเพิ่มเติมจากกระทรวงการคลังเพื่อนำไปชำระค่าข้าวให้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำนาปี 2556/57 ซึ่งยังเหลือวงเงินที่ต้องชำระอีก ประมาณ 70,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่กระทรวงพาณิชย์สามารถคืนเงินยืมจากงบกลางจำนวน 20,000 ล้านบาท เรียบร้อยแล้วสำหรับวงเงินที่จะขอกู้เพิ่มเบื้องต้น พิจารณาภายในกรอบการวันเลือกตั้งเดิม ในวันที่ 20 ก.ค.57 หรือรัฐบาลจะมีเวลารักษาการอีกประมาณ 3 เดือน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่รัฐสามารถระบายข้าวและนำเงินมาคืนคลังได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องรักษาการเป็นเวลานานออกไปอีกก็จะพิจารณาในการกู้ยืมมากกว่า 20,000 ล้านบาทก็ได้

     ส่วนแผนระบายข้าวของรัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งช่องทางการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปและการระบายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า รวมถึงการเจรจาช่องทางอื่นๆ ทั้งแบบรัฐต่อรัฐและแบบให้เอกชนนำคำสั่งซื้อต่างประเทศมาขอซื้อกับกรมการค้าต่างประเทศโดยตรง

      อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าทุกวิธีทางไม่ได้ทำให้ราคาข้าวในประเทศตกลง เพราะการระบายทุกครั้งจะอ้างอิงราคาตลาด  อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์พยายามเร่งระบายข้าวในสต๊อกผ่านการเปิดประมูลทั่วไป ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท) หรือการเจรจาขายช่องทางต่างๆ จนสามารถหาเงินคืนและชดเชยเงินให้กับเกษตรกรได้บางส่วน ดังนั้น ขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และการระบายข้าวแต่ละช่องทางไม่ได้ทำให้ราคาข้าวลดลงตามที่มีหลายฝ่ายออกมาพูดกัน ซึ่งจะเห็นว่าการเปิดประมูลข้าว เอกชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจยื่นซองประมูลและเป็นราคาตลาด และจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ เชื่อว่าราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้น แม้ผลผลิตฤดูกาลใหม่มีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมากว่า 2 ล้านตัน

    ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตัวแทนชาวสวนยาง ได้เตรียมเอกสารเพื่อยื่นฟ้องฉุกเฉินต่อศาลปกครองเพื่อระงับการขายยางในสต๊อกในวันที่ 16 พ.ค.57 เนื่องจากสร้างความหวั่นไหวต่อเสถียรภาพราคายางในประเทศทำให้ดำดิ่งลงซ้ำเติมเกษตรกรชาวสวนยาง แนะให้รัฐบาลนำยางออกไปนอกระบบสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำไปสร้างถนนหรือให้ประโยชน์ภายในประเทศ

    ทั้งนี้ จากการที่บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ IRCO ที่ผู้บริหารได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ต่างประเทศเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2557 ส่งผลให้ในวันต่อมา 21 เมษายน ราคายางลดลงทันที 3 บาทต่อ กก. และลดลงอย่างต่อเนื่อง 2.42 บาทต่อ กก. และ 0.46 บาทต่อ กก. ในวันที่ 22-23 เมษายน ตามลำดับ และราคาลดต่ำลงอีกอย่างต่อเนื่องเมื่อนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประชุมคณะกรรมการองค์การสวนยาง เมื่อวันที่ 2 พ.ค.57 มีมติให้ตั้งกรรมการขายยางในสต๊อก 2.1 แสนตัน จึงส่งผลให้ตลาดยางดิ่งตัวลงอีก โดยวันที่ 6 พ.ค. ราคายางลดลงกก.ละ 1.37 บาทต่อ กก. วันที่ 7 พ.ค. ลดลงอีก กก.ละ 2.63 บาทต่อ กก. วันที่ 8 ลดลง 0.43 บาทต่อ กก. จนเหลือราคา กก.ละ 57.21 บาทต่อ กก. ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่สำนักเศรษฐกิจการเกษตรกำหนดต้นทุนราคายางแผ่นดิบที่ 64.19 บาทต่อ กก. ซึ่งทำให้เกษตรกรขาดทุนในวันนั้นทันที 7.07 บาทต่อ กก.

     "เป็นความจำเป็นที่ต้องฟ้องต่อศาลเพื่อไต่สวนฉุกเฉินจริงๆ รัฐบาลคงไม่เข้าใจถึงความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังการขายยางในสต๊อกหรืออาจมีนัยสำคัญทางการเมืองจึงเร่งขายโดยไม่ฟังความเดือนร้อนรอบข้างของชาวสวนยางผู้ได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นการที่ตัวแทนคณะกรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และตัวแทนครือข่ายยางพาราแห่งประเทศไทย รวมทั้งตัวแทนชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราแห่งประเทศไทย จำกัด ต้องออกมาครั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง โดยจะเดินหน้าอย่างเต็มที่โดยจะยื่นฟ้องร้องฉุกเฉินเต่อศาลปกครองเพื่อระงับการขายยางในสต๊อกในครั้งนี้" นายอุทัย กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!