- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 08 April 2018 09:35
- Hits: 4904
พาณิชย์ เกาะติดสถานการณ์สหรัฐฯ-จีน ชี้แม้ยังไม่กระทบส่งออกไทยโดยตรง แต่ต้องจับตาสินค้าที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวถึงสถานการณ์ที่จีนระงับการลดหย่อนภาษีนำเข้าและประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 128 รายการ โดยมีผลบังคับใช้ทันทีว่า จีนมีเป้าหมายเพื่อตอบโต้การตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอลูมิเนียมตามมาตรา 232 ของสหรัฐฯ ที่มีผลเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อการค้าของจีน แต่คงจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทย
การขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ 128 รายการโดยจีนในครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยแบ่งอัตราภาษีออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ภาษีนำเข้าอัตรา 15% สำหรับ ครอบคลุมสินค้า 120 รายการ ได้แก่ ผลไม้สดและแห้ง ถั่วและอื่นๆ ไวน์ เอทานอลแปรรูป โสมจากสหรัฐฯ ท่อเหล็ก (คิดเป็นมูลค่า 1,129.50 ล้านดอลลาร์ สรอ.) และกลุ่มที่ 2 ภาษีนำเข้าอัตรา 25% ครอบคลุมสินค้า 8 รายการ ได้แก่ หมู
และผลิตภัณฑ์จากหมู อลูมิเนียมรีไซเคิลและผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม คิดเป็น (มูลค่า 1,957.63 ล้านดอลลาร์ สรอ.) โดยทางการจีนให้เหตุผลการขึ้นภาษีในครั้งนี้ว่า มาจากการเพิกเฉยต่อข้อเสนอให้มีการชดเชยการค้าตาม "ข้อตกลงในการป้องกัน (Agreement on Safeguard)" เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา โดยจีนได้ยื่นรายชื่อรายการสินค้าที่ถูกระงับการลดหย่อนภาษี พร้อมประกาศอัตราภาษีนำเข้าต่อสินค้าดังกล่าวต่อ องค์การการค้าโลก (WTO) ไปเล้วเมื่อวันที่ 29 มี.ค. เพื่อรักษาผลประโยชน์และชดเชยความเสียหายทางการค้าของจีนจากมาตรการ 232 ของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้เรียกร้องและหวังให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการที่ละเมิดกติกาขององค์การการค้าโลกโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเริ่มการเจรจาระหว่างกันเพื่อให้การค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
"สนค. มองว่า มาตรการของจีนในครั้งนี้ เป็นการโต้ตอบกันระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ 2 อันดับแรกของโลก จึงไม่เกี่ยวกับประเทศไทย แต่แน่นอนว่าคงจะกระเทือนต่อเสถียรภาพทางการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการวิเคราะห์เห็นว่า ในชั้นนี้ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อไทย แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังหากทั้งสองประเทศมีมาตรการในสินค้าอื่นๆ ที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ
สนค. มีข้อสังเกตว่า ขณะนี้ต่างฝ่ายต่างพยายามใช้มาตรการกับสินค้าที่เป็นจุดแข็งหรือฐานเสียงของอีกฝ่าย เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเทคโนโลยีของจีน และสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งหากมีแรงกดดันจากในประเทศ ก็อาจจะทำให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มกระบวนการเจรจากันเร็วขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ สนค. จะติดตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของทางการสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดก่อนถึงกำหนดที่สหรัฐฯ จะประกาศความชัดเจนกำหนดรายการสินค้าที่จะขึ้นภาษีตามมาตรา 301 ในวันที่ 13 เมษายน (กำหนดการเบื้องต้น)
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกในสินค้า 128 รายการ คิดเป็นการส่งออกไปจีนประมาณ 11.18% ของมูลค่าที่สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าดังกล่าวไปโลก โดยมีสินค้าสำคัญ 5 อันดับแรกที่สหรัฐฯ มีการพึ่งพาตลาดจีนค่อนข้างมาก ได้แก่ อลูมิเนียมรีไซเคิล, องุ่น, โสมสหรัฐฯ, เครื่องในแช่แข็ง และผลไม้-ถั่วอบแห้ง
อินโฟเควสท์