WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC พมพชนก วอนขอพรพาณิชย์ เผยส่งออก ก.พ. ขยายตัว 10.3% นำเข้าโต 16% เกินดุลการค้า 807 ล้านเหรียญฯ

     กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ก.พ. 61 โดยการส่งออก มีมูลค่า 20,365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.3% จากตลาดคาดว่าจะขยายตัวราว 9.25% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 19,557 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 16% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 807 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

      ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกมีมูลค่า 40,466 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.8% และ นำเข้ามีมูลค่า 39,778 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 20.1% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 688.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

      น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.พ.61 ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.3% ประกอบกับการส่งออกในรายตลาดสามารถขยายตัวได้ดีและสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในทุกตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐ เอเชียใต้ อาเซียน และ CLMV อีกทั้งยังสามารถกระจายไปสู่ตลาดศักยภาพและตลาดใหม่อื่นๆ ได้มากขึ้น เช่น ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ในขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ส่วนสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12

       อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าในเดือนก.พ.นี้ การส่งออกของไทยในรูปของเงินบาท ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบปีที่ 0.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการส่งออกเมื่อคำนวณจากดอลลาร์สหรัฐกลับมาในรูปของเงินบาทแล้วมีรายได้ลดลง แต่ยืนยันว่าในขณะนี้ภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออก และยังไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย เนื่องจากยังมีความต้องการสินค้าไทยจากตลาดโลกแม้ราคาจะปรับสูงขึ้นบ้างก็ตาม

       "เรื่องเงินบาทแข็งค่า เริ่มส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกไทยในรูปของเงินบาทให้ลดลงไปบ้าง แต่ยังไม่กระทบความสามารถในการแข่งขันมากนัก เพราะสินค้าไทยยังมี demand สูง แม้จะมีราคาแพงขึ้น ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์จะจับตาสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร และอาหาร" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

       พร้อมยืนยันว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นยังไม่กระทบกับภาพรวมการส่งออกไทย โดยยังเชื่อว่าปีนี้การส่งออกไทยจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8% เนื่องจากการวางเป้าหมายการส่งออกของไทยจะคำนวณในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันยังไม่เห็นสัญญาณของผลกระทบจากปัญหาการกีดกันทางการค้าที่มีต่อการส่งออกของไทย ประกอบกับการค้าโลกยังสามารถเติบโตได้ดี เพียงแต่ต้องติดตามสถานการณ์การกีดกันทางการค้าอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

       อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม พร้อมขอให้ผู้ส่งออกไทยมีการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในระยะเวลาที่นานขึ้นกว่า 3 เดือน เพราะขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐว่าจะปรับขึ้นกี่ครั้งภายในปีนี้ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้ส่งออกไทยใช้สกุลเงินอื่นๆ ในการทำการค้าขายแทนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนลงด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์เองจะเร่งหาตลาดใหม่สำหรับการส่งออกสินค้าไทย เช่น ตลาดแอฟริกา ตลาดตะวันออกกลาง รวมทั้งหาสินค้าใหม่ๆ เพื่อเป็นสินค้าดาวรุ่งมาช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะยาวต่อไป

      น.ส.พิมพ์ชนก ยังคาดว่า การส่งออกของไทยในปี 61 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ 3.9% ซึ่งสนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทิศทางราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์โลก และการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามด้วย

        อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรโลกที่มีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศด้วย

                              อินโฟเควสท์

พาณิชย์ เผยส่งออก ก.พ. 61 โต 10.3% ส่วน 2 เดือนแรกของปี โต 13.8% สูงสุดในรอบ 7 ปี มั่นใจทั้งปีโต 8%

     พาณิชย์ เผยส่งออก ก.พ. 61 โต 10.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านนำเข้าโต 16% รับตลาดคู่ค้าฟื้นตัวทุกภูมิภาค ฟากดุลการค้ากลับมาเกินดุล 807.6 ล้านดอลล์ ทั้งปีมั่นใจส่งออกยังโตตามเป้าหมายที่ 8% พร้อมติดตามมาตรการกีดกันการค้า เตรียมหาแผนรับมือเงินบาทแข็งค่ากระทบรายได้ผู้ส่งออก แนะผู้ประกอบการประกันความเสี่ยง

       นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีมูลค่า 20,365 ดอลลาร์ ขยายตัว 10.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ขณะที่ 2 เดือนแรกของปี (มกราคม-กุมภาพันธ์) ส่งออกมีมูลค่า 40,467 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13.8% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี ด้านการนำเข้า กุมภาพันธ์ 2561 มีมูลค่า 19,557 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 16% ขณะที่ 2 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 39,778 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 20.1% ส่วนดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์เกินดุล 807.6 ล้านดอลลาร์ จากที่ขาดดุล 119.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนเหตุเพราะเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ 2 เดือนแรกเกินดุล 688.5 ล้านดอลลาร์

      โดยเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาการส่งออกที่ขยายตัวดีในทุกตลาด โดยเฉพาะสหรัฐ เอเชียใต้ อาเซียน และกลุ่ม CLMV นอกจากนี้ยังกระจายสู่ตลาดศักยภาพ และตลาดใหม่อื่นๆ เช่น ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ตามแนวการสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และกระชับความสัมพันธ์เชิงรุก ขณะที่สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยังขยายตัวดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยเฉพาะสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

       อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกในรูปของดอลลาร์จะยังขยายตัวสูงขึ้น แต่ในรูปของเงินบาท การส่งออกกลับชะลอลง 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจาก ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด พบว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น เริ่มส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออก ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหามาตรการดูแล และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบกับรายได้ของผู้ส่งออกในระยะต่อไป ขณะที่ผู้ประกอบการจะต้องทำประกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และอาจจำเป็นต้องทำประกันความเสี่ยงในระยะยาวขึ้น จากเดิมทำประกันความเสี่ยง 3 เดือน จะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 6 เดือนเป็นต้น

       “ตอนนี้ทีมงานได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาท รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างใกล้ชิด โดยจะรายงานทุกเดือน เนื่องจากเริ่มเห็นค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากจนกระทบรายได้ของผู้ส่งออก แต่ในด้านความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไม่ได้มีปัญหา นอกจากค่าเงินแล้ว ยังต้องติดตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ด้านผู้ประกอบการอาจต้องทำประกันความเสี่ยงนานขึ้น หรือ หันใช้เงินสกุลอื่นในการซื้อขาย ด้านกระทรวงพาณิชย์จะเร่งศึกษาและหาตลาดใหม่เพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแอฟฟริกา และตะวันออกกลาง”นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

       นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าทั้งปีการส่งออกจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 8% หรือมีมูลค่าการส่งออกที่ 215,163 ล้านดอลลาร์ โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.9% สูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย นอกจากนี้ ทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์โลก และการปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงของกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non OPEC จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตาม

      อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ ความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาความขัดแข้งทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรโลกที่มีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!