- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 03 March 2018 17:23
- Hits: 1400
กรมพัฒน์ฯ ยกเลิกปิดอากรแสตมป์ในเอกสารจดทะเบียนนิติบุคคลทุกประเภทเปลี่ยนเป็นชำระเงินสดแทน
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ยกเลิกการปิดอากรแสตมป์ในเอกสารการจดทะเบียนนิติบุคคลทุกประเภท และเปลี่ยนเป็นการชำระเงินสดแทน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจให้มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ยกเว้นการปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินการจดทะเบียนเท่านั้นที่ยังสามารถติดอากรแสตมป์หรือชำระเงินสดแทนได้เพื่อให้มีผลทางกฎหมายอย่างครบถ้วน
สืบเนื่องจากกรมฯ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจัดเก็บอากรแสตมป์แทนกรมสรรพากร สำหรับตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมสรรพากร และกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 56) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ และเสนอออกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับชำระและนำส่งเงินค่าอากรแสตมป์จากการจดทะเบียนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน เช่น การออกใบเสร็จรับเงิน การนำเงินส่งคลัง การทำรายงาน และการหักเงินค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บอากรแสตมป์ เป็นต้น
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมฯ จึงได้มีการรับชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ทั้งเอกสารจดทะเบียนนิติบุคคลที่ยื่นผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Registration และการยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านช่องทางปกติ (walk in) ดังนั้นผู้ขอจดทะเบียนจึงไม่ต้องใช้วิธีชำระค่าอากรแสตมป์โดยปิดอากรแสตมป์เป็นดวงอีกต่อไป แต่เปลี่ยนมาเป็นการชำระด้วยเงินสดแทน อย่างไรก็ตามในส่วนของหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลนั้นยังคงสามารถติดอากรแสตมป์ได้อยู่ หรือจะขอชำระเป็นเงินสดแทนก็ได้
อินโฟเควสท์
พาณิชย์ เผยยอดบริษัทเปิดใหม่ม.ค.เพิ่ม 11% นำโดยธุรกิจก่อสร้าง-อสังหาฯ ขณะที่ปิดกิจการเพิ่มขึ้น 17%
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ในส่วนของธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ในเดือนมกราคม 2561 จำนวน 6,965 ราย เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 6,305 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 660 ราย คิดเป็น 10% และเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2560 จำนวน 6,279 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 686 ราย คิดเป็น 11% โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 626 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 413 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 197 ราย คิดเป็น 3%
ด้านมูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในเดือนมกราคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 17,940 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 146,984 ล้านบาท ลดลงจำนวน 129,044 ล้านบาท คิดเป็น 88% และเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2560 จำนวน 16,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,448 ล้านบาท คิดเป็น 9% โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีจำนวน 6,843 ราย คิดเป็น 98.25% รองลงมา คือทุน 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 105 ราย คิดเป็น 1.51% และทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 17 ราย คิดเป็น 0.24% โดยมีธุรกิจที่ทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท มีจำนวน 1 ราย ได้แก่ ธุรกิจประกอบกิจการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี
ทั้งนี้ ส่งผลให้ยังมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ (ณ วันที่ 31 ม.ค.61) 685,718 ราย มูลค่าทุน 17.16 ล้านล้านบาท จำแนกเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 182,173 ราย คิดเป็น 26.57% บริษัทจำกัด 502,368 ราย คิดเป็น 73.26% และบริษัทมหาชนจำกัด 1,177 ราย คิดเป็น 0.17% โดยธุรกิจที่ยังดำเนินกิจการอยู่นี้ ส่วนใหญ่มีทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีจำนวน 604,907 ราย คิดเป็น 88% รวมมูลค่าทุน 0.98 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6% รองลงมา คือทุน 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 66,605 ราย คิดเป็น 10% รวมมูลค่าทุน 1.79 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% และทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 14,206 ราย คิดเป็น 2% รวมมูลค่าทุน 14.39 ล้านล้านบาท คิดเป็น 84%
นางกุลณี กล่าวด้วยว่า สำหรับจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือนมกราคม 2561 มีจำนวน 1,350 ราย เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 5,762 ราย ลดลง 4,412 ราย คิดเป็น 77% และเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2560 จำนวน 1,157 ราย เพิ่มขึ้น 193 ราย คิดเป็น 17% โดยประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 157 ราย คิดเป็น 12% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 91 ราย คิดเป็น 7% และธุรกิจค้าสลาก จำนวน 43 ราย คิดเป็น 3%
มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือนมกราคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,563 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 28,366 ล้านบาท ลดลง 22,803 ล้านบาท คิดเป็น 80% และเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2560 จำนวน 2,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,707 ล้านบาท คิดเป็น 95% ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีจำนวน 1,279 ราย คิดเป็น 94.74% รองลงมา คือทุน 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 63 ราย คิดเป็น 4.67% และทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 8 ราย คิดเป็น 0.59% โดยมีธุรกิจที่ทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย ได้แก่ ธุรกิจโฮลดิ้ง
อินโฟเควสท์