- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 17 February 2018 13:41
- Hits: 2024
ก.พาณิชย์ ระบุกองทุน FTA พลิกชีวิตเกษตรกร’ชาวาวี’ ดันราคาจากกิโลละ 30 บาท สูงสุดแตะ 3,000 บาท เป็นที่ต้องการในตลาดจีน
กรมการค้าต่างประเทศเผยกองทุน FTA พลิกชีวิตเกษตรกรผู้ผลิตชาวาวีสำเร็จ โชว์ผลงานช่วยเหลือ ดันราคาพุ่งจากต่ำสุดกิโลกรัมละ 30 บาท ไปถึงสูงสุด 3,000 บาท เพิ่มขึ้น 100 เท่า แถมส่งออกไปเจาะตลาดจีน ซึ่งเป็นเจ้าแห่งชาโลกได้สำเร็จ
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2561 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้เดินทางไปติดตามผลความสำเร็จของโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA) ที่ให้ได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชมผู้ผลิตชาวาวี ที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ตามนโยบายนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้เน้นการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน ผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยพบว่าหลังจากที่กองทุน FTA ได้ช่วยเหลือไปตั้งแต่ช่วงปี 2552 - 53 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มดังกล่าว มีการเติบโตมาโดยตลอด และสามารถส่งออกชาอินทรีย์ไปจำหน่ายที่ประเทศจีนได้ และยังได้รับความนิยม เป็นที่ต้องการของตลาดจีนเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่จีนเป็นผู้ผลิตชารายใหญ่ของโลก
“ก่อนที่กรมฯ จะเข้ามาช่วยเหลือด้วยเงินกองทุน FTA ราคาชาอบแห้งอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ โดยราคาชาอบแห้งในขณะนั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 - 40 บาทเท่านั้น แต่หลังจากที่กองทุน FTA ได้เข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือ ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่มีรายได้จากการปลูกและจำหน่ายชาเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปัจจุบันราคาจำหน่ายชาอบแห้งเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 10 เท่าไปจนถึง 100 เท่า จากราคาตอนเริ่มแรก แยกเป็นยอดชากิโลกรัม (กก.) ละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ยอดชาติดใบ 1 ใบ กก.ละ 2,000 - 2,500 บาท และยอดชาติดใบ 2 ใบ กก. ละประมาณ 350 - 500 บาท”นายอดุลย์กล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ยังสามารถขยายธุรกิจสร้างโรงอบใบชาด้วยเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยเครื่องจักรสำหรับอบใบชาดังกล่าวแต่ละเครื่องมีมูลค่าถึง 2 - 3 ล้านบาท และที่สำคัญชุมชนยังมีรายได้จากการจำหน่ายชาและการส่งออกชาปีละเป็นร้อยล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความช่วยเหลือจากกองทุน FTA สามารถช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ลืมตาอ้าปากและเจริญเติบโตได้อย่างคาดไม่ถึง
สำหรับ จุดเด่นที่สำคัญของชาวาวี นอกจากเป็นชาอินทรีย์แล้ว พื้นที่ดอยวาวียังเป็นแหล่งปลูกชา “อัสสัม” คุณภาพดี โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีต้นชาอัสสัมที่มีอายุมากกว่าร้อยปี และมีบางต้นที่มีอายุถึงหนึ่งพันปี แต่ที่โดดเด่นที่สุดที่พื้นที่อื่นไม่มี คือ บริเวณนี้มีน้ำใต้ดินที่เป็นน้ำแร่คุณภาพสูง ส่งผลให้ชาอัสสัมที่ผลิตได้มีคุณภาพสูงมาก จากนั้น พ่อค้าชาชาวจีนได้เก็บตัวอย่างใบชาสดและชาอบแห้งไปวิเคราะห์ถึงคุณภาพ และได้ข้อสรุปว่า ชาวาวีเป็นยอดชาที่มีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่เคยพบมา ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดจีนเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ผลของการเข้าไปช่วยเหลือของกองทุน FTA ได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกชา โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ 124 คน จากชุมชนผู้ผลิตชาคุณภาพ ปลอดภัย ดอยวาวี อำเภอแม่สรวย และสหกรณ์สวนชาดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และได้รับการรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ (Organic Thailand) จำนวน 26 ราย รวมพื้นที่ปลูก 232 ไร่ และการรับรองการผลิตพืชอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU) กลุ่มเกษตรกรจำนวน 66 ราย รวมพื้นที่ปลูกชา 2,702 ไร่
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย