- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 03 February 2018 17:53
- Hits: 925
เอกชน ห่วงส่งออกข้าวปี 61 รับผลกระทบจากบาทแข็งค่าทำรายได้วูบ จี้รัฐดูแล
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดว่า การส่งออกข้าวในปี 61 จะได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลควรดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วจนเกินไป ซึ่งระดับค่าเงินบาทที่ผู้ส่งออกข้าวแข่งขันราคากับข้าวของประเทศคู่แข่งได้ควรอยู่ที่ 33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์
"ปีนี้เป็นห่วงว่า หากเงินยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งส่งออกข้าว โดยเฉพาะเวียดนามจะส่งผลกระทบไปถึงเกษตรกรที่จะขายข้าวได้ราคาลดลง และผู้ประกอบการไทยอาจต้องซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาถูกลง เพื่อให้มีต้นทุนแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้" นายชูเกียรติ กล่าว
แม้ว่า ปี 60 การส่งออกข้าวไทยส่งออกได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.63 ล้านตัน มูลค่า 173,000 ล้านบาท แต่จากผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าเมื่อปี 60 ประมาณ 9% ทำให้รายได้จากการส่งออกข้าวเมื่อคิดเป็นเงินบาทหายไปราว 10,000 ล้านบาท
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เรื่องบาทแข็งค่า สมาคมฯได้ส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลหลายรอบให้ช่วยดูแล แต่ไม่เกิดผลอะไร หากยังแข็งค่าขึ้นอีก ผลกระทบจะตกไปอยู่กับชาวนา เพราะผู้ส่งออกจะซื้อข้าวถูกลงกว่าปกติเพื่อส่งออก เช่น 100 ดอลลาร์ได้เงินบาท 3,500 บาท แต่กลับได้ลดลง 3,100 บาท ผู้ส่งออกก็ต้องนำเงิน 3,100 บาทไปซื้อข้าวกับชาวนา
ทั้งนี้ ในปี 61 คาดว่าจะสามารถส่งออกข้าวได้ประมาณ 9.5 ล้านตัน มูลค่า 4,300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 137,000 ล้านบาท ซึ่งประเมินผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าแล้ว โดยคำนวณจากค่าเงินบาทที่ 31.50 บาท/ดอลลาร์ สำหรับปริมาณการส่งออกข้าวในปี 61 จะลดลงจากปี 60 ที่ส่งออกได้ 11.63 ล้านตัน ถือว่าสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตข้าวไทยทั้งปีอยู่ที่ 30 ล้านตันข้าวเปลือก และสต๊อกข้าวรัฐเพื่อการบริโภคหมดแล้ว
ปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้นจะส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคาข้าวของคู่แข่ง เช่น เวียดนามที่ค่าเงินไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นทุก 1 บาท จะทำให้ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้นตันละ 35 ดอลลาร์ ข้าวขาวเพิ่มขึ้นตันละ 12.5 ดอลลาร์ โดยในปี 60 เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 9% แต่เงินด่องของเวียดนามแข็งค่าขึ้นไม่ถึง 1% ทำให้ราคาส่งออกข้าวขาวของไทยแพงกว่าเวียดนามถึงตันละ 36 ดอลลาร์ และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 จนถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วอีก 3% ทำให้ราคาข้าวไทยปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกตันละ 12 ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินเวียดนามอ่อนค่าลง
อินโฟเควสท์
บาทแข็งพ่นพิษข้าวไทยแพง ผู้ส่งออกเคาะปี'61 ทำได้แค่ 9.5 ล้านตัน
แนวหน้า : นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่าค่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งอาจส่งผลให้ราคาข้าวไทยแพง ซึ่งทุกๆ 1 บาท ที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ข้าวไทยแพงขึ้นประมาณ 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ดังนั้นภาครัฐจึงควรเข้ามาควบคุมดูแลด้วย เพราะที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าคู่แข่ง โดยแข็งค่าขึ้นถึง 9% และเดือนมกราคมที่ผ่านมายังแข็งค่าขึ้นอีก 3.28% ทำให้ผู้ส่งออกต้องขายข้าวแพงขึ้น โดยราคาข้าวขาวตันละ 13,500 บาท ผู้ส่งออกขายราคา 377 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อปีที่ผ่านมา และต้องเพิ่มเป็น 429 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตันในขณะนี้ เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่เวียดนามค่าเงินขณะนี้อ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.02% ทำให้ขายข้าวราคา 338 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้แข็งค่าขึ้นโดยที่รัฐไม่มีมาตรการดูแลอาจทำให้สินค้า ส่งออกอื่นๆ ได้รับผลกระทบ จึงอยากเห็นเงินบาทมาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถ้าได้จะทำให้ไทยสามารถแข็งขันในตลาดโลกได้
อีกทั้ง ในปีนี้ไทยขาดแคลนข้าวชนิดที่เป็นที่นิยมของประเทศผู้ซื้อ เช่น ข้าวพื้นนิ่ม และขาดข้าวเก่าสำหรับป้อนตลาดแอฟริกา ขณะที่ผู้นำเข้าหลายประเทศ มีนโยบายพึ่งพาผลผลิตในประเทศ รวมทั้งยังมีมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้การส่งออกข้าวของไทยปีนี้น้อยกว่าปี 2560 ซึ่งไทยส่งออกได้ถึงกว่า 11.6 ล้านตัน มากสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 17.5% เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดียที่ส่งออกได้มากสุดถึง 12.04 ล้านตัน
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของข้าวหอมมะลิ โดยราคาข้าวหอมมะลิปรับขึ้นไปอยู่ที่ 17,000 บาทต่อตัน เนื่องจากรัฐระบายข้าวออกมาทำให้ไม่มีสต๊อกเก่ากดดันและข้าวไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่าการส่งออกข้าวในปี 2561 น่าจะทำได้ประมาณ 9.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากยังมีความต้องการข้าวไทยจากประเทศผู้นำเข้าข้าว เช่น อิหร่าน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงทางภาครัฐยังมีสัญญาการส่งมอบข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับประเทศจีนและการระบายข้าวในโกดังของรัฐเกือบหมดแล้ว ทำให้ผู้ซื้อมีการนำเข้าข้าวเพื่อเก็บสำรองมากขึ้นขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ทำให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อดีขึ้นตามไปด้วย
อนึ่งสำหรับในปี 2560 มีปริมาณการส่งออกข้าวของไทยสูงถึง 11.628 ล้านตัน เฉลี่ยเกือบ 1 ล้านตันต่อเดือนเติบโต 18% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่า 174,503 ล้านบาท เติบโต 13% โดยตลาดคู่ค้าของไทยที่สำคัญในปีที่ผ่านมาคือแอฟริกา มีปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 6.193 ล้านตัน เติบโต 20.8% เอเชีย 3.370 ล้านตัน เติบโต 5.2% และ ตะวันออกกลาง 0.777 ล้านตัน เติบโต 113.7%