- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 28 January 2018 13:39
- Hits: 14154
พาณิชย์ ตั้งเป้านำนักธุรกิจไทยบุกเมืองรองของอินเดีย-ดึงนลท.อินเดียลงทุน EEC
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำทีมกระทรวงพาณิชย์เดินทางเยือนเมืองรองสำคัญของอินเดีย 3 เมือง ได้แก่ เมืองอเมดาบัด เมืองคานธี รัฐคุชราต และเมืองลัคนาว รัฐอุตตรประเทศ ในงาน ASEAN-India Business and Investment Meet and Expo ระหว่างวันที่ 23-24 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความรู้จักระหว่างผู้บริหารระดับสูงของไทยและเมืองสำคัญดังกล่าว ในโอกาสนี้ได้พบหารือกับรองมุขมนตรี รัฐคุชราต และ รมว.อุตสาหกรรมของรัฐอุตตรประเทศ รวมถึงเยี่ยมชมโครงการ Gujarat International Financial Center (GIFT) และบริษัทนักลงทุนไทยอย่าง บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด ณ เมืองอาเมดาบัด รัฐคุชราตอีกด้วย
รัฐคุชราตถือเป็นรัฐต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดีย (Gujarat Model) ที่เน้นการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ โครงสร้างพื้นฐาน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการจัดตั้ง one stop service ด้านการลงทุน คุชราตเป็นรัฐที่มีศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เวชภัณฑ์และยา และอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเมืองสำคัญของรัฐอย่างเมืองอาเมดาบัดเป็นแหล่งผลิตยาที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเมืองสุราษยังเป็นแหล่งเจียระไนเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย นอกจากนี้ คุชราตยังมีศักยภาพในด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เนื่องจากมีชายฝั่งทะเลที่ยาวที่สุดในอินเดีย มีทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปที่ไทยมีความเชี่ยวชาญพิเศษ รวมทั้งเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าก่อสร้างและตกแต่งบ้าน เนื่องจากกุชราตอยู่ในช่วงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าสูงขึ้น พร้อมกันนี้ รัฐกุชราตได้จัดตั้ง Gujarat International Financial Tech City (GIFT) สำหรับภาคการผลิตและภาคบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการเงิน (ธนาคาร ประกันภัย ตลาดหลักทรัพย์) หวังดึงดูดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมบริการด้านการเงินและการธนาคาร เพื่อยกระดับรัฐสู่การเป็นศูนย์กลางบริการทางการเงินระดับโลก (International Financial Services Center)
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐอุตตรประเทศเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดีย ถือเป็นแหล่งเกษตรกรรมสำคัญ อาทิ ข้าวและอ้อย และยังมีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเทคโนโลยีชีวภาพ และที่สำคัญอุตตรประเทศอยู่ระหว่างการยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางด้าน IT และบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึง Business Process Outsourcing (BPO) ในภาคเหนือของอินเดีย เนื่องจากมีจำนวนแรงงานมีฝีมือมาก นอกจากนี้ รัฐอุตตรประเทศยังตั้งอยู่บนจุดตัดของระเบียงอุตสาหกรรมสำคัญของอินเดียสองสาย คือ ระเบียงอุตสาหกรรมกัลกัตตา-อัมริสสา และระเบียงอุตสาหกรรมเดลลี-มุมไบ ซึ่งรัฐบาลอินเดียกำลังให้ความสนใจในการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ตลอดเส้นทางดังกล่าว โดยรัฐบาลแห่งรัฐอุตตรประเทศได้เชิญให้นักลงทุนไทยมาร่วมลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและโลจิสติกส์ นอกจากนี้ รัฐอุตตรประเทศยังมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากมีพุทธศาสนสถานที่สำคัญอย่าง เมืองกุสินารา และเมืองสารนาถ
ในการเยือนทั้งสองรัฐ ตนเองได้ถือโอกาสเชิญชวนให้นักลงทุนอินเดียที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการบิน (aviation) การผลิตยา ซึ่งสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 มาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (EEC) ด้วย
อินโฟเควสท์