- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 01 September 2014 21:36
- Hits: 2663
กรมพัฒน์ฯ จับมือ สภาวิชาชีพบัญชีฯ เปิดให้บริการระบบออนไลน์นักบัญชีทั่วประเทศ หวัง! ผลักดันให้เกิดธุรกิจสีขาว สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ
กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตอกย้ำ! ความเป็นผู้นำด้านองค์กรอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐจับมือ สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดตัวระบบออนไลน์ e-Accountant ให้บริการนักบัญชีทั่วประเทศ แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว พร้อมดึงผู้ทำบัญชีร่วมผลักดันให้เกิดธุรกิจสีขาวแก่ภาคธุรกิจไทยทั้งระบบ สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนชาวต่างชาติ รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มรูปแบบ ในปี 2558
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานร่วมแถลงข่าว 'การเปิดตัวระบบการให้บริการออนไลน์แก่ผู้ทำบัญชี (e-Accountant)'ว่า ในวันนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์(นางสาวชุติมา บุณยประภัศร) ให้เกียรติเข้าเป็นประธานในการแถลงข่าวฯ ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพบัญชี และการอำนวยความสะดวกแก่นักบัญชี ผ่านระบบการให้บริการออนไลน์แก่ผู้ทำบัญชี หรือ e-Accountant ที่สามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (Single Point) โดยผู้ทำบัญชีสามารถใช้บริการในการแจ้งข้อมูลผู้ทำบัญชี ตามที่กฎหมายกำหนดผ่านทาง www.dbd.go.th เมนูออนไลน์ หัวข้อผู้ทำบัญชี ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
e-Accountant เป็นระบบการเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสภาวิชาชีพบัญชีฯ แบบเบ็ดเสร็จ Single Point, Single form และ Single Number เพื่อสร้างฐานข้อมูลของนักบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถลดขั้นตอนในการติดต่อกับกรมฯ และสภาวิชาชีพบัญชีฯ พร้อมทั้งลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้น้อยลง โดยระบบ e-Accountant จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ กรมฯ ได้ออกประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 โดยมีรายละเอียดสำคัญ คือ 1) การแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ทำบัญชีทางอินเทอร์เน็ตที่ www.dbd.go.th 2) แก้ไขรอบการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องของผู้ทำบัญชี (CPD) จากเดิม 27 ชั่วโมง ภายใน 3 ปี เป็น 12 ชั่วโมง ต่อปีปฏิทิน และ 3) แก้ไขจำนวนธุรกิจให้ผู้ทำบัญชีสามารถรับทำบัญชีได้ไม่เกิน 100 ราย ต่อปีปฏิทิน
กรมฯ ได้พัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีของไทยให้มีความเข้มแข็ง และโปร่งใส เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคงยั่งยืนบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล พร้อมขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีร่วมผลักดัน ภาคธุรกิจไทยให้เป็นธุรกิจสีขาวทั้งระบบ เนื่องจากเห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนความโปร่งใสให้เกิดขึ้นแก่ภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนชาวต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน ในประเทศไทย เป็นการเตรียมความพร้อมทั้งของภาคธุรกิจและผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีของไทย รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึง
ทั้งนี้ การประกอบวิชาชีพบัญชี เป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่อยู่ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) โดยมีเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกอาเซียน เปิดเสรีบริการวิชาชีพบัญชี ด้วยการอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้อย่างน้อยร้อยละ 51 และ 70 ในปี พ.ศ. 2553 และ 2558 ตามลำดับ มีการเจรจาให้ประเทศสมาชิกยกเลิกข้อจำกัด ทั้งด้านการเปิดตลาด การปฏิบัติ เยี่ยงชนชาติ และการเปิดให้บุคคลธรรมดาต่างชาติสามารถให้บริการทางด้านวิชาชีพบัญชีได้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557 นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมลงนามใน'ข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัติสาขาวิชาชีพบัญชี'(ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Accountancy Services : MRA) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศในอาเซียนในการอำนวยความสะดวกในการเข้าไปให้บริการด้านบัญชีในประเทศอาเซียนอื่น สามารถเข้าไปทำงานในประเทศอาเซียนอื่นได้สะดวกขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีของไทยได้รับผลกระทบจาก AEC ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีของไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเพื่อให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้ง ต้องพิจารณาถึงจุดแข็งที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี มีอยู่ เพื่อวางแผนพัฒนาในเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2557) ประเทศไทยมีสำนักงานบัญชีทั่วประเทศ จำนวน 5,603 สำนักงาน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 401 สำนักงาน คิดเป็นร้อยละ 7.71 ผู้ทำบัญชี จำนวน 83,619 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 5,603 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.18 และผู้สอบบัญชีอนุญาต จำนวน 11,792 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 3,034 ราย คิดเป็นร้อยละ 34.64
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย