- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 02 January 2018 20:24
- Hits: 2803
ก.เกษตรฯ ลงพื้นที่จัดทำข้อมูลปาล์มน้ำมน รณรงค์เกษตรกรตัดปาล์มสุก อาจหนุนราคาให้สูงกว่า 4.20-4.50 บ./ก.ก.
ก.เกษตร สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และข้อเท็จจริงการผลิตปาล์มให้เป็นเอกภาพ แนะเกษตรกร ควรตัดปาล์มสุก เพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน และช่วยรักษาเสถียรภาพราคา อาจหนุนให้ราคาสูงกว่า 4.20-4.50 บาท/กิโลกรัม
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยเกี่ยวกับความกังวลของเกษตรกรต่อปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2560-มกราคม 2561 ว่าขณะนี้ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น เกษตรกร สมาคมโรงสกัดน้ำมันปาล์ม และGISTDA ลงพื้นที่สำรวจผลผลิตในแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อติดตามสถานการณ์และข้อเท็จจริงของการผลิตที่ชัดเจนและได้ข้อมูลที่เป็นเอกภาพ เพื่อส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการปาล์มน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้มีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย มาตรการ ระยะสั้น มอบหมายให้กระทรวงพลังงานออกประกาศปรับสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล จาก B5 เป็น B7 ซึ่งจะมีการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 12,000 ตัน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2560 และกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในขอความร่วมมือกรมธุรกิจพลังงานให้ประสานผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ปรับสำรองไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น และให้สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มและสมาคมไบโอดีเซล รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบไม่ต่ำกว่า กิโลกรัมละ 22 บาท รวมทั้งห้างค้าส่ง-ปลีก สมัยใหม่ (Modern Trade) งดจัดรายการส่งเสริมการขายน้ำมันพืชปาล์ม
ระยะยาว ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบปี 2560–2579 ซึ่ง ครม. มีมติรับแล้วเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1) การเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันต่อไร่และการลดต้นทุนการผลิต 2) การส่งเสริมการทำปาล์มคุณภาพเพื่อเพิ่มอัตราการสกัดน้ำมันจากร้อยละ 17 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2579 และ 3) การเพิ่มช่องทางการใช้น้ำมันปาล์มให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลเป็น B10 การพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายยกกระดาษ A4 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรทั่วไปมีต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตและมูลค่าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ผลผลิตได้มาตรฐานมีตลาดรองรับสินค้าเกษตรที่แน่นอน โดยการส่งเสริมและให้ความรู้เรื่องการผลิตปาล์มน้ำมันคุณภาพ ตลอดจนเชื่อมโยงการผลิต การตลาด ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และสร้างเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่ ผู้ตัดปาล์ม ลานเท กับโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ที่จะร่วมกันยกระดับคุณภาพเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐาน เพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน โดยประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการตัดปาล์มสุก เพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ซึ่งเปอร์เซ็นต์น้ำมันทุกๆ 1 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรจะได้รับราคาเพิ่มขึ้น 0.30 บาท/กิโลกรัม โดยปัจจุบันเกษตรกรที่ตัดปาล์มคุณภาพ (ปาล์มสุก) ได้รับราคาอยู่ระหว่าง 4.20 – 4.50 บาท/กิโลกรัม ซึ่งหากเกษตรกรชาวสวนปาล์มให้ความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะส่งผลโดยตรงต่อราคาผลปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้ในราคาที่สูงขึ้น และนำไปสู่การผลิตปาล์มน้ำมันที่ได้มาตรฐานในระดับต่างๆ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
รมว.เกษตรฯ สั่งเตรียมมาตรการแก้ปมเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันช่วงผลผลิตชุก
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ สศก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น เกษตรกร สมาคมโรงสกัดน้ำมันปาล์ม และGISTDA ลงพื้นที่สำรวจผลผลิตในแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันที่สำคัญ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ย.นี้ เพื่อติดตามสถานการณ์และข้อเท็จจริงของการผลิตที่ชัดเจนและได้ข้อมูลที่เป็นเอกภาพ เพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลบริหารจัดการปาล์มน้ำมันให้เกิดเสถียรภาพในเรื่องราคา เนื่องจากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันจะมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือน ธ.ค.60-ม.ค.61
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้มีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้นที่มอบหมายให้กระทรวงพลังงานออกประกาศปรับสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลจาก B5 เป็น B7 ซึ่งจะมีการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 12,000 ตัน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.60 และให้กรมการค้าภายในขอความร่วมมือกรมธุรกิจพลังงานให้ประสานผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ปรับสำรองไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งให้สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มและสมาคมไบโอดีเซล รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 22 บาท รวมทั้งห้างค้าส่ง-ปลีก สมัยใหม่ (Modern Trade) งดจัดรายการส่งเสริมการขายน้ำมันพืชปาล์ม
ส่วนมาตรการระยะยาวให้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบปี 2560–2579 ซึ่งมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.59 เห็นชอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1) การเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันต่อไร่และการลดต้นทุนการผลิต 2) การส่งเสริมการทำปาล์มคุณภาพเพื่อเพิ่มอัตราการสกัดน้ำมันจากร้อยละ 17 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2579 และ 3) การเพิ่มช่องทางการใช้น้ำมันปาล์มให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลเป็น B10 การพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น
ขณะที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายยกระดับคุณภาพกระดาษ A4 ให้มีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรทั่วไปมีต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตและมูลค่าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ผลผลิตได้มาตรฐานมีตลาดรองรับสินค้าเกษตรที่แน่นอน โดยการส่งเสริมและให้ความรู้เรื่องการผลิตปาล์มน้ำมันคุณภาพ ตลอดจนเชื่อมโยงการผลิต การตลาด ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และสร้างเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่ ผู้ตัดปาล์ม ลานเท กับโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ที่จะร่วมกันยกระดับคุณภาพเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐาน เพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน โดยประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการตัดปาล์มสุก เพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ซึ่งเปอร์เซ็นต์น้ำมันทุกๆ 1 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรจะได้รับราคาเพิ่มขึ้น 0.30 บาท/กิโลกรัม โดยปัจจุบันเกษตรกรที่ตัดปาล์มคุณภาพ (ปาล์มสุก) ได้รับราคาอยู่ระหว่าง 4.20-4.50 บาท/กิโลกรัม ซึ่งหากเกษตรกรชาวสวนปาล์มให้ความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะส่งผลโดยตรงต่อราคาผลปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้ในราคาที่สูงขึ้น และนำไปสู่การผลิตปาล์มน้ำมันที่ได้มาตรฐานในระดับต่างๆ
อินโฟเควสท์
ครม.ออกกฎเหล็กป้องกันลักลอบนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม.ตรวจพิจารณาโดยด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วยแล้วดำเนินการต่อไปได้ และมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ คือ 1.ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2555
2.ให้ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2561 เป็นต้นไป
3.กำหนดให้มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองแสดงต่อกรมศุลกากรประกอบการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนี้
3.1 หนังสือรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate : P/C) ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองของประเทศผู้ผลิตหรือผู้ส่งออก โดยผู้นำเข้าต้องแสดงหนังสือรับรองต่อด่านตรวจพืชเพื่อตรวจสอบก่อนนำมาแสดงต่อกรมศุลกากร
3.2 หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O) ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองของประเทศผู้ผลิต
3.3 สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานสินค้า ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองของประเทศผู้ส่งออก ซึ่งคุณภาพสินค้าที่รับรองต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าขาออก
4.กำหนดให้มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าทางด่านตรวจพืชตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด และต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนี้
4.1 ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และต้องแจ้งการนำเข้าต่อกรมการค้าต่างประเทศหรือหน่วยงานอื่นที่กรมการค้าต่างประเทศมอบหมาย ก่อนนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกำหนด โดยนำใบแจ้งการนำเข้าดังกล่าวแสดงต่อกรมศุลกากรประกอบการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
4.2 ต้องเก็บมันสำปะหลังหรือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่นำเข้าไว้ในสถานที่เฉพาะแยกจากสถานที่เก็บมันสำปะหลังหรือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่รับซื้อภายในประเทศ
4.3 ต้องรายงานการนำเข้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกำหนด
4.4 ต้องพร้อมให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในสถานที่เก็บหรือยานพาหนะที่บรรทุกมันสำปะหลังหรือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพื่อตรวจสอบปริมาณที่นำเข้า ปริมาณที่จำหน่ายจ่ายโอน รายชื่อ และที่อยู่ของผู้รับปลายทาง รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าโดยการชักตัวอย่างในปริมาณที่สมควร ตามมาตรา 17 (1) แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558
อินโฟเควสท์