WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

RUBERสนนท นวลพรหมสกลกยท. ดึงภาครัฐ-เอกชน-สถาบันเกษตรกร MOU โครงการผลิตหมอน-ที่นอนยางพารา มูลค่าการตลาดเริ่มต้น 100 ลบ.

     นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล ในฐานะผู้จัดการหน่วยธุรกิจ BU การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา หน่วยธุรกิจ (BU) กยท. ได้จัดประชุมภายใต้ชื่อ “ใต้หล้ารวมเป็นหนึ่ง" โดยได้ร่วมกับบริษัท เลย์เท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคเอกชน และ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 42 สถาบันจากทั่วประเทศ มาหารือเพื่อสร้างความเข้าใจในเชิงการดำเนินธุรกิจแปรรูปหมอนยางพาราร่วมกัน ทั้งในเชิงการจัดกลุ่มสินค้าตามความสามารถในการผลิตและรูปลักษณ์ภายนอก การกำหนดมาตรฐานการผลิต การจัดกลุ่มทางการตลาด รวมถึงการรวบรวมชื่อสถาบันที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ

       โดยได้รับผลตอบรับในเกณฑ์ที่ดีมากจากหน่วยสถาบันฯที่เดินทางมาเข้าร่วม เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมานั้น แต่ละสถาบันได้มีการทำตลาดในช่องทางของตนเอง โดยอาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ซึ่งเมื่อโครงการนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้น สถาบันจำนวนมากจึงได้มีการตอบตกลงเข้าร่วมด้วยความเชื่อมั่นในการยางแห่งประเทศไทย และ บริษัท เลย์เท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัดและบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนอนยางพารามาอย่างยาวนาน ว่าจะสามารถขยายช่องทางการทำตลาดไปได้อย่างแพร่หลายมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

       และยังได้มีการจัดทำสัญญาความร่วมมือการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราภายใต้แบรนด์กลาง กยท. ซึ่งเกิดมาจากความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วนดังกล่าว โดยคาดว่าภายในปี 61 จะเริ่มต้นผลิตหมอนยางพาราคุณภาพเยี่ยมออกสู่ตลาดได้ราว 200,000 ใบ สร้างมูลค่าทางการตลาดรวม 100 ล้านบาท

      นายสุนันท์ กล่าวต่อว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ที่มีความพร้อมในการผลิตเข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพารา ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมหมอนและเครื่องนอนยางพารารวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆจากยางพาราอย่างครบวงจร โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละภาคส่วนมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนต่างๆ โดย หน่วยธุรกิจ BU กยท. ได้มีการดูแล สนับสนุน ส่งเสริม ให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางร่วมมือกันผลักดันให้มีการดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ รวมถึงพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์จากยางพาราตามมาตรฐานระดับสากล เพื่อเพิ่มมูลค่ายางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ โดยใช้เป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราในการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ

         “การจับมือกันระหว่าง 3 ภาคส่วนในครั้งนี้ จะเป็นเหมือนการติดปีกทางธุรกิจยางพาราให้กับเรา การบูรณาการร่วมกันทั้ง 3 ภาคส่วน จะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตที่สูงขึ้น โดยมีสถาบันเกษตรกรที่มีความสามารถในการผลิต มาร่วมกัน และทาง กยท. กับภาคเอกชน จะเจาะตลาดโดยมุ่งเน้นความต้องการของตลาดทั้งในหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน ถือเป็นการใส่เกียร์เดินหน้าธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ และเสถียรภาพอย่างยั่งยืน และมั่นคง"นายสุนันท์ กล่าว

                นายณัฐพัฒน์ นิธิอุทัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลย์เทกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคเอกชนกล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้ได้มูลค่าเพิ่มในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สนับสนุนด้านการตลาด และปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล เพื่อเพิ่มมูลค่ายางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ด้วยความเชี่ยวชาญจากการดำเนินธุรกิจแปรรูปยางพารามากว่า 40 ปี และได้มีการปูช่องทางการทำตลาดอย่างเข้มแข็งไว้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก

       นายประเสริฐ จรัญฤทธิกุล ผู้แทนจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กล่าวว่า สำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางนั้นมีหน้าที่หลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล โดยในการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ จะถือเป็นการเปิดโอกาสให้สถาบันเกษตรกรที่มีความสามารถ ได้แสดงศักยภาพของแต่ละสถาบัน ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อแสดงให้ผู้ใช้ยาง และตลาดเห็นถึงกำลังการผลิตที่มากขึ้น

ผู้ว่ากยท. ออกโรงแจง ยันบ.ร่วมทุนยางฯ ดำเนินการตามระเบียบ ปัดเอื้อประโยชน์ใคร

         นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ชี้แจงเกี่ยวกับการให้บริการตลาดกลางยางพาราของ กยท. และบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด ว่า การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบตลาดกลางฯ พ.ศ.2560 ที่มีการกำหนดราคากลาง กรอบราคาการซื้อขายยางในแต่ละวันเพื่อลดความผันผวนของราคา คล้ายระบบการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

       "หากว่าการซื้อขายมีความผันผวนกว่ากรอบราคาในแต่ละวัน ผู้จัดการตลาดสามารถปฏิบัติตามระเบียบตลาดฯ ให้ยุติการซื้อขายด้วยระบบประมูลในวันนั้น แต่ผู้นำยางเข้าประมูล ยังสามารถใช้วิธีตกลงราคา หรือ ฝากยางไว้กับตลาดกลางเพื่อประมูลต่อในวันถัดไปได้ หรือจะขายผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ของตลาดกลาง กยท.ที่ส่งมอบยางจริงภายใน 7 วัน ได้เปิดให้บริการตลอด โดยไม่ทำให้เกษตรกรผู้นำยางมาขายเสียประโยชน์ ตามข่าวแต่อย่างใด"ผู้ว่า กยท.กล่าว

        ส่วนกรณีการปิดตลาดกลางชั่วคราว เพียง 2 วันในบางตลาด เช่น ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี เนื่องจากต้องย้ายที่ทำการตลาดจากสหกรณ์สุราษฎร์ธานี จำกัด (ตลาด CO-OP) ไปที่ทำการแห่งใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของ กยท.เอง ณ ต.ขุนทะเล อ.เมือง เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงต้องมีการปรับปรุงสถานที่ให้มีความสะอาดสะดวก ต่อการให้บริการ ส่วนตลาดกลางยางพาราสงขลา ปิดชั่วคราวเนื่องจากอยู่ระหว่างซ่อมแซมอาคาร ทำให้มีพื้นที่การบริการไม่เพียงพอ ประกอบกับช่วงดังกล่าวฝนตก จึงจำเป็นต้องเร่งบริหารจัดการให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ สมาชิกของตลาดได้รับทราบแนวทางการปฏิบัติ พร้อมทั้งมีกาประชุมชี้แจงต่อสมาชิกของตลาดกลางอย่างเป็นทางการแล้ว

       สำหรับ การบริหารจัดการกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง ดำเนินการภายใต้ชื่อบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัดนั้น บจก.ร่วมทุนฯ ดำเนินการในรูปนิติบุคคลจดทะเบียนถูกต้อง การตัดสินใจเข้าซื้อยางในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการรักษาเสถียรภาพยางที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการ กยท. ซึ่งไม่มีตัวแทนจากผู้ถือหุ้นจากบริษัทผู้ส่งออก 5 ราย ดังนั้น จึงสามารถยืนยันได้ว่า ไม่มีการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ใดอย่างแน่นอน และสำหรับการจัดการรับมอบยางในแต่ละครั้ง ต้องปฏิบัติตามระเบียบของตลาดกลางยางพารา กยท. เช่นเดียวกันกับผู้ซื้อรายอื่นๆ คือ ต้องขนย้าย และจัดหาสถานที่เก็บภายนอกโดยเร็ว

        ปัจจุบัน บจก.ร่วมทุนฯ ได้รับมอบยางและขนย้ายยางจากทุกตลาดตามเงื่อนไขทุกประการ และการซื้อขายยางในประเทศยังดำเนินการตามปกติผ่านตลาดกลาง กยท. รวมถึงตลาดล่วงหน้า ไม่ได้ล่มอย่างที่กล่าวอ้าง

        "จึงขอให้ทุกภาคส่วนที่นำประเด็นเหล่านี้มาวิพากษ์วิจารณ์ โปรดรับทราบข้อมูลที่แท้จริง ครบถ้วน ไม่พูดไปตามกระแส อันอาจจะส่งผลลบต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดยางพาราและประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในประเทศ"นายธีธัช กล่าว

                        อินโฟเควสท์

ชาวสวนยางยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องแก้ปัญหาราคาตกต่ำ-ติดตามความคืบหน้าผลสอบผู้บริหารกยท.

     นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) พร้อมด้วยตัวแทนชาวสวนยาวกว่า 10 คน เดินทางมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เพื่อยื่นหนังสือแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤติยางพาราไทยอย่างยั่งยืนต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีตัวแทนรัฐบาลเป็นผู้รับมอบหนังสือดังกล่าว

        นายสุนทร ระบุว่า จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างผิดปกติจนนำมาสู่วิกฤิตยางพาราไทย ส่งผลกระทบให้ชาวสวนยางทั่วประเทศเดือดร้อนอย่างหนัก มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น และมีความไม่มั่นคงในอาชีพ สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุยางพาราตกต่ำนั้นมองว่าสาเหตุสำคัญมาจากการบริหารงานที่ล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รวมทั้งผู้บริหาร กยท.ที่มิได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ และเจตนารมย์ของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้พยายามเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อ กยท.แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจและไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้นสมาคมฯ จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติยางพาราไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้กลไกของ พ.ร.บ.การยางฯ ดังนี้

      1.ให้ กยท.แก้ไขประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์สามารถจดทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางได้ตามมาตรา 4 ซึ่งจะทำให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ผู้ซึ่งจ่ายภาษี CESS เข้าถึงสิทธิและผลประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การยางฯ

       2.ให้ กยท.แก้ไขระเบียบว่าด้วยการจัดสวัสดิการให้ชาวสวนยาง เพื่อจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 49(5) ในรูปแบบสังคมสวัสดิการ ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอและมติในที่ประชุมเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ

        พร้อมกับข้อเสนอแนะเร่งด่วน ให้กยท.จ่ายเงินสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางแก่คนกรีดยางรายละ 3,000 บาท เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือในช่วงที่เกิดปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

       3.ให้ กยท.แก้ไขระเบียบว่าด้วยการปลูกแทนตามมาตรา 49(2) เพื่อให้ชาวสวนยางปรับเปลี่ยนการทำสวนยางเชิงเดี่ยวมาทำสวนยางอย่างยั่งยืน ด้วยการลดจำนวนต้นยางให้เหลือ 40 ต้น/ไร่ เพื่อปลูกพืชร่วมยาง ทำเกษตรผสมผสาน และทำเกษตรอินทรีย์ในสวนยาง โดยให้ กยท.จ่ายค่าชดเชยการปลูกแทนบางส่วนสำหรับสวนยางที่เปิดกรีดแล้ว ส่วนอัตราการจ่ายค่าชดเชยการปลูกแทนบางส่วนนั้นให้ขึ้นอยู่กับอายุของต้นยาง

      4.ให้ กยท.ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์รวมกลุ่มกันเป็นชุมชน เพื่อใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 43(2) ในการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมาย โดยมีเงื่อนไขให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ต้องลดจำนวนต้นยางให้เหลือ 40 ต้น/ไร่ และปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 40 ต้น/ไร่ เพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่าเศรษฐกิจหรือป่ายางที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและสมดุลนิเวศ ซึ่งช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือเพิ่มพื้นที่ป่าให้แก่ประเทศ

       5.ให้ กยท.จัดทำยุทธศาสตรและแผนแม่บทว่าด้วยการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตชาวสวนยาง ทั้งนี้ให้ กยท.สนับสนุนงบประมาณการทำงานวิจัย เพื่อหารูปแบบทางเลือกและทางรอดของชาวสวนยาง และสร้างเสริมสุขภาวะแก่ชาวสวนยาง

        6.การแก้ไขปัญหาวิกฤติยางพาราไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้กลไก พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ตามข้อ 1-5 ให้ กยท.ตั้งคณะอนุกรรมการ โดยชาวสวนยางมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

      "เราอยากเสนอข้อมูลที่แท้จริงให้กับนายกรัฐมนตรี เราไม่ได้มีเจตนาจะมาไล่ใครออก ที่ผ่านมานายกฯ ฟังข้อมูลข้างเดียวจากข้าราชการที่พยายามปกปิดข้อมูลในการบริหารการยางที่ล้มเหลว ไปเชื่อข้อมูลผิดๆ...วันนี้เราอยากมายื่นหนังสือถึงท่านนายกฯ เพื่อชี้แจงถึงวิธีแก้ปัญหายางพาราที่ถูกต้องและยั่งยืน" นายสุนทร กล่าว

       สำหรับ กรณีข้อเสนอให้ปลดคณะกรรมการ กยท.นั้น นายสุนทร กล่าวว่า ขณะนี้ก็ครบกำหนดเวลา 7 วัน ที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ทราบว่าความคืบหน้าของการตรวจสอบเป็นอย่างไร ในขณะที่ข้อเสนอให้ยกเลิกบริษัทร่วมทุนฯ นั้น ทาง สคยท.จะมาติดตามกรณีนี้ต่อไป

     "เราคงไม่เกี่ยงเรื่องเวลา ขอแค่ให้นายกฯ นำเอกสารไปดู หากรัฐบาลยังเพิกเฉย พวกผมคนใต้ก็อยากมาเตือนว่าอย่าให้เป็นกรณีน้ำผึ้งหยดเดียว หากยางพารายังราคา 3 กิโล 100 ผมว่า ที่ทำเนียบรัฐบาลต่อให้มีกฎหมายก็คงจะใช้บังคับไม่ได้ เพราะพวกผมจะยอมทำผิดกฎหมายมากกว่ายอมให้ลูกต้องอดตาย" นายสุนทรกล่าว

        อินโฟเควสท์

กรมบัญชีกลาง แจงหน่วยงานรัฐสามารถซื้อยางพาราจาก กยท.ได้ไม่ขัดกม.จัดซื้อจัดจ้าง

      รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ได้ทำหนังสือแจ้งกระทรวงมหาดไทยว่า ตามที่นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อประสานข้อมูลการใช้ยางพาราตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารารายย่อย ในการก่อสร้าง/ปรับปรุงถนน สนามกีฬาทั่วประเทศ หลังจากได้หารือร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นว่าการดำเนินการก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐในพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 จะสามารถกำหนดเงื่อนไข ให้ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องใช้น้ำยางพาราที่ซื้อจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เท่านั้น จะเป็นการขัดกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หรือไม่อย่างไรแล้ว พบว่า สามารถกำหนดเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้างได้

      โดยพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า  ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 9 บัญญัติว่า "การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้าง ให้หน่วยงานของรัฐคำนึงคุณภาพ เทคนิค และวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนั้น และห้ามมิให้กำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุให้ใกล้เคียง กับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง หรือของผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ เว้นแต่พัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างตามวัตถุประสงค์ นั้นมียี่ห้อเดียวหรือจะต้องใช้อะไหล่ของยี่ห้อใด ก็ให้ระบุยี่ห้อนั้นได้"

      หนังสือแจ้งของกรมบัญชีกลาง ระบุว่า ดังนั้น การกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ ของวัสดุที่จะใช้ในการก่อสร้าง หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดคุณลักษณะให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดจ้างครั้งนั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า กระทรวงมหาดไทย จะดำเนินการจ้างก่อสร้างหรือปรับปรุงถนน สนามกีฬา และมีความจำเป็น ต้องกำหนดแอสฟัลด์คอนกรีตที่ใช้ในการก่อสร้าง ต้องเป็นแอสฟัลด์คอนกรีตที่มียางพาราจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)เป็นส่วนผสม

       “โดยยางพาราผสมแอสฟัลด์คอนกรีต ลักษณะดังกล่าว มีบริษัทที่ผลิตได้ จำนวน 8 บริษัท และการรับติดตั้งปูสระน้ำจากน้ำยางพารา มีบริษัทที่รับติดตั้งจำนวนประมาณ 9 บริษัท จึงมิใช่เป็นการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุใกล้เคียงกับผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ"

    ดังนั้น หากกระทรวงมหาดไทย จะกำหนดรายละเอียดหรือคุณลักษณะเฉพาะของงานก่อสร้าง หรือปรับปรุงถนน สนามกีฬา โดยมีความจำเป็น จะต้องกำหนดที่มาของวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อมาใช้ในการดำเนินการดังกล่าว โดยให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบจากน้ำยางพารา ที่ชื้อจาก กยท. หรือที่ได้รับรองจาก กยท. ว่าได้ชื้อน้ำยางพารา จากเกษตรกรโดยตรงตามข้อเท็จจริงที่กระทรวงมหาดไทย ได้ให้มาดังกล่าว ก็ถือเป็นดุลพินิจของหน่วยงาน ที่จะกำหนดได้ตามความต้องการ

                        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!