- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 23 December 2017 13:05
- Hits: 2013
พาณิชย์จับมือเกษตรฯ บูรณาการบริหารสินค้าเกษตร เน้นการตลาดนำการผลิตตามแนวทางประชารัฐ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยในการประชุมร่วมกับนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศว่า การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบนโยบายร่วมกันในการทำงานแบบบูรณาการระหว่าง 2 กระทรวง ทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ ตามแนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้มีการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานเพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทยสู่การเป็นภาคเกษตรชั้นนำของโลก โดยใช้การตลาดนำการผลิต
ทั้งนี้ มั่นใจว่าการทำงานแบบบูรณาการอย่างใกล้ชิด ระหว่างหน่วยงานที่ดูแลภาคการผลิตและหน่วยงานด้านการตลาด จะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้เป็นไปอย่างมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น ทั้งด้านราคา และตลาด อันจะนำไปสู่การพลิกโฉมสู่ภาคเกษตร 4.0 ที่เป็นรูปธรรมได้อย่างแน่นอน
"จากนี้ไป ประเทศไทยจะเปลี่ยนจากการผลักดันสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม หมายความว่า เราจะไม่ผลิตเพื่อขายกันแบบสดๆ เหมือนที่ผ่านมาเพียงอย่างเดียว เช่น ปลูกข้าวก็จะไม่ขายแบบข้าวเปลือกอย่างเดียว แต่จะดำเนินแปรรูปเพิ่มมูลค่า เริ่มตั้งแต่พันธุ์พืชที่ปลูก จะต้องมีการวิจัยพัฒนา เช่น ข้าวที่รับประทานแล้วมีสารที่ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บบางประเภท หรือบำรุงร่างกาย โดยสินค้าดังกล่าวต้องมีเรื่องราวและระบุถึงคุณค่าทางโภชนาการ ผูกโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เชื่อมโยงสู่การตลาดทั้งระบบดั้งเดิมและการค้าออนไลน์ ตลอดจนสามารถเปลี่ยนจากการเน้น เพียงแค่ภาคการผลิตสินค้าสู่ภาคบริการมากขึ้น อาทิ การเชื่อมโยงภาคเกษตรสู่การท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งจะมีการแต่งตั้งบุคคลทำหน้าที่รับผิดชอบสินค้าเกษตรสำคัญเป็นรายสินค้า ทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสร้างทีมทำงานที่มีความเป็นเอกภาพและไร้รอยต่อ" รมว.พาณิชย์ กล่าว
สำหรับแนวทางบูรณาการระหว่างทั้ง 2 กระทรวง จะครอบคลุมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิตและการตลาด เพื่อวางแผนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรสำคัญเป็นรายสินค้า การสื่อสารข้อมูลไปสู่เกษตรกรรายย่อยถึงความต้องการของตลาด การพยากรณ์ วิเคราะห์ และเตือนภัยที่จำเป็นต่อการเพาะปลูก การส่งเสริมศักยภาพทางการค้าของเกษตรกร อาทิ ความร่วมมือพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้เป็นกลไกทางการค้าของท้องถิ่น การสร้างแรงจูงใจเหนี่ยวนำการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความพร้อมรองรับการขยายโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศที่กว้างยิ่งขึ้น อาทิ การนำสินค้าของกลุ่มสหกรณ์และผลผลิตของเกษตรกรรายย่อยมาวางจำหน่าย ณ ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านโชห่วย และการสร้างเครือข่ายกับห้างค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้และเพิ่มความสามารถในการปรับตัวรองรับมาตรการทางการค้าและมาตรฐาน การค้าใหม่ๆ
นอกจากนั้น จะยกระดับมูลค่าสินค้าสู่เกษตรยุคใหม่ อาทิ สินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตไปสู่ระบบอาหารปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ และการตรวจรับรองตามหลักมาตรฐานสากล รวมถึง การสร้างความมั่นใจในสินค้าเพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนพัฒนาสู่สินค้าเกษตรนวัตกรรม โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะนำพาเกษตรกรรายย่อยในห่วงโซ่ให้มีรายได้สูงขึ้นและเปลี่ยนผ่านสู่ การผลิตสีเขียวตามวิสัยทัศน์ Bio Economy
รมว.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกันวางแผนการผลิตโดยใช้การตลาดเป็นตัวนำ (Demand Driven) เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา และตลาด โดยเชื่อมั่นว่าการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดทั้งห่วงโซ่ จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตั้งแต่การวางแผนการผลิต การบริหารจัดการสต็อก การแปรรูป และการตลาด รวมทั้งสามารถสะท้อนข้อมูลย้อนกลับไปสู่เกษตรกรในพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนการวางแผนเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมได้ล่วงหน้า
ทั้งนี้ กลไกบริหารจัดการภาคการเกษตรทั้งในส่วนกลาง ระดับพื้นที่ และกลุ่มจังหวัดของทั้ง 2 กระทรวง ต้องขับเคลื่อนแบบบูรณาการร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น อีกทั้งเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำพาภาคการเกษตรของไทยก้าวสู่ความเป็นภาคการเกษตรสมัยใหม่ชั้นนำของโลก สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สร้างอาชีพ และกระจายโอกาสให้แก่เกษตรกรไทยในทุกมิติ
อินโฟเควสท์