- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 17 December 2017 18:25
- Hits: 1537
รมว.เกษตรฯมั่นใจมาตรการที่จะเสนอ ครม.จะช่วยแก้ไขปัญหาราคายางพาราให้มีเสถียรภาพ-คุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางจะดี
นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยว่า การประชุม กนย.ครั้งที่ 2/2560 โดยมีการพิจารณาวาระสำคัญ ตั้งแต่ประเด็นยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) ที่ได้จัดทำขึ้น โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมและและประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้วจากทุกภาคส่วน ที่ประชุมเห็นชอบให้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ภายใต้พันธกิจ ประกอบด้วย (1) พัฒนาเกษตรกรฯ/สถาบันเกษตรกรฯ ให้มีความเข้มแข็ง และมีรายได้ที่มั่นคง (2) ส่งเสริมการผลิตยาง และผลิตภัณฑ์ยาง/ไม้ยางพาราให้มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล (3) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า (4) ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจแปรรูปยาง/ไม้ยางพารา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ (5) พัฒนาระบบตลาด และช่องทางการจัดจำหน่ายยาง และผลิตภัณฑ์ยาง/ไม้ยางพารา (6) ส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ (7) ปรับปรุงข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งระบบให้มีความเป็นเอกภาพ และ (8) ปรับปรุงกฎระเบียบ/กฎหมาย และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราจะเป็นแนวทางและกรอบการแก้ปัญหายางพาราในระดับโครงสร้างโดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้และการส่งออกด้วยการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ และมุ่งเน้นการส่งออกสินค้าในรูปของผลิตภัณฑ์ยาง
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กนย. เห็นชอบโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาทเพื่อช่วยดูดซับปริมาณยางออกจากระบบประมาณร้อยละ 11 ของผลผลิตยางแห้ง 350,000 ตันจากผลผลิตทั้งปี ประมาณ 3.2 ล้านตัน (ส่วนเนื้อยางแห้ง) รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี (ไม่เกิน 600 ล้านบาท) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ถึงเดือนธันวาคม 2562 และมีระยะเวลาการชำระเงินคืนเงินกู้ไม่เกิน 1 ปีนับจากวันทำสัญญาต่อปี โดยเห็นชอบให้ กยท. ดำเนินโครงการ และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อ ดังกล่าว รวมถึง ยังเห็นชอบให้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบตามกรอบวงเงิน 15,000 ล้านบาท และหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเดิม ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพียงจำนวน 29 ราย และได้รับอนุมัติสินเชื่อเข้าร่วมโครงการฯ 16 ราย วงเงินประมาณ 8.887 พันล้านบาท ปริมาณการใช้ยางเพิ่มขึ้น 35,550 ตัน/ปี ขณะนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอีกหลายราย ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
“นอกจากนี้ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราให้มีเสถียรภาพ โดยการดูดซับปริมาณยางออกจากตลาด จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีคุณภาพชีวิตที่มั่งคง มั่งคั่งและยั่งยืน พร้อมเตรียมให้ กยท. รับซื้อผลผลิตยางพารา ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 น้ำยางสด ยางก้อนถ้วย หรือยางชนิดอื่นๆ รับซื้อผ่าน ตลาดยาง กยท. ตลาดเครือข่าย และตลาดกลางยางพารา กยท. ประมาณ 2 แสนตันในช่วงเดือนธันวาคม 2560 – 30 เมษายน 2561 ไปใช้งานหน่วยงานภาครัฐแจ้งความประสงค์ เช่น การทำถนนลาดยางมะตอยผสมยางพาราชนิดผสมร้อน (Para Asphaltic Concrete) ชั้นพื้นทางของถนน (Based) Para rubber polymer soil cement ยางปูพื้นแบบ Block สนามฟุตซอล หรือ สนามเด็กเล่น ยางปูสระน้ำ และอื่นๆ เป็นต้น" นายกฤษฎา กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า จากนโยบายในการสร้างเสถียรภาพด้านราคา ด้วยมาตรการลดพื้นที่ปลูก เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณและความต้องการใช้ ที่ประชุม กนย. เห็นชอบ โครงการควบคุมปริมาณผลผลิต ซึ่งเป็นภารกิจที่ กยท. มีแผนดำเนินการ โดยเร่งรัดการโค่นยางมากยิ่งขึ้น ด้วยการสนับสนุนการโค่นเพื่อปลูกแทนของเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ไปปลูกแทนด้วยไม้ยืนต้นชนิดอื่น ทั้งไม้ผลไม้แปรรูปและอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จำนวน 2 แสนไร่ พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้ชาวสวนยางรายละ 4,000 บาท ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 นี้ จะเป็นการลดพื้นที่ปลูกยางแบบถาวร และยังส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี เน้นการปลูกแทนแบบผสมผสาน ตาม พ.ร.บ.กยท.พ.ศ.2558 อีกจำนวน 2 แสนไร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ควบคู่กับลดปริมาณผลผลิตคาดว่าการส่งเสริม และสนับสนุนครั้งนี้ จะลดปริมาณผลผลิตจากภาคเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 9 หมื่นตัน นอกจากนี้ ยังให้หน่วยงานภาครัฐที่มีสวนยาง ประมาณ 1.21 แสนไร่ ทั้ง กยท. กรมวิชาการเกษตร และ ออป. ร่วมกันหยุดกรีดยาง จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งช่วยลดปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดได้ไม่น้อยกว่า 6.78 พันตันในระยะเวลา 3 เดือนนี้
อินโฟเควสท์