ก.เกษตรฯ เปิดตัวศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรอาสา นำร่องแห่งแรกภาคอีสานตอนกลาง
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 เปิดศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรอาสา นำร่องภาคอีสานตอนกลางแห่งแรก เปิดตัว นายทองอินทร์ ภูมิช่อ เกษตรกรปราดเปรื่องตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากการทำเกษตรผสมผสาน เผย รุกเดินหน้าเปิดศูนย์ฯ ครบ 10 แห่งเร็วๆ นี้
นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศบอ.) ที่นำร่องแห่งแรกอย่างเป็นทางการของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ณ บ้านนายทองอินทร์ ภูมิช่อ เลขที่ 163 หมู่ที่ 22 บ้านเชียงงาม ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งต่อไปจะดำเนินการเปิด ศบอ.ของอีสานกลาง ให้ครบ 10 แห่งใน 4 จังหวัด
สำหรับ ศบอ. เป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของเกษตรกรที่ สศก. ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ความรู้ในการเลือกประกอบอาชีพของเกษตรกร รวมถึงการให้บริการข้อมูลต่างๆ อาทิ ข้อมูลการผลิต ต้นทุนการผลิต ราคา สถานการณ์การผลิตการตลาดสินค้าเกษตรในประเทศและต่างประเทศ ให้กับเกษตรกรด้วยกันเองโดยผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่ สศก. โดยได้เริ่มดำเนินงานในกลางปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งในระยะเริ่มต้นนี้ ศบอ. ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 (สศข.4) มีจำนวนนำร่อง 10 แห่ง จากเศรษฐกิจการเกษตรอาสา หรือ ศกอ. จำนวน 10 คน ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สศข.4 รวม 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด และในอนาคต เมื่อพัฒนาให้ ศกอ. มีบทบาทก้าวทันกับการเกษตรยุคใหม่และมีเครือข่ายมากขึ้นแล้ว ศกอ. กลุ่มนี้จะมีการสร้างเครือข่ายอีก แห่งละ 5 ราย รวมเป็น 50 ราย ที่จะเป็นพลังและพร้อมที่จะผลักดันในการขับเคลื่อนการเกษตรในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ให้สามารถปรับตัว และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจการเกษตรและแข่งขันได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
ด้านนางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 กล่าวเสริมว่า สำหรับเศรษฐกิจการเกษตรอาสา นายทองอินทร์ ภูมิช่อ ถือเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ด้านเกษตรผสมผสานตามแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บนเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน ที่ทำไร่นาสวนผสมตามแนวคิดทฤษฎีใหม่ ปัจจุบันมีกิจกรรมที่ดำเนินการ ได้แก่ การทำสวนไม้ผลไม้ยืนต้น การปลูกพืชน้ำ ปลูกพืชผัก การเพาะพันธุ์กล้าไม้ ปลูกพืชสวนครัว ปลูกไผ่เลี้ยง เพาะเห็ดนางฟ้า เลี้ยงไก่ดำภูพาน เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ การแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์การเกษตร การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพใช้เอง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการที่ก่อให้เกิดรายได้ทางการเกษตรโดยมี รายได้เฉลี่ยต่อปี 283,500 บาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปี 93,400 บาท ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 160,100 บาท สำหรับตลาดสามารถขายให้กับคนในหมู่บ้านส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่
|