ก.เกษตรฯ ร่วมเดินหน้าเข้าสู่เออีซี เปิดเวทีผลศึกษาสินค้าเกษตร ในมาเลย์ -อินโดฯ -ฟิลิปปินส์ ปี57
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเวทีสัมมนารับฟังผลศึกษาเศรษฐกิจสินค้าเกษตรเพื่อรองรับการเข้าสู่เออีซี ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ลุยระดมความเห็นเพื่อปรับปรุงรายงานผลการศึกษา ให้มีความสมบูรณ์ผู้สนใจ สอบถามได้ที่ สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 0611
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง การศึกษาเศรษฐกิจสินค้าเกษตรเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปี 2557 : ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่ง สศก. ได้ดำเนินการศึกษาเศรษฐกิจสินค้าเกษตรเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2557
สำหรับปี 2557 สศก. ได้ทำการศึกษาในกลุ่มประเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยการเก็บข้อมูลและการจัดทำรายงานเบื้องต้น ดังนั้น เพื่อให้ผลการศึกษาครั้งนี้ มีความสมบูรณ์ครบถ้วน ทุกภาคส่วนให้การยอมรับและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง จึงได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ศึกษาจะได้นำความรู้ไปปรับปรุงรายงานผลการศึกษา ให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ก่อนที่จะมีการเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป
การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทุกองค์กรต้องตระหนักและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ ซึ่ง สศก. ได้ทำการศึกษาศักยภาพของไทยเปรียบเทียบกับสมาชิกอาเซียน เพื่อกำหนดแนวทางการปรับตัว รวมทั้งวางแผน ระยะต่างๆ จัดทำเป็น Road map เส้นทางไปสู่เป้าหมายของอาเซียน โดยการกำหนดยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ทั้งเชิงรุก เชิงรับ ให้ประเทศไทยสามารถคงสถานะ ความเป็นผู้นำของอาเซียนต่อไป
นอกจากนี้ การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 1 ปีเท่านั้น การศึกษาศักยภาพการเกษตรเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ถือเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกของประเทศสมาชิกอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบศักยภาพการแข่งขันในทุกด้าน ตั้งแต่สภาพทั่วไป โครงสร้างพื้นฐาน การค้าสินค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน เช่น กฎหมาย กฎระเบียบของแต่ละประเทศ การดำเนินการของด่านการค้าชายแดน เพื่อการปรับตัวและเตรียมความพร้อมให้ภาคการเกษตรของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สมาชิกอาเซียนต่างเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรหลายรายการเช่นเดียวกับไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องก้าวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของอาเซียน จึงต้องมีการดำเนินการด้านต่างๆ ทั้งความพร้อมทางเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างการผลิตที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ระบบการค้า การลงทุน การส่งออก การสร้างโอกาสของไทย รวมทั้งป้องกันผลกระทบที่เป็นวิกฤต ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะต่อภาคการเกษตร ซึ่งการสัมมนาในวันนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและผู้เข้าร่วมสัมมนา ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศที่ทำการศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่องานที่รับผิดชอบ รวมทั้งเป็นข้อมูลเสนอผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายต่อไปด้วย ผู้สนใจผลการศึกษา สามารถสอบถามได้ที่ สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 0611
|