- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 11 November 2017 11:49
- Hits: 3477
KOFC เผยสถานการณ์อุทกภัยปี 60 สร้างความเสียหายกว่า 1.4 หมื่นลบ. ฉุด GDP ลดลง 0.04%
นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร (KU-OAE Foresight Center:KOFC) เผยผลสำรวจความเสียหายเบื้องต้นจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2560 พบว่ามีพื้นที่การเกษตร (ด้านพืช) เสียหายโดยสิ้นเชิงประมาณ 3.41 ล้านไร่ (ช่วงวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค.60) หรือคิดเป็น 27.90% ของพื้นที่เสียหายในปี 2554 ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายมากถึง 12.22 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหาย 1.289 ล้านราย
"ปรากฎการณ์เอนโซ่นำมาซึ่งความผันแปรของภูมิภาคอากาศทำให้เกิดสภาวะแล้งสลับฝน หลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในรูปแบบแตกต่างกันไป ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบนั้นเช่นกัน"
โดยสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 ถึงปัจจุบันสามารถแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค.60 (พายุตาลัส-เซินกา) เกิดความเสียหายรวม 43 จังหวัด เกษตรกร 444,854 ราย วงเงินช่วยเหลือ 3,869.39 ล้านบาท, ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 16 ส.ค.- 30 ก.ย.60 (พายุทกซูรี) พื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย เกษตรกรรวม 51,565 ราย และช่วงที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.ถึงปัจจุบัน (หย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องมรสุม) พื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย เกษตรกรรวม 194,692 ราย
ทั้งนี้ จากการคำนวณเบื้องต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พ.ย.60) พบมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากพื้นที่เสียหายสิ้นเชิง (ช่วงที่ 1) ด้านพืช 3.41 ล้านไร่ ประมงพื้นที่บ่อปลา 12,253 ไร่ และด้านปศุสัตว์ สัตว์ตายและสูญหาย 60,591 ตัว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 11,959.65 ล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่าความเสียหายด้านพืช 11,817.04 ล้านบาท ประมง 133.68 ล้านบาท และปศุสัตว์ 8.93 ล้านบาท ตามลำดับ
"คาดว่า ผลผลิตข้าวจะได้รับความเสียหายประมาณ 1.2 ล้านตันข้าวเปลือก"นายภูมิศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายคือ ช่วงวันที่ 16 สิงหาคม 2560 ถึงปัจจุบัน อีกประมาณ 1.94 ล้านไร่ ซึ่ง KOFC คาดการณ์ว่าจะเสียหายโดยสิ้นเชิงประมาณ 20% จึงประมาณการว่าจะทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายอีกประมาณ 2,238.57 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้ง 3 ช่วงภัยเป็น 14,198.21 ล้านบาท เมื่อประเมินผลกระทบจากมูลค่าความเสียหายของอุทกภัยที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) พบว่า ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มูลค่า 3,648.01 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.04% ของมูลค่า GDP รวมทั้งประเทศ และ 0.59% ของมูลค่า GDP สาขาเกษตร โดยผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มากที่สุดคือ สาขาพืชโดยมีมูลค่าความเสียหาย 3,593.17 ล้านบาท รองลงมาเป็นสาขาประมง 53.47 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 1.38 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ KOFC ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในระยะสั้น คือ ควรปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ การเร่งสำรวจท่อระบายน้ำ คู คลอง หนองบึง และระบบระบายน้ำที่มีอยู่ว่ามีประสิทธิภาพดีเพียงใด การก่อสร้างคันกั้นน้ำขนาดที่เหมาะสม ก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งออกไป ในชุมชนควรปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับอัตราการไหลได้อย่างเหมาะสม
ส่วนในระยะยาว ควรศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ และอ่างเก็บน้ำ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ที่ต้องการป้องกัน และสร้างฝายยกระดับเพื่อผันน้ำเข้าพื้นที่เก็บน้ำ การสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อบรรเทาน้ำท่วมกระจายให้ครอบคลุมพื้นที่เพื่อเก็บน้ำใช้ในฤดูแล้งและยังสามารถช่วยควบคุมการไหลของน้ำไม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำมากเกินไป การปรับปรุงผังเมืองให้สอดคลองกับแนวทางการระบายน้ำในสภาพปัจจุบันและแผนในอนาคต ควรนำมาตรการทางด้านกฎหมายผังเมืองรวมมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อลดความสูญเสีย โดยการปลูกพืชอายุสั้นทันเก็บเกี่ยวก่อนน้ำมา และส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการทำการเกษตร
ด้านนายกัมปนาท เพ็ญสุภา รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าดูมิติของการเยียวยาในส่วนของการช่วยเหลือครัวเรือนละ 3 พันบาทนั้นสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้มากน้อยแค่ไหน
ขณะเดียวกัน เรื่องของการกรองผู้ยื่นแบบความจำนงขอรับความช่วยเหลือ มีจำนวน 1,864,965 ครัวเรือน ผ่านการพิจารณาคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดแล้ว เกษตรกร 1,759,038 ครัวเรือน หลังจากนั้นกว่าจะผ่านขั้นตอนการตรวจสอบอีกต้องใช้ระยะเวลาซึ่งทำให้เกษตรกรได้เงินช่วยเหลือไม่ทันกับความจำเป็นเร่งด่วนที่เกิดขึ้น เพราะมีเกษตรกรที่ได้รับโอนเงินช่วยเหลือแล้วเพียง 538,011 ครัวเรือน วงเงิน 1,614.03 ล้านบาท
"การจ่ายเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 3 พันบาท หลักเกณฑ์คืออะไร คำนวณจากอะไร ทำไมจึงออกมาเป็น 3 พันบาท แล้วเงินจำนวนนี้ช่วยเหลือเกษตรกรได้จริงหรือเปล่า แล้วในจำนวน 1.8 ล้านกว่าครัวเรือนที่ยื่นความจำนงขอความรับความช่วยเหลือ แต่กลายเป็นว่ามีเกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือแค่ 5 แสนกว่าครัวเรือน ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วน มันควรจะต้องเร็วกว่านี้หรือเปล่า แล้วคนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ แนวทางช่วยเหลือต่อไปคืออะไร"นายกัมปนาท กล่าว
พร้อมได้เสนอแนะการทำ Mapping เพื่อช่วยอัพเดทฐานข้อมูลเกษตรกร ทำให้ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกร และทำให้กระบวนการตรวจสอบรวดเร็งยิ่งขึ้น รวมทั้งการหาดัชนีชี้วัดปริมาณน้ำ อาจจะเป็นอีกเรื่องที่นำมาประกอบเพื่อให้สามารถคัดกรองได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ มองว่าการทำประกันภัยพืชผลทางการเกษตรน่าจะเป็นอีกเรื่องที่ควรจะนำมาใช้ในการช่วยเหลือ เพราะอย่างน้อยเกษตรกรจะมีความตื่นตัวดีกว่ารอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลทุกครั้งที่เกิดภัย
อินโฟเควสท์