คสช.ยันมีมาตรการระยะสั้นช่วยชาวสวนยาง มั่นใจทยอยระบายสต็อกไม่กระทบราคาตลาด
พันเอกวินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ คสช. และหน่วยเกี่ยวข้องจะพยายามที่จะทำให้ราคายางอยู่ในระดับที่เหมาะสมโดยเร็ว โดยได้เตรียมมาตราการทั้งระยะสั้น และระยะยาว พร้อมทั้งขอความร่วมมือทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พี่น้องชาวสวนยางได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมอย่างสูงสุด
สำหรับ มาตรการระยะยาวจะรเริ่มดำเนินการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อธุรกิจการแปรรูปยางพารา เบื้องต้นจะให้สินเชื่อแก่องค์กรเกษตรกร และผู้ประกอบการทั่วไปที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพารา รวมทั้งเร่งให้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยยางในประเทศ เพื่อการดูแลยางพาราทั้งระบบอย่างยั่งยืน และพัฒนาไปสู่ธุรกิจครบวงจรมากขึ้นต่อไปในอนาคต
ส่วนข้อกังวลของเกษตรกรชาวสวนยางเกี่ยวกับแผนการระบายยางในสต๊อกนั้น ทางคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.)จะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบราคายางในปัจจุบัน และจากข้อมูลที่ได้รับมาในเบื้องต้น ถ้าจะมีการระบาย ก็คงจะดำเนินการในรูปแบบทยอยค่อยเป็นค่อยไปในปริมาณที่จำกัด ซึ่งมั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคายางในปัจจุบันอย่างแน่นอน
คสช.อนุมัติงบฯกว่า 5 พันลบ.พัฒนายางทั้งระบบ ทั้งลดอุปทาน-เสริมสภาพคล่อง
พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช.ชุดใหญ่ เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาราคายางพาราทั้งมาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะยาว
สำหรับมาตรการระยะสั้น ได้แก่ การหาตลาดเพิ่ม การซื้อขายยางกันในราคาที่เหมาะสมมากที่สุด ส่วนมาตรการระยะยาว เช่น การส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยมีสถาบันการเงินให้การสนับสนุนการแปรรูปยางพารา รวมทั้งสนับนุนให้มีการนำยางไปให้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การจัดตั้งสถาบันวิจัยยาง การจัดการ Demand และ Supply ให้มีความสัมพันธ์กัน
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ที่ประชุม คสช.ยังเห็นชอบแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ รวม 2 มาตรการ 9 แนวทาง 12 โครงการ พร้อมกับเห็นชอบการดำเนินงานตามโครงการเพื่อให้การสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ จำนวน 3 โครงการ และอนุมัติกรอบวงเงินกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการและอนุมัติงบกลางประจำปี 2557 จำนวน 977 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการในปีแรกนี้
สำหรับเหตุผลและความจำเป็น คือ ตามที่คณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) ได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการพัฒนายางทั้งระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการสต็อกยางเพื่อลดอุปทานส่วนเกินของประเทศ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่สถาบันเกษตรกร เพื่อพัฒนาคุณภาพยาง เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการแปรรูปและพัฒนาระบบตลาด
ส่วนมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ มี 3 แนวทาง 1.ยกระดับราคา เพิ่มสภาพคล่องด้านการตลาด ได้แก่ โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร 2.เพิ่มมูลค่าและเพิ่มคุณภาพของผลผลิต 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งหมดนี้จะกรอบระยะเวลารวม 10 ปี
อินโฟเควสท์
|