ปศุสัตว์ผลักดันเมืองเกษตรสีเขียว พัฒนาฟาร์มสุกรเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงาน
บ้านเมือง : จรัส ลีลาศิลป์-ธนวันต์ บุตรแขก/รายงาน
โครงการเมืองเกษตรสีเขียว เป็นโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่เน้นให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนห่วงโซ่การผลิตและการบริโภค โดยมีการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายจากจังหวัดที่มีศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตรเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง รวม 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ หนองคาย ศรีสะเกษ ราชบุรี จันทบุรี และพัทลุง โดยเป็นตัวแทนของจังหวัดต้นแบบในแต่ละภาคของประเทศ เพื่อผลักดันให้เป็นเมืองเกษตรสีเขียว และพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงเกษตร
น.สพ.ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ในด้านการปศุสัตว์นั้นที่ผ่านมา มักจะมีปัญหามลพิษอันเนื่องมาจากของเสียจากฟาร์มสุกรลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำใกล้เคียง ทำให้น้ำเน่าเสียได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยแหล่งน้ำนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาน้ำเสียจากฟาร์มไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green city) จึงถูกนำมาใช้ในฟาร์มสุกรต้นแบบ เพราะเห็นว่าน้ำเสียในฟาร์มสามารถนำมาทำระบบก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานในฟาร์มได้ และจากการศึกษาพบว่าในน้ำและกากตะกอนที่ผ่านระบบบำบัดก๊าซชีวภาพหรือระบบบำบัดน้ำเสียมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืชปริมาณมาก ทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองรวมทั้งฮอร์โมนพืช เป็นต้น ดังนั้น นอกจากการบำบัดน้ำเสียซึ่งมีราคาสูงแล้ว เกษตรกรยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับพืชในบริเวณใกล้เคียงกับฟาร์มได้ ซึ่งสมควรส่งเสริมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหา โดยการถ่ายทอดให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างถูกต้องและเหมาะสม ให้เป็นเกษตรกรรมที่ฉลาดและเป็นเกษตรกรรมสีเขียว และเป็นการจัดการให้ของเสียมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดหรือมีค่าเป็นศูนย์ (Zero waste) เพื่อทำการสาธิตเทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้ก๊าซชีวภาพและรูปแบบการจัดการของเสียจากการผลิตปศุสัตว์ในพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ โดยบริหารจัดการธาตุอาหารในของเสียปศุสัตว์ไปใช้ประโยชน์สำหรับพืชอย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
"กรมปศุสัตว์ได้ทำฟาร์มต้นแบบที่จังหวัดฉะเชิงเทรามาแล้ว และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยโครงการนี้ได้เริ่มทำมาเป็นระยะเวลา 4 ปีมาแล้ว และได้ทำอย่างต่อเนื่องตลอดมา การวัดผล เราวัดอย่างไร เราวัดได้จากก๊าชที่เราผลิตออกมาได้คือก๊าซมีเทน ซึ่งมีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้มูลสัตว์ที่เราระบายมาจากฟาร์มนั้น เมื่อนำมาหมัก มันก็จะลอยขึ้นไปบนอากาศ เพราะฉะนั้นการที่เรานำก๊าซชีวภาพมาทำเป็นอุตสาหกรรมมาทำเป็นบอลลูนขนาดใหญ่ แล้วเราก็พัฒนาในเรื่องของการทำท่อเพื่อนำมูลสัตว์ไปสู่ส่วนที่เป็นบอลลูน ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งก๊าซที่จะนำมาเป็นพลังงานโดยตรงหรือการนำกากหรือน้ำหลังการหมักแล้วไปทำเป็นปุ๋ย ก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองทาง คือมูลสัตว์หลังจากการหมักเป็นก๊าซไปแล้ว ก็สามารถนำเอาไปทำเป็นปุ๋ยแห้ง ในขณะที่น้ำที่ผ่านการบำบัด ก็นำไปใช้ประโยชน์ในการนำไปรดในสวนและไร่นา เพื่อให้พืชผักและผลผลิตงอกงามได้ผลดีอีกทางหนึ่งด้วย"
น.สพ.ทฤษดี กล่าวอีกว่า ฟาร์มสุกรนั้น ถ้าไม่มีระบบการบำบัดที่ดีก็จะมีกลิ่น เมื่อมีกลิ่นก็จะเป็นที่มาของแมลงและเชื้อโรค เพราะฉะนั้นการที่นำมูลสัตว์มาบำบัดแล้วนำมาใช้ประโยชน์ ถือได้ว่าเป็นการลดความเสียหายในฟาร์มไปในตัว และตอนนี้กรมปศุสัตว์ได้ทำฟาร์มนำร่องที่จังหวัดราชบุรี จำนวน 10 กว่าฟาร์ม โดยทำเป็นฟาร์มต้นแบบ เพื่อให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเพื่อจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปขยายผลทำในฟาร์มของตนเองต่อไป
ทั้งนี้ โครงการฯ ได้สนับสนุนงบประมาณอุดหนุนเพื่อก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบได้ก๊าซชีวภาพแก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดหนองคาย โดยในจังหวัดราชบุรี จำนวน 14 ฟาร์ม จังหวัดหนองคาย จำนวน 8 ฟาร์ม ซึ่งผลดีจากโครงการนี้นั้น จะให้สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์มสุกรได้ โดยสุกร 1 ตัว ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 0.5 co2 equivalent per year ทำให้ช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้ และฟาร์มสุกรสามารถนำของเสียจากฟาร์มเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนการใช้ไฟฟ้า ทำให้สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ เป็นการประหยัดพลังงาน แล้วน้ำเสียที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับพื้นที่ภาคเกษตรกรรม เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น นับได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่เกิดจากฟาร์มสุกรได้อย่างยั่งยืน ทำให้ภาคเกษตรกรรมสามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมี และใช้ประโยชน์น้ำเสียจากฟาร์มสุกรทดแทนให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่อีกด้วย
|