- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 08 November 2017 15:41
- Hits: 1289
ปัญหาชาวนาไทย ช่วยพวกเขาให้มีรอยยิ้มอย่างง่ายๆ ได้อย่างไร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมการบริโภคของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผูกพันอยู่กับการกิน ‘ข้าว’ สุภาษิตสมัยก่อนเกี่ยวกับการบริโภคของชาวไทยมักมีคำว่า 'ข้าว' ปรากฏอยู่ เช่น ข้าวปลาอาหาร กับข้าวกับปลา หรือในน้ำมีปลาในนามีข้าว บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของคนไทยผูกพันอยู่กับข้าวมาตั้งแต่อดีต โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่าในปีการผลิต 2559/60 มีจำนวนครัวเรือนที่ทำข้าวนาปีถึงจำนวน 3.7 ล้านครัวเรือน และนาปรังจำนวน 4.68 แสนครัวเรือน[1] จึงนับว่าชาวนายังเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความยากจนของชาวนาไทยยังคงเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อกันมาอย่างยาวนาน แม้ว่าที่ผ่านมาเกือบทุกรัฐบาลต่างพยายามออกมาตรการแก้ไขปัญหา แต่ผลที่ออกมากลับไม่เป็นไปตามคาด โดยปัญหาหลักความยากจนของชาวนาเกิดจากวงจรการขายข้าวในปัจจุบันที่ต้องขายข้าวทั้งหมดผ่านพ่อค้าคนกลางหรือโรงสีพร้อมกัน ทำให้ข้าวราคาตกต่ำและชาวนาไม่ได้กำไรอย่างที่คาดหวังไว้
ด้วยการตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและต้องการหาหนทางแก้ไขอย่างยั่งยืน กลุ่มลูกหลานชาวนารุ่นใหม่ได้รวมตัวกันก่อตั้งโครงการ “ฟาร์มจริงใจ” โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มชาวนาที่มีลักษณะชุมชนเข้มแข็ง ผ่านทางเว็บไซต์ www.farmjingjai.com ซึ่งให้ผู้บริโภคสั่งข้าวล่วงหน้าแบบรายเดือนหรือพรีออเดอร์ ซึ่งการพรีออเดอร์ (สั่งซื้อล่วงหน้า) คือการให้ผู้บริโภคสั่งข้าวผ่านทางเว็ปไซต์ มีการรวบรวมยอดการสั่งซื้อ ทำให้ชาวนาทราบยอดการสั่งซื้อที่แน่นอน ช่วยให้ชาวนาเข้าถึงและสามารถจำหน่ายข้าวได้โดยตรงแก่ผู้บริโภค มีรายได้อย่างต่อเนื่อง แก้ปัญหาของชาวนาอย่างยั่งยืน โดยชาวนาสามารถขายตรงสู่ผู้บริโภคทำให้ได้กำไรจากการขายมากขึ้น
ปัจจุบัน มีกลุ่มชุมชนเข้มแข็งเข้าร่วมโครงการ 'ฟาร์มจริงใจ'จำนวน 3 ชุมชนใน 2 จังหวัด ได้แก่ กลุ่มชาวนาหมู่บ้านคุ้มยโสธร จังหวัดยโสธร กลุ่มอีสานพอเพียงและกลุ่มชาวนาตำบลกระเบื้อง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งข้าวที่ได้จากโครงการทั้งหมดเป็นข้าวปลอดสาร ไม่ผ่านการรมยา และจะสีข้าวเมื่อได้รับออเดอร์จากผู้บริโภคเท่านั้น ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้าวสารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง สดใหม่ และปลอดภัยจากสารพิษ ส่งตรงถึงหน้าบ้านทุกเดือน
นางดวงใจ จันทร์เจริญ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการและหัวหน้ากลุ่มชาวนาหมู่บ้านคุ้มยโสธร กล่าวเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของโครงการฟาร์มจริงใจว่า “ดิฉันเป็นลูกสาวชาวนาโดยกำเนิด ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นพนักงานบริษัทแต่เลือกหันหลังให้กับการเป็นพนักงานบัญชีและมาเป็นชาวนาเพราะต้องการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่ประสบปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำในปี 2559 ซึ่งการขายข้าวเปลือกไปยังโรงสีหรือผ่านพ่อค้าคนกลางทำให้ราคาข้าวผันผวน บางปีราคาต่ำบางปีราคาสูงไม่มีความแน่นอนประกอบกับเรามีพื้นที่เพาะปลูกน้อยจำนวนผลผลิตน้อย เมื่อราคาข้าวตกต่ำก็ส่งผลให้ได้กำไรต่ำไปด้วย พวกเราเลยเกิดไอเดียว่าทำไมเราไม่สีข้าวสารขายให้ผู้บริโภคโดยตรงไปเลยล่ะ ซึ่งเว็บไซต์ของฟาร์มจริงใจก็จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ และพวกเราคิดว่านี่เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยเฉพาะคนเมืองได้มากกว่า นอกจากผู้บริโภคจะได้ข้าวสารสดใหม่ ปลอดสาร มีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว ยังช่วยให้รายได้จากการขายข้าวถึงมือชาวนาโดยตรง”
เว็บไซต์ฟาร์มจริงใจจะเปิดให้ผู้บริโภคเข้าสั่งซื้อข้าวได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาของชาวนาไทยอย่างยั่งยืนและช่วยให้พวกเขามีรอยยิ้มอย่างง่ายๆ เพียงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ผ่านทางการสั่งข้าวที่ www.farmjingjai.com
“ฟาร์มจริงใจสื่อถึงความจริงใจของชาวนาเราที่มีต่อผู้บริโภคในการจำหน่ายข้าวสารที่มีคุณภาพ ปลูกและเก็บเกี่ยวด้วยความจริงใจของชาวนา ดิฉันหวังว่าผู้บริโภคจะให้การตอบรับโครงการของเราเป็นอย่างดี และร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของชาวนาไทยเราอย่างยั่งยืน”นางดวงใจกล่าวทิ้งท้าย
เกี่ยวกับฟาร์มจริงใจ
โครงการที่ช่วยให้ชาวนาไทยมีโอกาสขายข้าวและส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรงอย่างต่อเนื่อง (รายเดือน) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการช่วยชาวนาให้มีรายได้แบบยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อและบริโภคข้าวที่มีคุณภาพโดยตรงจากชาวนาผ่านช่องทางการจำหน่ายบนเว็บไซต์ www.farmjingjai.com โดยยังคงเปิดรับกลุ่มชาวนาที่มีชุมชนเข้มแข็งให้มาเข้าร่วมโครงการ
การสนับสนุนจากซัมซุง
บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกในฐานะหน่วยงานภาคเอกชน เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของชาวนาไทย จึงสนับสนุนในการพัฒนาเว็บไซต์ www.farmjingjai.com พร้อมเครื่องมือและช่องทางด้านไอทีต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อ-ขายข้าวแก่ชาวนาไทย รวมถึงจัดส่งตรงถึงบ้านผู้บริโภค โดยมิได้มีส่วนได้ส่วนเสียและแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งการสนับสนุนนี้สอดคล้องกับปรัชญาหลักของซัมซุงที่มุ่งสนับสนุนและพัฒนาความเป็นอยู่ของสังคมโดยรวมให้ดีขึ้น