- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 21 October 2017 12:44
- Hits: 9944
ธ.ก.ส.เร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร
รัฐบาลให้ความสำคัญปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยใช้กลไกของคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) ที่ตั้งขึ้น ตาม ม. 44 มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร รายที่จำเป็นเร่งด่วน
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ประสบปัญหาด้านการผลิตและปัญหาอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อความสามารถชำระหนี้มาตามลำดับ โดย ธ.ก.ส.จะเข้าไปพบลูกค้าเพื่อหารือแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเหมาะสมกับสภาพปัญหาแต่ละราย อาทิ การผัดผ่อนเวลาชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น เพื่อแบ่งเบาภาระเกษตรกร ซึ่งจะมีการกำหนดเวลาชำระหนี้ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับรายได้
สำหรับ เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เป็นสมาชิก กฟก.และเป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด รวมทั้งเป็นหนี้ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ ครม.มีมติให้ความช่วยเหลือไว้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 โดยกำหนดหลักเกณฑ์ ไว้ กล่าวคือต้องเป็นหนี้ NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 มีหนี้ต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และมูลเหตุแห่งหนี้ เป็นหนี้ที่เกิดจากความสุจริตจำเป็นกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในวัตถุประสงค์การเกษตร สำหรับการช่วยเหลือ กฟก.จะชำระหนี้แทนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ และรับโอนหนี้ดังกล่าวไปเป็นลูกหนี้ของ กฟก. ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กฟก. ได้ชำระหนี้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ไปแล้ว จำนวน 3,318 ราย จำนวนเงิน 825 ล้านบาท ซึ่งการช่วยเหลือตามแนวทางดังกล่าวที่ผ่านมา มีปัญหาอุปสรรค หลายประการ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ฯกฟก.เฉพาะกิจ ขึ้นเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายที่จำเป็นเร่งด่วน ให้มีความคืบหน้า
โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส.เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถชำระหนี้และอยู่ในหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 เมษายน 2553 จำนวน 1,150 ราย ทั้งนี้ หนี้ดังกล่าว ธ.ก.ส. ได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนแล้ว การดำเนินการตามมติ ครม. จึงไม่ส่งผลต่อฐานะทางการเงินของ ธ.ก.ส. แต่อย่างใด สำหรับการช่วยเหลือในครั้งนี้ ธ.ก.ส.จะได้ประสาน กฟก. ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งแล้ว ดำเนินการชำระหนี้แทนเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์งวดแรกจำนวน 716 ราย จำนวนเงินประมาณ 130 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่มีปัญหาเร่งด่วนที่เหลือ จำนวน 434 ราย ที่อยู่ระหว่างดำเนินการคณะกรรมการ กฟก.เฉพาะกิจ จะได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป ซึ่งอาจจะใช้แนวทาง ตามมติ ครม.วันที่ 7 เมษายน 2553 โดยรัฐจัดสรรงบประมาณ ให้ กฟก. มาชำระหนี้แทนเกษตรกร หรือ จะใช้มาตรการแนวทางที่ ธ.ก.ส. มีอยู่ในปัจจุบันก็จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เช่นกัน โดยจะเร่งรัดดำเนินการอย่างรวดเร็วต่อไป