- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 21 October 2017 12:39
- Hits: 11087
'อาชีพเลี้ยงไก่'ตลาดโตทุกปี สร้าง 'เศรษฐี'หน้าใหม่ได้ตลอด
'ไก่' นับเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555-2559) การผลิตไก่เนื้อของไทยมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 6.8 ต่อปี จากปริมาณความต้องการบริโภคไก่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดยปี 2559 ประเทศไทยมีปริมาณผลผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า เนื่องจากมีการขยายตลาดส่งออกเป็นหลัก ประกอบกับการเติบโตของตลาดในประเทศ และต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลงตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นต้น
ไก่เนื้อ
'ไก่เนื้อ' หรือ'ไก่กระทง'ป็นสายพันธุ์ไก่เชิงพาณิชย์ ที่เน้นผลิตในปริมาณมากเพื่อให้ได้ผลกำไรสูงสุด แต่มีต้นทุนต่ำสุด ไก่เนื้อส่วนใหญ่ถูกนำเข้าสายพันธุ์มาจากบริษัทเอกชนผู้จำหน่ายสายพันธุ์สัตว์ในซีกโลกตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อที่โตเร็ว กินอาหารได้มาก ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น เพียงไม่กี่สัปดาห์ก็จับไก่ออกขายได้แล้ว ราคาไก่เนื้อไม่สูงนัก ผู้เลี้ยงก็อยู่ได้ เพราะว่าต้นทุนการผลิตต่ำ
ปัจจุบัน ไก่เนื้อ 1 ตัว ระยะเวลาการเลี้ยง 30-35 วัน เลี้ยงด้วยอาหารไก่กระทงอย่างเต็มที่ เมื่อครบกำหนดสามารถจับไก่ออกขาย จะได้น้ำหนักตัวเฉลี่ยตัวละประมาณ 1.8-2 กิโลกรัม โดยอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ (FCR) จะอยู่ที่ประมาณ 1.65-1.8 กิโลกรัม เนื่องจากไก่เนื้อที่นำมาปรุงอาหารยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ เนื้อหนังยังอ่อนนุ่ม และเลี้ยงขังในโรงเรือนแบบปิด โดยไม่มีการออกกำลังกาย ไก่เนื้อส่วนใหญ่จึงมีปริมาณไขมันสูงตามไปด้วย รสชาติไม่ค่อยอร่อยนัก
ปี 2559 ไทยมีปริมาณการผลิตไก่เนื้อ 1,550 ล้านตัว คิดเป็นปริมาณเนื้อไก่ 2.48 ล้านตัน โดยผลผลิตไก่เนื้อส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มาจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจครบวงจร ส่วนร้อยละ 10 เป็นผลผลิตจากฟาร์มเลี้ยงไก่ของเกษตรกรรายย่อย และจากการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไปสู่ระบบฟาร์มที่มีการควบคุมดูแลตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันโรคระบาดในฟาร์มเลี้ยงไก่ หลังเกิดวิกฤตโรคหวัดนก ในปี 2547 ส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไก่เนื้อเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในปัจจุบัน
ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อ ส่วนใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง อยู่ในความดูแลของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ราย อีกทั้งบริษัทจะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อ ใน “ระบบเกษตรพันธสัญญา” หรือ ‘Contract Farming’ โดยจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ไก่ อาหารสัตว์ ยาสัตว์ของบริษัทมาใช้ในฟาร์มเกษตรกร เมื่อครบกำหนดจะรับซื้อผลผลิตคืนในราคาประกัน
เกษตรกรที่ทำเกษตรพันธสัญญาส่วนใหญ่มีรายได้ดีกว่าเดิม และไม่มีความเสี่ยงทางด้านตลาด เพราะมีตลาดรองรับซื้อผลผลิตแน่นอน สามารถขายได้ในราคาที่ชัดเจน นอกจากนี้ บริษัทยังช่วยสนับสนุนข้อมูล ข่าวสารการตลาด เพิ่มพูนเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงไก่เนื้อในระบบเกษตรพันธสัญญาสามารถปรับตัวสอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์และการผันผวนของราคาและผลผลิตภาคเกษตร
ไก่พื้นเมือง
'ไก่พื้นเมือง' หรือ 'ไก่พื้นบ้าน'เป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญในชุมชนและท้องถิ่น และเป็นแหล่งอาหารที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยมาตลอด โดยเลี้ยงเพื่อป้อนตลาดไก่เนื้อและไข่ไก่ โดยไก่พื้นเมืองที่นิยมเลี้ยงกันมากและเป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่ ไก่ที่มีผิวหนังสีเหลือง และสีขนดำ เป็นต้น
การเลี้ยงไก่เนื้อพื้นเมืองแบบปล่อยอิสระตามธรรมชาติ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงนานกว่าการผลิตไก่เนื้อ ประมาณ 2 เท่า แถมกินอาหารมากกว่าไก่เนื้อ แต่เปลี่ยนเป็นเนื้อได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม เนื้อไก่พื้นบ้านกลับมีรสชาติอร่อยกว่าและมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการสูงกว่าไก่เนื้อที่ผลิตในเชิงพาณิชย์เสียอีก ที่สำคัญราคาไก่บ้านไทยสูงกว่าไก่เนื้อ แต่ผู้บริโภคก็ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดีกว่า ในแง่ของรสชาติอร่อย และเนื้อสัมผัสที่เหนียวนุ่ม แต่มีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าไก่เนื้อ
ทุกวันนี้'ไก่พื้นเมือง'กลายเป็นอาชีพทางเลือกของเกษตรกรรายย่อย เพราะใช้เงินทุนน้อย ดูแลจัดการง่าย ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และทนต่อการเป็นโรคได้ดี ความนิยมของไก่พื้นบ้านนั้นแยกออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือการบริโภคเนื้อไก่บ้าน การเลี้ยงในลักษณะไก่สวยงาม และการเลี้ยงไว้เพื่อกีฬาชนไก่
การเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติคือ ลักษณะเด่นของการเลี้ยงไก่พื้นบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจไก่พื้นบ้านเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใส ไก่พื้นบ้านในประเทศไทยจำแนกได้เป็น 4 พันธุ์ใหญ่ๆ คือ ไก่อูหรือไก่ชน ไก่แจ้ ไก่ตะเภา และไก่ลูกผสมหรือไก่กลายพันธุ์ ไก่พื้นเมืองไทยยังมีคุณลักษณะเด่นโดยเฉพาะเนื้อแน่น และรสชาติอร่อย จึงเป็นที่นิยมบริโภค
ไก่พื้นบ้านที่เลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบันมีความแตกต่างกันออกไปในเรื่องของพันธุ์ และสายพันธุ์ตามสภาพท้องที่ต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น ไก่แม่ฮ่องสอน ไก่แม่ฟ้าหลวง ไก่ชี้ฟ้า (ภาคเหนือ) ไก่คอล่อน ไก่เบตง (ภาคใต้) ไก่เหลืองหางขาว หรือ ไก่ชนนเรศวร (ภาคเหนือตอนล่าง พิษณุโลก) ไก่ประดู่หางดำ หรือไก่พ่อขุน (สุโขทัย) ไก่เขียวหางดำ หรือไก่พระยาพิชัย (อุตรดิตถ์)
ระยะหลังเกษตรกรหันมาเลี้ยงไก่พื้นเมืองกันเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ไก่พันธุ์ประดู่หางดำ ไก่พันธุ์เหลืองหางขาว ไก่พันธุ์แดง ไก่พันธุ์ชี และไก่พื้นเมืองลูกผสม ฯลฯ เพราะแรงจูงใจจากการขายไก่พื้นเมืองได้ราคาสูงกว่าไก่เนื้อ แถมเนื้อไก่พื้นเมืองก็มีรสชาติอร่อย จึงมีคนไทยหันมาบริโภคไก่พื้นเมืองมากขึ้นทุกปี สร้างรายได้สะพัด ไม่ต่ำกว่าปีละ 34,936 ล้านบาท
กีฬา 'ชนไก่'เป็นกิจกรรมสันทนาการที่สร้างความสนุกสนานในแต่ละครั้งแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม 'ไก่เก่ง' ได้อย่างมหาศาล ไม่ต่ำกว่า 10-100 เท่าตัวกันทีเดียว คาดว่ามีจำนวนไก่ชนในประเทศประมาณ 16-17 ล้านตัว ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
'ไก่ย่าง' เป็นอาหารเมนูหลักของชาวอีสาน ที่แปรรูปมาจากไก่พื้นเมือง เช่น 'ไก่เนื้อโคราช'ที่มีลักษณะเด่นคือ เลี้ยงง่าย ทนโรค ทนแล้ง โตไว ใช้เวลาเลี้ยงแค่ 2 เดือน จะได้ไก่เนื้อตัวละ 1.2 กิโลกรัม ออกขายได้แล้ว ไก่เนื้อโคราช มีคุณสมบัติด้านรสสัมผัสของเนื้ออยู่ระหว่างกลางของไก่เนื้อกับไก่พื้นเมือง ไม่นุ่มเละเหมือนไก่เนื้อ ไม่เหนียวแข็งเหมือนไก่พื้นเมือง เมื่อนำไปปรุงอาหาร’ไก่เนื้อโคราช’จะให้รสสัมผัสเหนียวนุ่ม ชุ่มฉ่ำ ติดสปริง อร่อยแบบไก่ไทย โตเต็มวัยเหมือนไก่ฝรั่ง จัดอยู่ในกลุ่มเนื้อไก่เพื่อสุขภาพ เพราะมีโปรตีนสูง มีคอลลาเจนสูงกว่าไก่เนื้อ 2 เท่า แต่มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ “ไก่เนื้อโคราช” ตอบโจทย์สำหรับคนที่รักสุขภาพได้ดี
ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ ไก่เหลืองหางขาวกบินทร์ ไก่แดงสุราษฎร์ และไก่ชีท่าพระ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งแต่ ปี 2545-2550 ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าว ทำให้เมืองไทยได้ไก่พื้นเมืองพันธุ์แท้ที่มีลักษณะประจำพันธุ์ที่แน่นอน เหมาะสำหรับการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ หากวางแผนการเลี้ยงและการจัดการที่ดี จะให้ผลผลิตสูงกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป เพราะมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วกว่า ที่สำคัญเกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ โดยเปิดเป็นโรงฆ่าและลงทุนเปิดร้านค้าจำหน่ายเนื้อไก่สด ซึ่งจะเป็นการพัฒนาอาชีพที่ครบวงจรและยั่งยืน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นความสำคัญของตลาด 'ไก่พื้นเมือง'จึงมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมปศุสัตว์ จัดสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่พื้นเมือง เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรรายย่อยสามารถปฏิบัติและพัฒนาฟาร์มเลี้ยงไก่พื้นเมืองเข้าสู่ระบบมาตรฐาน และพัฒนาคุณภาพเนื้อไก่พื้นเมืองให้สะอาดและปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในวงกว้าง รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดสัตว์ปีก ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองได้ผลผลิตคุณภาพสูงขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต
มาตรฐานฯ ดังกล่าว ครอบคลุมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองไทยและไก่พื้นเมืองลูกผสม และมีการกำหนดเกณฑ์การเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบเลี้ยงปล่อยอิสระ (Free-range) ภายนอกโรงเรือนอย่างเพียงพอ ไม่น้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อให้ไก่พื้นเมืองมีความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ มีต้นไม้เป็นร่มเงาให้ไก่ได้พักผ่อน มีหญ้าหรือพืชที่เป็นอาหารให้ไก่จิกกิน อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ โดยแปลงปลูกพืชดังกล่าวต้องมีการหมุนเวียนพักแปลง หากพืชอาหารไม่เพียงพอ สามารถเสริมหญ้าหรือพืชจากภายนอกได้ ซึ่งรูปแบบการเลี้ยงดังกล่าว แตกต่างจากการเลี้ยงไก่เนื้อ และไก่ไข่เชิงพาณิชย์ ที่เลี้ยงในโรงเรือนแบบปิด
เมื่อมาตรฐานฯ ไก่พื้นเมืองถูกประกาศใช้ จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้เติบโตแบบก้าวกระโดดกันเลยทีเดียว เพราะอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อ-ไก่ไข่ มีมาตรฐานฟาร์มครบวงจรหมดแล้ว ทั้ง GAP, GMP และอื่นๆ เหลือแต่ไก่พื้นเมืองเท่านั้น ที่ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาโอกาสทางการค้าและขยายช่องทางการตลาดโดยเฉพาะกลุ่มตลาดโมเดิร์นเทรด และภัตตาคารร้านอาหารระดับพรีเมี่ยม ที่สนใจซื้อเนื้อไก่พื้นเมืองเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารเมนูพิเศษกันมากขึ้น เพราะไก่พื้นเมืองมีรสชาติดี เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม มีไขมันต่ำ นำมาปรุงอาหารได้อร่อย
ประเทศไทยมีไก่พื้นเมืองลักษณะดีจำนวนมาก ที่สามารถต่อยอดขยายสู่การเลี้ยงเชิงพาณิชย์ในอนาคต เพราะอยู่ในกลุ่มสินค้าขายดี มีศักยภาพทางการตลาดที่สดใสมาก เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพียงแต่ว่าตอนนี้การเลี้ยงไก่บ้านไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก กำลังการผลิตกับความต้องการของตลาดยังไม่สอดคล้องกัน จึงอยากเชิญชวนผู้สนใจหันมาลงทุนเลี้ยงไก่พื้นบ้าน เพื่อสร้างงาน สร้างเงินอย่างยั่งยืนในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จึงจัดสัมมนา 'ไก่เนื้อ ไก่พื้นเมือง สัตว์เศรษฐกิจทำเงิน' ขึ้น ในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2560 เวลา 08.00-16.00 น. ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดยเนื้อหาการสัมมนาเป็นการแนะวิธีการเลี้ยง การดูแล การแปรรูป รวมถึงการตลาด จากวิทยากรมืออาชีพจากกรมปศุสัตว์ โกช้าง-คุณธนันทัรัฐ อุดมธันยรัตน์ เจ้าของฟาร์มไก่เบตง จังหวัดยะลา คุณสุธน สังจันทร์ ผู้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงไก่สวยงามนานาชาติในอาเซียน คุณ ณ นพชัย ผิวเกลี้ยง ผู้สร้างตลาดไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์จนประสบความสำเร็จ รวมถึงคุณกนกพรรณ โพธิ์รัศมี เจ้าของร้าน ตาแป๊ะไก่ย่าง 2 ที่โด่งดังในอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ค่าใช้จ่ายตลอดการสัมมนา 650 บาท
ท่านใดสนใจ โทรศัพท์สอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่ 02-580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342 และ 2343
บรรยายภาพ
1 ไก่ชี้ฟ้า
2 ไก่แม่ฟ้าหลวง
3 อุตสาหกรรมไก่เนื้อ
4 การเลี้ยงไก่พื้นบ้านแบบปล่อยอิสระในป่าไผ่
5 ไก่ย่างท่าช้าง สินค้าขายดีของจังหวัดนครราชสีมา
6 ไก่ดำเคยู-ภูพาน
7 ไก่เบตง
8 อุตสาหกรรมไก่เนื้อ (ไก่ดำ)
9 การเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ในโรงเรือนกึ่งขังกึ่งปล่อย
10 ไม่มีบรรยาย
11 ไก่ตีนโต