- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 09 October 2017 22:58
- Hits: 8086
ก.เกษตรฯ จับตาทิศทางตลาดปาล์มโลกยังฉุดราคา เดินหน้า ร่าง พ.ร.บ. ปาล์มน้ำมันฯ บริหารจัดการทั้งระบบ
สศก. แจงทิศทางความต้องการใช้ปาล์มในตลาดโลกเพิ่มขึ้นแต่ยังน้อยกว่าสัดส่วนการเพิ่มของผลผลิต ฉุดราคาลดลง แต่ยังคงสูงกว่าต้นทุนการผลิตปี 60 ย้ำ แนวทางดำเนินงานร่าง พ.ร.บ. ปาล์มน้ำมันฯ สอดรับยุทธศาสตร์ปฏิรูปปาล์มฯ ปี 60-79 ชี้ชัดจะช่วยระบบการบริหารจัดการอุตสาหกรรมปาล์ม อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวที่เป็นเอกภาพ
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตน้ำมันปาล์มน้ำมันของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.22 ต่อปี ส่วนความต้องการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.98 ต่อปี ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2.55 ต่อปี ซึ่งกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) คาดว่าในปี 2560 ผลผลิตน้ำมันปาล์มของโลกจะมีปริมาณ 62.32 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ซึ่งมีจำนวน 58.83 ล้านตัน (ร้อยละ 5.93) เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากการเกิดภาวะลานีญา ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในตลาดโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.98 ต่อปี ทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มของโลกยังคงอยู่ในระดับสูง อยู่ที่ 7.73 ล้านตัน โดยในปี 2560 คาดว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 21.00 - 23.00 บาท
จากการคาดการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันของ สศก. พบว่า ในปี 2560 มีเนื้อที่ให้ผล 4.84 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีจำนวน 4.56 ล้านไร่ (ร้อยละ 6.14) มีผลผลิตปาล์มน้ำมัน 11.71 ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 2.04 ล้านตัน (อัตราน้ำมัน 17.45) โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในไตรมาสที่ 2 ออกสู่ตลาด 3.83 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่มีจำนวน 2.61 ล้านตัน (ร้อยละ 31.62) ซึ่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 มีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ 0.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่มีจำนวน 0.27 ล้านตัน (ร้อยละ 66.67) ส่งผลราคาผลปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ไตรมาสที่ 2 ราคาผลปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 4.07 บาท ลดลงจากช่วงไตรมาส 1 ที่กิโลกรัมละ 5.38 บาท (ร้อยละ 24.33)
อย่างไรก็ตาม ระดับราคาดังกล่าวยังคงสูงกว่าต้นทุนการผลิตของปี 2560 โดยต้นทุนการผลิตเฉลี่ย กิโลกรัมละ 3.06 บาท ประกอบกับในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สต็อกน้ำมันปาล์มของไทยมีแนวโน้มลดลง (ณ สิ้นเดือนสิงหาคม จำนวนสต๊อก 0.43 ล้านตัน) โดยคาดว่าในปี 2560 ราคาผลปาล์มที่เกษตรกรได้รับเฉลี่ยที่กิโลกรัม 4.20 บาท
สำหรับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย ระยะสั้น กระทรวงพลังงานออกประกาศปรับสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล จาก B5 เป็น B7 ซึ่งจะมีการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 12,000 ตัน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2560 และกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในขอความร่วมมือกรมธุรกิจพลังงานให้ประสานผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ปรับสำรองไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น และให้สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มและสมาคมไบโอดีเซล รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบไม่ต่ำกว่า กิโลกรัมละ 22 บาท รวมทั้งห้างค้าส่ง-ปลีก สมัยใหม่ (Modern Trade) งดจัดรายการส่งเสริมการขายน้ำมันพืชปาล์ม
นอกจากนี้ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการโรงสกัดน้ำมันปาล์มและลานเทต้องปิดป้ายแสดงราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายตามอัตราน้ำมันตั้งแต่ร้อยละ 18-22 และให้ปรับลดหรือเพิ่มราคารับซื้อลงหรือขึ้น ไม่น้อยกว่า กิโลกรัมละ 0.30 บาทต่ออัตราน้ำมันที่ลดหรือเพิ่มขึ้นทุกร้อยละ 1 โดยต้องรับซื้อไม่ต่ำกว่าราคาที่แสดง และห้ามไม่ให้มีการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อผลปาล์มร่วง รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ โดยองค์การคลังสินค้า ได้อยู่ระหว่างหาแนวทางเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการส่งออกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ศึกษาวิธีการสนับสนุนให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์ม วิธีการซื้อ ตลาดต่างประเทศ ประมาณการงบประมาณ การจัดซื้อ ส่วนต่างราคาและค่าใช้จ่าย การดำเนินการ ตลอดจนผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินการ โดยในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้รวม 52,629 ตัน
ระยะยาว มีการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบปี 2560–2579 ซึ่ง ครม. มีมติรับแล้วเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1) การเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันต่อไร่และการลดต้นทุนการผลิต 2) การส่งเสริมการทำปาล์มคุณภาพเพื่อเพิ่มอัตราการสกัดน้ำมันจากร้อยละ 17 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2579 ซึ่งเกษตรกรจะได้รับราคาที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่ากิโลกรัมละ 0.30 บาทต่ออัตราน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุกร้อยละ 1 และ 3) การเพิ่มช่องทางการใช้น้ำมันปาล์มให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลเป็น B10 การพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันหารือแนวทางในการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อให้ปริมาณการผลิตและการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศเกิดดุลยภาพและระบบราคามีเสถียรภาพ รวมถึงผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 และขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา คาดว่าในขั้นตอนนี้จะใช้เวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี และเมื่อกฤษฎีกาฯ ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ แล้วเสร็จจะส่งให้ คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ เป็นกฎหมายที่ทำให้ระบบการบริหารจัดการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอยู่ภายใต้กฎหมายเดียว เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เป็นเอกภาพ และมีระเบียบ ข้อบังคับให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมต้องปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบให้มีศักยภาพ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ทำหน้าที่เสนอแนวทางการพัฒนา โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมต้องขึ้นทะเบียนและร่วมจ่ายสมทบเข้ากองทุน พร้อมทั้งมีบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม
ร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ จะมีกองทุนปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เป็นส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ. ฯ และเป็นหัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ ที่จะทำให้การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ตลอดห่วงโซ่อุปทานให้มีเสถียรภาพ มีศักยภาพในการแข่งขัน เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางการดำเนินกองทุนฯ จะให้การสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนา และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด และการแปรรูปของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สนับสนุนทุนสงเคราะห์ปลูกทดแทนปาล์มน้ำมันและพืชทดแทนอื่นในพื้นที่เดิม ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
สร้างความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มเกษตรกร โดยหลักสำคัญของกองทุนฯ จะไม่ใช้เงินของกองทุนฯ ไปแทรกแซงราคา ซึ่งจะเป็นการทำลายกลไกตลาด โดยกองทุนปาล์มน้ำมันฯ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน คือ ผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ในการสนับสนุนส่งเงินสมทบให้กองทุนฯ เพิ่มเติมจากแหล่งเงินอื่นๆ เช่น ประเดิมจากรัฐบาล เงินงบประมาณประจำปี ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงบประมาณต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม
โดยแนวทางการดำเนินงานของร่าง พ.ร.บ.ฯ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ทั้งระบบ ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มมีศักยภาพ และขณะนี้ สศก. ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฯ เช่น การจัดทำกฎหมายลำดับรอง และกองทุนปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เมื่อ พ.ร.บ.ฯ ผ่านกระบวนการพัฒนากฎหมาย และได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้มีผลบังคับใช้แล้ว สศก. จะสามารถผลักดันให้ พ.ร.บ. ฯ ดำเนินการได้อย่างเต็มที่ และคาดหวังว่าจะช่วยให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มพัฒนาไปสู่เป้าประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย