- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 08 October 2017 22:14
- Hits: 10996
รมช.เกษตรฯ พอใจชาวนาสนใจร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์-ข้าว GAP ครบวงจร
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจรที่ จ.ขอนแก่น แล้วพบว่ากลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการให้ความสนใจในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก การลงพื้นที่ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงการซื้อขายผลผลิตข้าวอินทรีย์จากโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์และข้าว GAP จากโครงการนาแปลงใหญ่ โดยนำเกษตรกรและผู้ประกอบการมาพูดคุยทำความเข้าใจถึงรายละเอียดของการซื้อขายข้าวในโครงการเชื่อมโยงตลาดฯ อาทิ ชนิดข้าว ปริมาณผลผลิต จุดซื้อขาย เป็นต้น
รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยทำความเข้าใจกันแล้ว ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการซื้อขายผลผลิตข้าว (MOU) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร โดยแบ่งจุดลงนามออกเป็น 2 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โนนพริก ต.โคกสง่า อ.พล จ.ขอนแก่น ประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกรจากอำเภอพล อำเภอแวงใหญ่ และอำเภอโนนศิลา และ 2) สหกรณ์เครดิตยูเนียนหนองสองห้อง จำกัด ประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกรจากอำเภอหนองสองห้อง อำเภอบ้านฝาง อำเภอชุมแพ อำเภอพระยืน อำเภอหนองเรือ อำเภอสีชมพู อำเภอเมือง อำเภออุบลรัตน์ และอำเภอซำสูง โดยมีผู้ประกอบการค้าข้าวร่วมลงนาม จำนวน 8 ราย กลุ่มเกษตรกรโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ จำนวน 48 กลุ่ม และกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ จำนวน 2 กลุ่ม โดยมี รมช.เกษตรและสหกรณ์และผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม MOU ครั้งนี้
สำหรับ ผู้ประกอบการค้าข้าวที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้ สามารถขอให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี โดยมีระยะเวลาได้รับการชดเชยดอกเบี้ย คือ 1) ผู้ประกอบการค้าข้าวอินทรีย์ ได้รับการชดเชยดอกเบี้ย ในระยะเวลา 3 ปี และ 2) ผู้ประกอบการค้าข้าว GAP ได้รับการชดเชยดอกเบี้ย ในระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้สำหรับผู้ประกอบการที่รับซื้อข้าวอินทรีย์ จะได้รับการจัดสรรโควตาส่งออกไป EU จากกรมการค้าต่างประเทศตามสัดส่วนของพื้นที่ที่ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวจากเกษตรกร
ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการก็ได้ประโยชน์จากโครงการนี้เช่นกัน โดยจะมีผู้ซื้อรองรับแน่นอนทำให้สามารถขายข้าวได้ในราคาสูงกว่าข้าวทั่วไปอย่างน้อย 300-500 บาท แล้วแต่ชนิดข้าว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้าว โดยเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร หรือผู้ประกอบการที่สนใจรับซื้อผลผลิตคุณภาพจากกลุ่มเกษตรกร สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด หน่วยงานของกรมการข้าวในพื้นที่ หรือโทรสายด่วนหมอข้าว 1170 กด 4
อินโฟเควสท์