- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 25 August 2014 23:32
- Hits: 2783
ก.เกษตรฯ รุกนวัตกรรมการสำรวจข้อมูลเกษตร สศก. ร่วมประยุกต์ไอทีดึงประเมินเนื้อที่และผลผลิต
ก.เกษตรฯ ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เปิดเวทีประชุมนวัตกรรมสำหรับการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติการเกษตรและชนบท เดินหน้าพัฒนาปรับปรุงการสำรวจเนื้อที่เพาะปลูกและพยากรณ์ผลผลิตข้าว โดยนำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลมาประยุกต์ใช้วางแผนด้านการเกษตรของประเทศ
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง นวัตกรรมสำหรับวิธีการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับสถิติการเกษตรและชนบท (Innovative Data Collection Methods for Agricultural and Rural Statistics) ซึ่ง สศก. ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asia Development Bank : ADB) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จัดขึ้นเพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการสำรวจเนื้อที่เพาะปลูกและพยากรณ์ผลผลิตข้าว โดยนำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาประยุกต์ใช้สนับสนุนการวางแผนด้านการเกษตรของประเทศ
ตลอดจนเพื่อสนับสนุนงานด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ซึ่งทางธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย ได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่ เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพระบบการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและพยากรณ์ผลผลิตข้าวใน 4 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย ภายใต้กรอบการช่วยเหลือตามโครงการ R-CDTA 8369 Innovative Data Collection Methods for Agricultural and Rural Statistics ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก Japan Fund for Poverty Reduction (JFPR) โดยมี Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) เป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาด้านเทคนิค ทั้งนี้ โครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินงานระหว่าง พฤษภาคม 2557 ถึง กรกฏาคม พ.ศ.2559
สำหรับประเทศไทย สศก. และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้นำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวของประเทศ นำร่องพื้นที่จังหวัดอ่างทอง โดยใช้ข้อมูลดาวเทียม ALOS-2 ซึ่งเป็นข้อมูลดาวเทียมในระบบ SAR ที่มีคุณสมบัติสามารถถ่ายภาพทะลุเมฆได้ ทำให้สามารถได้มาซึ่งข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมสำหรับวิเคราะห์แม้กระทั่งฤดูฝน ทั้งนี้ การดำเนินงานตามโครงการฯ ประกอบกิจกรรมหลักๆ ดังนี้
1.การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์และวิธีการสำหรับประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลอื่นๆ ร่วมกับวิธีการ Crop Cutting ในระดับจังหวัด มีการตรวจสอบความถูกต้องของผลการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าว อย่างน้อย 2 ฤดูกาลเพาะปลูก สร้างแผนที่พื้นที่เพาะปลูกข้าว ที่สั่งภาพถ่ายดาวเทียมทุกเดือน กำหนดให้มีการสำรวจภาคสนาม 2 ครั้ง โดยการสำรวจภาคสนามครั้งที่ 1 เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการวิเคราะห์เนื้อที่เพาะปลูก ส่วนการสำรวจภาคสนามครั้งที่ 2 เป็นการประเมินความถูกต้องของการพัฒนาโปรแกรมเพื่อประเมินผลผลิต ด้วยวิธี Crop Cutting ขนาด 1 ตารางเมตร เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลผลผลิตจากโปรแกรมกับข้อมูลสำรวจภาคสนาม
2.การฝึกอบรมคณะทำงานให้กับประเทศนำร่อง ทั้ง 4 ประเทศ และ 3. การพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมออนไลน์ (Online) ในการใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับงานด้านสถิติการเกษตรและชนบท ภายหลังจากที่มีการพัฒนาโปรแกรมแล้วเสร็จ