- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 29 September 2017 10:14
- Hits: 3160
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จันทบุรีมั่นใจเดินหน้าเทคนิค 3 สะอาด ของ ซีพีเอฟ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการและผลผลิต แก้ปัญหาโรคกุ้ง ปลดหนี้ได้
เกษตรกรสหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน จำกัด มั่นใจวิธีทำฟาร์มกุ้งระบบ 3 สะอาด ป้องกันโรคได้ เร่งปรับพื้นที่เลี้ยงเพิ่มผลผลิตและรายได้ หวังปลดหนี้จากการขาดทุนสะสมในช่วงที่เกิดโรคกุ้งและอาการตายด่วน (Early Mortality Syndrome หรือ EMS) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันสมาชิกสหกรณ์ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ได้มีการปรับพื้นที่การเลี้ยงกุ้งตามแนวทาง 3 สะอาด เพิ่มขึ้นจาก 3 รายเป็น 11 ราย ผลประสบความสำเร็จมากกว่า 90% และมีการขยายพื้นที่เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เกษตรกรไม่มั่นใจลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่ตามแนวทางดังกล่าว
สำหรับ เทคนิคการเลี้ยงกุ้ง 3 สะอาด คิดค้นและพัฒนาโดยบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง การจัดการและแก้ปัญหาอาการกุ้งตายด่วน ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้ผลผลิตกุ้งไทยเสียหายไปกว่า 50% ในช่วงปี 2555-2559 โดยเทคนิคนี้จะให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบ คือ พื้นบ่อสะอาด น้ำสะอาดและลูกกุ้งสะอาดปลอดโรค
น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสาตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ขณะนี้ EMS ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ซีพีเอฟ ได้คิดค้นวิธี 3 สะอาด ประกอบด้วย พื้นบ่อสะอาด น้ำสะอาดและลูกกุ้งสะอาด รวมถึงการจัดการการเลี้ยงที่ดีและเหมาะสมซึ่งสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้ บริษัทฯยังมีนโยบายในการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับเกษตรกรทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการสร้างเกษตรกรตัวอย่างเพื่อเป็นต้นแบบในพื้นที่เลี้ยงกุ้งและให้เกษตรกรเป็นผู้ถ่ายทอดแนวทางการเลี้ยงและสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ
“เทคนิคการเลี้ยงกุ้ง 3 สะอาดนี้ จะเริ่มต้นจากน้ำใส ก้าวไปแบบน้ำโปร่ง (ไม่ขุ่นไม่มีตะกอนแขวนลอย) หากเกษตรกรเข้าใจและเชื่อมั่นปฏิบัติตามแนวทางการเลี้ยงอย่างถูกต้องและจริงจัง จะสามารถต่อสู้กับโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือโรคใหม่ๆ ในอนาคตได้แน่นอน ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งประสบความสำเร็จ นำไปสู่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของไทยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าในต่างประเทศและจะทำให้เรากลับมาเป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลกได้” น.สพ.สุจินต์ ย้ำ
สำหรับ การเลี้ยงกุ้งตามแนวทาง 3 สะอาด ของ ซีพีเอฟ เป็นการให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ โดยมีการกำหนดสัดส่วนระหว่างพื้นที่เก็บน้ำต่อพื้นที่การเลี้ยงที่เหมาะสมคือ 70:30 ซึ่งการลดพื้นที่การเลี้ยงกุ้งเพื่อนำไปใช้เป็นพื้นที่เก็บน้ำสะอาดมากขึ้น ให้เพียงพอต่อการใช้น้ำในฟาร์มตลอดระยะเวลาการเลี้ยงกุ้ง
น.สพ.สุจินต์ กล่าวต่อไปว่า การเลี้ยงตามแนวทาง 3 สะอาด ของ ซีพีเอฟ ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้มากขึ้น จากเดิมที่ผลผลิต 1,000 – 3,000 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 3,000 - 5,000 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งต่อกิโลกรัมลดลง และยังช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายจากโรคต่างๆ ได้
นายสิงหา สวัสดิภูมิ หนึ่งในสมาชิกสหกรณ์ฯที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงกุ้งตามแนวทาง 3 สะอาด ของ ซีพีเอฟ กล่าวว่า เริ่มเลี้ยงกุ้งตามแนวนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2559 หลังจากประสบปัญหาขาดทุนจากการเลี้ยงต่อเนื่องจากภาวะโรค EMS และมีหนี้สินประมาณ 600,000-700,000 บาท จนต้องหยุดเลี้ยงไปปีเศษ ในช่วงแรกที่เข้าประชุมกับโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อรับฟังการเลี้ยงกุ้งด้วยวิธี 3 สะอาดนั้นก็ยังไม่มั่นใจ แต่เมื่อได้รับทราบรายละเอียดและวิธีการอย่างเข้าใจจากผู้เชี่ยวชาญของ ซีพีเอฟ และเห็นผลสำเร็จของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จึงมั่นใจและนำแนวทางของบริษัทมาปรับเปลี่ยนฟาร์มของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันมีการจับกุ้งไปแล้ว 3 ครั้ง ได้รับผลกำไรทุกครั้งจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาก และสามารถแก้ปัญหาโรคได้
“หลังจากปรับเปลี่ยนมาใช้แนวทาง 3 สะอาด ผมจับกุ้งบ่อแรกก็สามารถใช้หนี้สินที่มีได้ทั้งหมด ตอนนี้ผมกำลังวางแผนจะขยายการเลี้ยงกุ้งด้วยวิธีนี้เพิ่มขึ้นอีก”นายสิงหา กล่าว
นายสิงหา กล่าวย้ำว่า วิธีการเลี้ยงกุ้งแบบ 3 สะอาด แม้จะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างฟาร์ม แต่ผลตอบแทนคุ้มค่า เพราะสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 1-3 ตันต่อบ่อต่อไร่ เป็น 4-5 ตันต่อบ่อต่อไร่ เนื่องจากการเลี้ยงมีประสิทธิภาพสูงขึ้น กุ้งแข็งแรง ที่สำคัญสามารถบริหารจัดการฟาร์มได้ดีขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะประสบปัญหาโรคขี้ขาวในกุ้ง แต่ทาง ซีพีเอฟ เข้ามาให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาและสามารถหยุดอาการของโรคได้ ทำให้ไม่ขาดทุนจากการเลี้ยง
นายปราโมทย์ เสนาะสรรพ์ เกษตรกรที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการ 3 สะอาด ในปีนี้ กล่าวว่า เมื่อสหกรณ์ฯเริ่มโครงการนี้ ตนยังไม่เชื่อมั่นว่าจะได้ผลผลิตมาก ประกอบกับยังไม่มีเงินทุนเนื่องประสบปัญหาขาดทุนจากการเลี้ยงและมีหนี้สินกับสหกรณ์ฯมากกว่า 1 ล้านบาท หลังจากที่เห็นเพื่อนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประสบความสำเร็จทุกคน จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวและไม่มีโรคระบาด ทำให้ตัดสินใจลงทุนปรับโครงสร้างบ่อใหม่ตามแนวทางดังกล่าว โดยปรับพื้นที่จากเดิมเป็นบ่อใหญ่ขนาด 7 ไร่ ได้ผลผลิตกุ้งรวมเพียง 2-3 ตันเท่านั้น เนื่องจากติดโรคตัวแดง-ตัวขาว และ EMS หลังจากปรับเปลี่ยนโครงสร้างฟาร์มกุ้งแล้วมีพื้นที่บ่อเลี้ยงขนาด 1.8 ไร่ เท่านั้น ที่เหลือเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ
สำหรับ ผลผลิตกุ้งรุ่นแรกจะจับก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้ คาดว่าผลผลิตจะได้ประมาณ 10 ตัน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการแบ่งจับไปบางส่วนแล้วประมาณ 3.4 ตัน ได้เงินมาชดเชยต้นทุนค่าปรับบ่อแล้ว ส่วนผลผลิตที่ยังอยู่ในบ่อคาดว่ามีมากกว่า 7 ตัน จะสามารถปลดหนี้ได้ทั้งหมด นายปราโมทย์ กล่าว
“การเลี้ยงแบบ 3 สะอาด เกษตรกรต้องเอาใจใส่ในการตรวจสอบสภาพบ่อและน้ำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้ลูกกุ้งแข็งแรง ไม่ติดโรคง่าย กินอาหารเยอะและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งมันคุ้มค่ากับการลงทุนและลงแรง” นายปราโมทย์ กล่าว.