- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 26 September 2017 19:35
- Hits: 9441
'คิง' สานฝันเกษตรกรมอบ 3 ทุนพอเพียง 3 โครงการต้นแบบตามศาสตร์พระราชา
เปิดตัว โครงการต้นแบบโดนใจคณะกรรมการผ่านฉลุยให้ทุนโครงการ 'ทุนพอเพียง'นำร่องโครงการแรก’ปั้นแท็งค์ กู้ดอย @ แม่ลาน้อย' จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการเล็กแต่ยิ่งใหญ่ของหนุ่มน้อยจากดอยสูงแม่ฮ่องสอน ที่มุ่งประโยชน์เพื่อนร่วมหมู่บ้านกว่าร้อยชีวิตได้มีน้ำใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้ง โครงการสอง ‘ปลูกป่า กู้ดิน@ท่าคันโท’ที่จังหวัดกาฬสิทธุ์ ของ 2 เกษตรกรที่มุ่งหวังคืนป่าฟื้นผืนดินให้ธรรมชาติ และโครงการสาม ‘ก่อคันนา กู้ข้าว@คลองลาน’ จังหวัดกำแพงเพชร ของอดีตข้าราชการที่หวังอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยให้ลูกหลานไทย
จากการที่กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง ต่อยอดการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จัดโครงการ ‘ทุนพอเพียง’โดยการรับสมัครบุคคลเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนที่กำหนดเพื่อคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจำนวน 60 คนเข้าร่วมโครงการ และจัดการอบรมหลักสูตรพิเศษภาคทฤษฎี เครือข่ายทุนพอเพียงและผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจำนวน 3 ท่าน จาก 3 พื้นที่เพื่อเป็นโมเดลในการบริหารจัดการพื้นที่ตามศาสตร์พระราชา โดยผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินจากกองทุนทุนพอเพียงตามความเหมาะสมภายใต้การกำกับดูแล ของกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิเกษตรกรรมธรรมชาติ
ปั้นแท็งค์ กู้ดอย @ แม่ลาน้อย'ฝันใหญ่ ไปถึง ของ'เอกพันธ์ เกียรติภูทอง' โครงการของเด็กหนุ่มชาวเขาจากยอดดอยวัย 23 ปี ที่พิชิตใจคณะกรรมการคัดเลือกจากโครงการทุนพอเพียง เพื่อรับทุนสนับสนุนพัฒนาพื้นดินดอยตามศาสตร์พระราชา มุ่งพัฒนาถิ่นเกิดให้ทุกชีวิตต้องอยู่ให้รอด ด้วยการสร้างแท็งค์น้ำขนาดจุ 7,000 ลิตรบนภูสูง เพื่อไว้ใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้ง พร้อมขุดคลองไส้ไก่ที่เชื่อมต่อลงสู่พื้นที่เกษตรกรรมด้านล่าง ถือเป็นโครงการแรกที่ได้เปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีเกษตรกรเครือข่ายจากหลายจังหวัดร่วมมา ‘เอามื้อ’ แสดงพลังสามัคคีลงแรงก่อแท๊งค์น้ำบนภูเขาสูงท่ามกลางสายฝนกระหน่ำ บ้านแม่กวางเหนือ อยู่บนพื้นที่สูง
การสัญจรออกสู่ภายนอกหมู่บ้านต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นหลัก ถนนสายหลักที่ใช้เดินทาง หลายช่วงเสียหายอย่างมากจากน้ำป่าไหลหลากและดินสไลค์ยากแก่การเดินทาง
พื้นที่ที่ เอกพันธ์ กำหนดไว้เป็นสถานที่ตั้งแท็งค์น้ำเป็นยอดภูเขาสูงที่เสื่อมโทรม ด้านหลังของโรงเรียนแม่กวางเหนือ ด้านล่างเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่บ้านชาวเขาปกากะญอ ที่มีอยู่ประมาณ 30 ครัวเรือน จำนวนประชากรกว่า 170 คน ที่ผ่านมาจะมีน้ำใช้ในการทำการเกษตรเฉพาะหน้าฝน เมื่อสิ้นหน้าฝนไปแล้วก็ไม่สามารถปลูกอะไรได้อีกเพราะขาดน้ำและแห้งแล้ง
เอกพันธ์ เกียรติภูทอง หรือน้องหนุ่ม ทายาทชาวไทยภูเขาปกากะญอ วัย 23 ปี จากบ้านแม่กวางเหนือ ต.ท่าผาปุ้ม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน จบการศึกษาระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ มีประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง เมื่อปี 2558 ก่อให้เกิดพลังความคิด และนำมาเริ่มลงมือทำตามความรู้ที่ได้ไปอบรมมาปรับใช้ในพื้นที่บ้านเกิด ซึ่งเป็นการดำเนินรอยตามศาสตร์ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อการเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร และอุปโภค บริโภค ในหน้าแล้ง ซึ่งในตอนนั้นความตั้งใจที่แรกคือ ต้องหางานทำเสียก่อนเพื่อเก็บเงิน จึงตั้งใจจะหางานทำก่อน เพื่อเก็บเงินมาใช้เป็นทุนในการดำเนินการสร้างตามความฝัน
เอกพันธ์ เล่าว่า ได้รับทราบข่าวโครงการทุนพอเพียง จากสื่ออินเตอร์เน็ต จึงได้ทำการเสนอโครงการผ่านศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ขณะที่เพิ่งเริ่มทำงานที่สมัครได้ประมาณ 1 เดือน การได้รับทุนตามโครงการ ช่วยย่นระยะเวลาการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำตามฝันของเขาให้เร็วขึ้น หลังการประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านการคัดเลือก การดำเนินการต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาพการร่วมมือจากเกษตรกรเครือข่ายในวันเปิดตัวโครงการและส่งมอบโครงการ เต็มไปด้วยพลังแห่งความสามัคคี ร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมก่อสร้าง แท็งค์เก็บน้ำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร สูง 3 เมตร สามารถเก็บน้ำได้ 7,000 ลิตร ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจาก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร แห่งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ในวันมอบทุนพอเพียงจากผู้บริหารกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง
เอกพันธ์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนสำหรับการก่อสร้าง แท็งค์น้ำตามโครงการ ‘ปั้นแท็งค์ กู้ดอย’ โดยการใช้แนวร่วมเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 13-20 ปี มีจำนวนประมาณ 20 คน ด้วยการให้แนวคิด และร่วมลงมือทำ ซึ่งถือเป็นการลงรากฐานการพัฒนาท้องถิ่นจากสิ่งที่มีและร่วมมือกันตามศาสตร์พระราชา ให้เกิดความมั่งคงในระยะยาว การมีน้ำใช้พอเพียงจะหล่อเลี้ยงพืชพันธ์หลักท้องถิ่นประกอบด้วย ข้าวไร่ ฟักทอง ถั่วฝักยาว เผือก มัน นอกจากความร่วมมือจากเยาวชนในหมู่บ้านแล้ว ยังมีแนวร่วมภาคราชการที่ร่วมสนับสนุนเช่นองค์การบริหารส่วนตำบลท่าผาปุ้ม โรงเรียนบ้านแม่กวางเหนือ ตลอดจนข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น ที่แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีเพื่อดำเนินโครงการตามรอยศาสตร์พระราชานี้ให้สำเร็จ
โครงการสอง 'ปลูกป่า กู้ดิน@ท่าคันโท' ของสองสามีภรรยา นายสังทอง ตะคุ และนางทองพูล ตะคุ จากจังหวัดกาฬสินธ์ ที่ได้รับการพิจารณาให้รับทุนพอเพียงจากกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง โดยมีแนวคิดที่จะทำโครงการในรูปบบ ‘สวนทำธรรม กสิกรรมวิถี ปลดหนี้สร้างสุข โคก หนอง นา และที่พักสงฆ์’ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการขอร้องของลูกชายที่บวชเป็นพระให้ไปเข้าร่วมอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จนเกิดแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนจากวิถีเกษตรแบบเดิมด้วยการคืนผืนป่าให้ธรรมชาติ ปรับพื้นที่ 16 ไร่ เพื่อเตรียมทำศูนย์เรียนรู้ ลงมือปลูกยางนา และมะค่า โดยโครงการนี้จะ ‘เอามื้อ’ จากเกษตรกรเครือข่ายทั่วประเทศมาช่วยกันปลูกกล้าไม้ในพื้นที่ ช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งเจ้าตัวยังเปิดเผยว่าพร้อมจะขยายพื้นที่ออกไปอีกหากดำเนินการในส่วนแรกแล้วเสร็จ และอยากให้มีการส่งเสริมด้านเงินทุน
และโครงการที่ 3 ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมกมรให้ได้รับทุนจากโครงการทุนพอเพียง เป็นของนางอรพันธ์ พูลสังข์ เกษตรกรชาว คลองลานจังหวัดกำแพงเพชร ชื่อโครงการ ‘ก่อคันนา กู้ข้าว’ เป็นโครงการที่เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอจากพื้นที่ 9 ไร่ ที่มีสภาพตามภูมิศาสตร์เป็นที่ต่ำ และลาดเอียง และทำนาได้อย่างเดียวเพียงปีละ 1 ครั้ง ด้วยการปรับเปลี่ยนคันนาเดิมที่มีขนาดเล็ก มาปั้นคันนาใหม่ให้มีความสูง 1.5 เมตร มีความกว้างระหว่าง 1.5 – 2 เมตร บนคันนาสามารถปลูกพืชมันสำปะหลัง หรืออ้อยได้ พื้นที่เกษตรใหม่จะประกอบด้วยคันนา ร่องน้ำ และที่นา สำหรับโครงการนี้เกษตรกรเครือข่ายจะร่วมกัน’เอามื้อ’เพื่อปั้นคันนาในพื้นที่ในช่วงเดือนตุลาคม