- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 18 September 2017 18:58
- Hits: 2958
ธ.ก.ส.ลุยแก้หนี้นอกระบบเกษตรกร ณ ห้องประชุมเลิศธานีคอนเวนชั่น ฮอลล์ โรงแรมเลิศธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการลงทะเบียนโครงการสวัสดิการรัฐ ปี 2560 ทั้งหมด 14.1 ล้านราย ลงทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส. 7.7 ล้านราย เป็นหนี้นอกระบบจำนวนประมาณ 620,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้จำนวน 30,000 ล้านบาท เฉลี่ยหนี้ต่อรายประมาณ 50,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบสำหรับเกษตรกร และ ครอบครัว โดยให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อนำไปชำระหนี้สินนอกระบบ เป็นการลดภาระทางการเงินให้กับเกษตรกร โดย ธ.ก.ส. เตรียมวงเงินกู้ไว้รวม10,000 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดได้รายละไม่เกิน 100,000 บาท กรณีใช้บุคคลค้ำประกัน และสูงสุดไม่เกิน 150,000 บาท กรณีใช้ที่ดินจำนองค้ำประกัน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน หรือ ร้อยละ 12 บาทต่อปี ผลดำเนินงาน ปัจจุบัน จ่ายสินเชื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้แล้ว 41,545 ราย เป็นเงินสินเชื่อ 4,219.53 ล้านบาท ซึ่งนอกจากการนำหนี้นอกระบบ ให้เข้ามาอยู่ในระบบแล้ว
ธ.ก.ส.ยังมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ในการดำเนินชีวิต ของเกษตรกรด้วย การให้ความรู้ การทำบัญชีครัวเรือน การประหยัดอดออม การสร้างรายได้จากอาชีพเสริม เช่น การปลูกเมล่อน การทำปลาส้ม และการทำผ้าด้นมือ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหามีความยั่งยืน มากขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกษตรกร กลับไปก่อหนี้นอกระบบขึ้นอีก ธ.ก.ส. ได้เตรียมวงเงินสินเชื่ออีกจำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกร ดังกล่าว สามารถกู้เงินกรณีมีความจำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในครัวเรือน ต่างๆ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น โดยมีการผ่อนคลาย หลักประกัน เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันจ่ายสินเชื่อนี้แล้วจำนวน 3,691.55 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรได้จำนวน 77,723 ราย
"สำหรับ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ธ.ก.ส. จะดำเนินการแก้ไขหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ ตามนโยบายของ กระทรวงการคลังด้วยการ เปิดจุดบริการ ให้คำปรึกษาแนะนำ โดยมุ่งเน้นเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และ แจ้งว่ามีหนี้นอกระบบ สำหรับการดำเนินการ จะมีการให้สินเชื่อเพื่อนำหนี้นอกระบบ ให้เข้ามาอยู่ในระบบมีการอบรมให้ความรู้ เกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการดำเนินชีวิตโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวปฏิบัติ รวมทั้ง การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน กรณีจำเป็นเพื่อป้องกัน มิให้เกษตรกรหวนกลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก ทั้งนี้จะทำงานร่วมกับส่วนงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ โดยใกล้ชิดเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ นายอภิรมย์ กล่าว