- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 16 September 2017 20:42
- Hits: 10127
ครอปไลฟ์ เอเชีย จัดสื่อมวลชนสัญจร ชมตัวอย่าง Smart Farmer ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิมาตรฐาน GAP รางวัลพระราชทานที่จ.กาฬสินธุ์
ครอปไลฟ์ เอเชีย พาสื่อมวลชนชมการทำนาแบบผสมผสาน ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิบ้านดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ หนุนเกษตรกรผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์หอมมะลิมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว GAP สร้างรายได้สูงกว่าขายข้าวเปลือกธรรมดากว่าเท่าตัว ด้วยหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผนวกแนวทางการปลูกพืชแบบผสมผสาน IPM สร้างชุมชนเข้มแข็งปลอดหนี้นอกระบบ 100%
มร.แอนดริว โรเบิร์ต ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับดูแลการใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกต้อง ครอปไลฟ์ เอเชีย เปิดเผยในโอกาสครอปไลฟ์เอเชียนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิบ้านดงลิง ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ว่า ครอปไลฟ์เอเชียเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นหน่วยงานระดับภูมิภาคของครอปไลฟ์อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีพันธกิจสำคัญด้านสนับสนุนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยใช้นวัตกรรมทางเกษตรกรรม ภายใต้การสนับสนุนของ 15 สมาชิกในภูมิภาค ซึ่งในประเทศไทย ครอปไลฟ์ เอเชียได้เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรผ่านสมาคม สมาพันธ์ที่มีพันธกิจเดียวกันกับครอปไลฟ์ เอเชีย ที่มุ่งให้เกษตรกรภาคการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของไทย อาทิ ข้าว ข้าวโพด ยางพารา อ้อย ผลไม้ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ผักและผลไม้
โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมวิชาการเกษตร สถาบันการศึกษา องค์กรท้องถิ่น เพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้เข้าใจอย่างถูกต้องหากต้องใช้สารอารักขาพืชในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเลือกใช้ให้ถูกต้องกับโรคและแมลง การอ่านฉลาก การปฏิบัติตนขณะฉีดพ่น การเก็บซากบรรจุภัณฑ์ จนถึงระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัย เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าของเกษตรกร ให้สามารถทำราคา แข่งขันเป็นที่ต้องการของตลาด และปลอดภัยสำหรับตนเอง ชุมชนและผู้บริโภค ผ่านกิจกรรมและงบประมาณ กว่า 70 ล้านบาท /ปี ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา โดยในปีหน้าได้ตั้งเป้าหมายการให้การอบรมแก่เกษตรกรในพื้นที่การเกษตรภูมิภาคในในอาเซียนอีกว่า 14 ล้านบาท
สำหรับ การสนับสนุนแก่เกษตรกรแก่กลุ่มเกษตรกรบ้านดงลิงนั้น ซึ่งถือเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนต้นแบบ ที่เป็นตัวอย่างการเปิดรับการเรียนรู้นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้กับกลุ่มของตน พัฒนาต่อยอด จนได้รับการยอมรับในการผลิตสินค้ามาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practice) หรือสินค้าเกษตรปลอดภัย กระทั่งได้รับการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2559 เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในที่สุด
นายไพศาล รัตน์วิสัย ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิบ้านดงลิง พูดถึงการบริหารจัดการกลุ่มว่า สมาชิกในบ้านดงลิง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จาก 113 ครัวเรือน ทำนาได้ 2 ครั้งต่อปี ในพื้นที่นาข้าว 1,351ไร่ เดิมประสบปัญหาข้าวปนเมื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีขายในร้านทั่วไป และได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวตั้งแต่ปี 2554 โดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้ความรู้ในการลดต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการไร่นา การทำบัญชีครัวเรือนเพื่อหาต้นทุนการเกษตรที่แท้จริง จนสามารถลดต้นทุนการเกษตรให้เหลือเพียง 1,430 บาทต่อไร่ ในขณะเดียวกันก็มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้ความรู้ในการให้ความรู้ การบริหารจัดการโรคและแมลงในแปลงเกษตรสามารถ ยกระดับให้ได้มาตรฐานตามนโยบายน้อมนำศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ควบคู่ไปด้วยจนกลุ่มสามารถบริหารจัดการปัญหาโรคและแมลง จนช่วยลดต้นทุนการผลิตลงไปได้
ปัจจุบันเกษตรกรกลุ่มนี้สามารถคัดเลือกและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนภายใต้ตรารับรอง GAP สินค้าปลอดภัย มีเครื่องจักรทางการเกษตรเป็นของชุมชน รถดำนา รถเกี่ยวข้าว โรงสีชุมชน มีทุนภายใน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินหมุนเวียนจากกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มอาชีพทั้ง 10 กลุ่ม ชุมชนไม่มีปัญหาหนี้นอกระบบ 100 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย
ทางด้าน นายสมัคร สมรภูมิ เกษตรกรสมาชิกเครือข่ายที่ลงทะเบียนเป็นกลุ่มที่ร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ พื้นที่ปลูกข้าวแบบผสมผสานจำนวน 5 ไร่ แบ่งปลูกข้าวจำนวน 4.2 ไร่ ที่เหลือ ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชผสมผสานไว้กิน และขายในยามที่ไม่ได้ปลูกข้าว เล่าให้ฟังว่า หลังเกษียณกรมพัฒนาชุมชน ตนได้มาใช้ชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยได้เริ่มทำนาจริงจังมา 5 ปี เรียนรู้รูปแบบการทำนามาจากปู่ย่าตายาย ประกอบกับคำแนะนำ การเข้ามาให้การอบรมจากหลายหน่วยงานผ่านศูนย์ส่งเสริมฯ และได้นำมาประยุกต์ใช้ในนาของตน ด้วยรูปแบบการผสมผสาน ใช้วิธีการไถกลบตอซัง ทดแทนการเผา จากนั้นก็ปล่อยน้ำเข้านาพร้อมใส่ปุ๋ยคอกและจุลินทรีย์เพื่อเร่งการย่อยสลายในดิน แล้วจึงไถดะเพื่อปรับหน้าดิน จากนั้นให้รถดำของกลุ่มฯ มาดำเนินการปักดำ ซึ่งรวดเร็ว ได้ระยะ ประหยัด ทุ่นแรง และเวลามาก เพราะกลุ่มฯจะรับผิดชอบเรื่องเพาะเมล็ด ให้เสร็จ มั่นใจได้ว่าเมล็ดข้าวไม่ปนแน่นอน เพราะกลุ่มฯมีการดูแลกันเองอย่างเข้มงวดเพื่อรักษามาตรฐานการผลิต
โดยในพื้นที่ 4.2 ไร่ที่เขาตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกหอมมะลินั้น มีต้นทุนการผลิตที่ใช้ทั้งปุ๋ย ฮอร์โมน และวิธีการแบบผสมผสานหรือ IPM (Integrated Pest Management) อยู่ที่กิโลกรัมละ 5.1 บาท ได้ผลผลิตทั้งหมด ประมาณ 700 กิโลกรัมต่อไร่ โดยกลุ่มฯรับซื้อข้าวที่ได้คุณภาพอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 15 บาท หากขายให้นอกกลุ่มจะขายได้อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 25 บาท ฤดูกาลที่ผ่านมา เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิของกลุ่มผลิตไม่พอความต้องการ โดยคาดว่าปีนี้ราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิจะสูงขึ้นแน่นอนซึ่งเป็นผลกระทบจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผ่านมา
ตัวอย่างของศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิบ้านดงลิง ดูจะเป็นอีกหน้าหนึ่งที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการเป็น Smart Farmer ภายใต้ธงที่ภาครัฐต้องการมุ่งไปให้ถึงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกว่าความพยายามของเกษตรกรพร้อมเรียนรู้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และกระบวนการผลิตสินค้าให้เป็น ‘สินค้าเกษตรปลอดภัย’ตอบโจทย์ให้ภาคการเกษตรของไทยมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน บนแนวร่วม ไทยแลนด์ 4.0 นั่นเอง