- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 09 September 2017 21:38
- Hits: 2539
ก.เกษตรฯ จัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี หวังแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง-วางรากฐานอุตสาหกรรมโตยั่งยืน
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา กล่าวว่า ‘ยางพารา’ ถือเป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูกยางพาราประมาณ 22 ล้านไร่ และสามารถผลิตยางธรรมชาติได้ 4.4 ล้านตัน โดยผลผลิตดังกล่าวได้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางที่มีอยู่ประมาณ 1.6 ล้านครัวเรือน เป็นมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 200,000 คน และในแต่ละปียางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยางสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียด จะเห็นว่าอุตสาหกรรมยางพารามีปัญหาหลายประการ ได้แก่ ยางพาราเป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยยางพาราที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางจากโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเพียงแค่ 14% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 86% ถูกส่งออกในรูปของยางที่เป็นวัตถุดิบ และด้วยเหตุที่โครงสร้างตลาดยางพาราเป็นแบบผู้ซื้อน้อยราย ในขณะที่มีผู้ขายจำนวนมาก ส่งผลทำให้ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้ขาย ในขณะเดียวกันราคายางพาราที่ซื้อขายกันในตลาดโลกยังถูกกำหนดจากตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งกว่า 90% เป็นการเก็งกำไร ส่งผลทำให้ราคายางพารามีความผันผวนค่อนข้างมาก
นอกจากนั้น ราคายางพารายังได้รับผลกระทบจากราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ทดแทนยางธรรมชาติ โดยเมื่อราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของยางสังเคราะห์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเช่นในปัจจุบัน จึงมีผลทำให้ราคายางสังเคราะห์ปรับตัวลดลงตามไปด้วย ทำให้ผู้ผลิตหันไปใช้ยางสังเคราะห์แทนยางธรรมชาติเพื่อลดต้นทุน และในท้ายที่สุด ก็ส่งผลทำให้ราคายางธรรมชาติประสบกับภาวะตกต่ำ จนทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อน และออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า นอกจากปัญหาเรื่องราคาตกต่ำแล้ว การผลิตยางพาราของไทยยังมีต้นทุนสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ส่งผลให้จำเป็นต้องตั้งราคาขายสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีพื้นที่สวนยางส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตป่าสงวน ทำให้ประเทศผู้ซื้อ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและประเทศญี่ปุ่นกำหนดมาตรการ กีดกันการค้าในรูปแบบของการออกมาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐาน FSC และ PEFC ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยประเทศผู้ซื้อตั้งเงื่อนไขว่าจะซื้อผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราจากสวนยางที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC เท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันส่วนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้จำกัดอยู่แค่ไม้ยางพารา แต่หากเมื่อใดที่มาตรการดังกล่าวขยายผลไปถึงยางแปรรูป จะทำให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจนถึงขั้นเป็นอัมพาตได้ นอกจากนั้นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานกรีดยาง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ก็ถือว่าเป็นปัญหาท้าทายที่จำเป็นต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า หากปัญหาและความท้าทายที่กล่าวมาไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทยต้องย่ำอยู่กับที่ โดยเมื่อใดที่มีปัญหาราคายางตกต่ำเกษตรกรก็จะออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งในท้ายที่สุดรัฐบาลก็จะต้องออกมาตรการต่างๆ ออกมาเยียวยา และด้วยเหตุที่มาตรการดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างได้ ทำให้งบประมาณที่รัฐบาลใช้ในการเยียวยาปัญหายางพาราไม่เกิดประโยชน์ เหมือนเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาที่จะต้องมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างโดยเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ พร้อมกับลดการส่งออกยางวัตถุดิบ เพื่อวางรากฐานให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการ กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า เป็นผู้นำของโลกในด้านการผลิตและการส่งออกยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา โดยร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ 19 กลยุทธ์ย่อย โดยประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประเด็นนั้น ประกอบด้วย (1) การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง (2) การเพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน (3) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (4) การพัฒนาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย และ (5) การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน
ขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไป คือ การจัดทำประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ซึ่งได้กำหนดจัดขึ้นในวันอังคารที่ 12 กันยายน 2560 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมกันตัง การยางแห่งประเทศไทย โดยหลังจากจัดทำประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะทำงานฯ จะนำความคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ให้เป็นยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีที่สมบูรณ์ ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา และกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ต่อไป
อินโฟเควสท์