- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 16 July 2017 09:58
- Hits: 6905
นายกฯ เร่งรัด 9 หน่วยงานเบิกจ่ายงบรับซื้อยางพาราไปใช้ในภารกิจ-ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางให้แล้วเสร็จ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า จากวันนี้ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2560 มีหน่วยงานของรัฐ 9 หน่วย ยื่นความจำนงที่จะใช้ยางพาราในภารกิจของตนเองอย่างแน่นอน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลาโหม คมนาคม ศึกษาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข มหาดไทย ท่องเที่ยวและกีฬา และกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นปริมาณน้ำยางข้น 22,321.54 ตัน และยางแห้ง 2,952.66 ตัน คิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 16,925,626,588.57 บาท
“นายกฯ เร่งรัดให้ทั้ง 9 หน่วยงาน ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อกระตุ้นการรับซื้อยางใช้ภายในประเทศจากพี่น้องเกษตรกรให้ได้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2560 โดยเฉพาะหน่วยงานที่ได้ตั้งงบปกติไว้แล้วและหน่วยงานที่จะใช้งบเหลือจ่าย ส่วนบางหน่วยงานที่จะขอเบิกจากงบกลางให้ประสานไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2561"
ทั้งนี้ รายการผลิตภัณฑ์ยางที่แต่ละหน่วยงานจะนำไปใช้มีทั้งสิ้น 23 รายการ เช่น ถุงฝายยาง แผ่นรองคอสะพาน ท่อดูดน้ำและส่งน้ำ แผ่นยางกันซึม ยางคั่นรอยต่อพื้นคอนกรีต แผ่นยางปูคอกปศุสัตว์ ยางปูสนามฟุตซอล รองเท้าบู๊ทยาง ถุงมือยาง เป็นต้น โดยขณะนี้กรมชลประทานได้นำร่องรับมอบยางจากการยางแห่งประเทศไทยแล้ว จำนวน 100 ตัน เพื่อใช้เป็นวัสดุซ่อมแซมถนนลาดยางที่อยู่ในความดูแลราว 3,000 กม.
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง ที่การยางแห่งประเทศไทยจะร่วมกับผู้ประกอบการส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศ 5 บริษัทลงทุนร่วมกัน องค์กรละ 200 ล้านบาท เข้าซื้อยางในตลาด โดยกำชับให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว เพราะถือเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการที่จะช่วยให้ราคายางกลับสู่ดุลยภาพได้เร็วขึ้น และส่งผลดีต่อราคายางในอนาคต
“นายกฯ เข้าใจปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง โดยยืนยันว่ายังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพื่อลดอุปสรรคด้านกฎหมายในการบังคับให้ใช้ยางภายในประเทศ เพราะทุกอย่างกำลังได้รับการแก้ไขและมีความคืบหน้าเป็นลำดับแล้ว"
นายกฯ แนะเกษตรกรลดพื้นที่ปลูกยาง-หันปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เพื่อแก้ไขปัญหาราคา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำว่า สาเหตุมาจากมีปริมาณมากเกินไป ซึ่งได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งปรับแนวทางการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง
ปัญหาสำคัญเนื่องจากยังมีพื้นที่ปลูกยางมากเกินไป โดยพบว่ามีการปลูกในพื้นที่บุกรุกถึง 3 ล้านไร่ แต่รัฐบาลคงไม่สามารถสั่งให้หยุดปลูกได้ทั้งหมด เพราะจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความเดือดร้อน โดยแนะนำให้เกษตรกรลดพื้นที่การปลูกยางลงแล้วหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ทุเรียนหรือมังคุดที่มีราคาสูง เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลงราคายางก็คงไม่สามารถขยับไปมากกว่านี้ได้
ส่วนกรณีที่ต้องการให้ยางมีราคาถึงกิโลกรัมละ 70 บาท จะต้องพิจารณาจากปริมาณยางว่ามีมากน้อยเพียงใด เพราะหากมียางทั้งในสต็อกและในตลาดโลกคงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ราคาสูงขึ้น
นายกรัฐมนตรี ระบวุ่า รัฐบาลไม่สามารถนำงบประมาณไปซื้อยางมาเก็บไว้ได้ทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งยังมียางอยู่ในสต็อกที่ยังไม่ขายออกไป และไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะสามารถสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ นำยางไปใช้งานได้ โดยเบื้องต้นได้ให้ทางทหารช่างนำยางไปใช้ทำถนน ซึ่งขณะนี้สามารถเพิ่มสัดส่วนยางได้ถึง 15% แต่จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณให้กับหน่วยงานต่างๆ ด้วย นอกจากนั้นยังต้องเพิ่มการใช้ประโยชน์ในส่วนของสาธารณสุข กีฬา แต่ต้องจัดทำแผนงานดำเนินงานและเพิ่มงบประมาณเช่นเดียวกัน ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะมีการหารืออีกครั้งในวันพรุ่งนี้ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ส่วนความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกันของ 3 ประเทศ ที่ไทยได้ส่งตัวแทนไปพูดคุยนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าการทำให้ราคายางสูงขึ้นนั้นทำได้ยาก เป็นผลจากปริมาณยางของไทยมีมากเกินไป ขณะที่ทั้ง 3 ประเทศได้ปรับลดพื้นที่ปลูกยางของตนเองลงกว่า 50% รัฐบาลจึงต้องปรับปริมาณการผลิตยางของไทยให้เหมาะกับทั้ง 3 ประเทศ และอีกปัญหาหนึ่งคือการที่ 3 ประเทศมองว่าเสถียรภาพทางการเมืองมีผลต่อราคายางพาราโดยเฉพาะกับตลาดการซื้อขายล่วงหน้า จึงขออย่าให้มีการเคลื่อนไหวกดดันในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญนอกจากมาตการช่วยเหลือแล้วเกษตรกรต้องช่วยเหลือตัวเองและร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางและมาตรการที่อนุมัติให้ เพราะสิ่งที่พยายามทำคือการแก้ไขทั้งระบบ โดยไม่ใช้วิธีอุดหนุนที่เป็นการแก้ปัญหาปลายทางเพียงอย่างเดียว
ประธาน กยท.แนะปล่อยราคาตามกลไกตลาด เชื่อ 1-2 เดือนดีขึ้น-เล็งลดพื้นที่ปลูกห่วงปริมาณล้นตลาด
พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ที่ออกมายื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาราคายางตกต่ำนั้นว่า ต้องปล่อยให้ราคาขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งต้องทำหลายอย่างควบคู่กันไป และเชื่อว่าภายใน 1-2 เดือนราคาจะขึ้นไปตามธรรมชาติ
"การที่มีนักการเมืองบางท่านที่ออกมาผมก็เข้าใจเพราะท่านเป็นนักการเมือง ถ้าประชาชนเดือดร้อนแล้วท่านไม่ออกมาเสนอโน่นเสนอนี่ก็คงเป็นเรื่องประหลาด ส่วนข้อเสนอผมดูทุกข้อแล้วว่าเราทำหมดแล้ว เว้นเรื่องเดียวคือที่ต้องการให้ราคายางขึ้นไป 70 บาท/กก. ...เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกข้อเสนอ ไม่ว่าท่านจะเป็นอดีต ส.ส. หรือผู้นำองค์กรใดก็แล้วแต่เราไม่เคยเพิกเฉย อันไหนทำแล้วก็บอกว่าทำแล้ว อันไหนกำลังทำก็บอกกำลังทำ อันไหนทำไม่ได้เราก็บอกให้รอเวลาสักนิดนึง เราไม่เคยปฏิเสธทุกข้อเสนอ"พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าว
นอกจากนี้ ทางผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 รายจะเข้ามาสนับสนุนกองทุน ส่วนพ.ร.บ.ควบคุมยาง จะปัดฝุ่นและทำให้ดีขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงในเรื่องการส่งออกยาง การตรวจสต็อกยาง การควบคุมคุณภาพยาง
ปัญหาอีกอย่างคือประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกยางที่เป็นวัตถุดิบ ขณะนี้นโยบายของรัฐบาลคือต้องการส่งเสริมการใช้การผลิตในประเทศ ส่งเสริมให้ SME เพิ่มมูลค่าเพิ่มให้ยาง เพราะเมื่อเกิดวิกฤตกับราคายางเช่นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาทำให้ยางที่กรีดมาแล้วเก็บไม่ได้ต้องเสียหาย
"พยายามชักชวน แนะนำเกษตรกรให้แปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น ที่เคยเก็บเป็นน้ำยางก็เอามาแปรรูปอีกขึ้นเป็นยางแผ่นจะได้เก็บได้นานขึ้น ที่เป็นยางแผ่นก็ตั้งโรงงานหรือทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะขายได้ในราคาดีขึ้น เราพยายามส่งเสริมการใช้ในประเทศให้มากๆ เพื่อลดซัพพลายลง เพราะดีมานด์มันเท่าเดิม และอีกไม่กี่ปีข้างหน้าถ้ายางที่จีนปลูก เวียดนามปลูก ลาวปลูกเริ่มกรีดได้ ณ วันนั้นยางจะทะลักล้นออกมาอีกมาก
สิ่งสำคัญของเราคือลดพื้นที่ปลูกที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ป่าต้นไม้ซึ่งมีการปลูกยางเป็นหลักล้านไร่ก็คงต้องเลิกเพราะทำให้เกิดอุทกภัยเกิดภัยธรรมชาติ ลดการปลูกไปปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อให้มีรายได้เสริม แต่ก็ไม่ใช่ปลูกเหมือนกันหมด แต่ถ้าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ก็ต้องให้มีความหลากหลาย ไม่ใช่ผลิตหมอน ก็ผลิตแต่หมอนเหมือนกันหมดอีก ซึ่งยางยังสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมสูงขึ้น ได้ราคามากขึ้น ต้องวางแผนระยะยาวด้วย ซึ่งถ้าจะมี EEC จะเป็นไทยแลนด์ 4.0 แล้วจะมาขายแต่วัตถุดิบไม่ได้แล้ว เราต้องมีนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทำให้น่าใช้แล้วก็ส่งออกไปขายประเทศที่เค้าพัฒนาไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลมุ่งหวังและกำหนดให้เราปฏิบัติ"พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าว
อินโฟเควสท์