- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 03 July 2017 19:00
- Hits: 12394
รมว.เกษตรฯกำชับเร่งแก้ไขปัญหากองทุนฟื้นฟูฯตั้งคณะกรรมการใหม่ ย้ำการตรวจสอบหนี้สินเกษตรกรจังหวัด และอำเภอต้องรัดกุมและชัดเจน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กองทุนฟื้นฟูฯเข้าไปดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในกลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหา ก่อนเกิดผลกระทบ ซึ่งเน้นย้ำให้ทำทันที ย้ำการตรวจสอบหนี้สินเกษตรกรจังหวัด และอำเภอต้องรัดกุม และชัดเจน
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งด่วนเร่งแก้ปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.โดยตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจขึ้นแทนคณะกรรมการชุดเดิม ย้ำต้องแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนระบบ พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 4 คณะ เพื่อตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรระดับจังหวัดและระดับอำเภอ กำชับให้เร่งจัดทำแผนปฏิบัติงาน รวมถึงคู่มือ ตามกรอบภารกิจคำสั่ง คสช.ที่ 26/2560 เพื่อให้มีความรัดกุมและชัดเจนมากขึ้น
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ในการประชุมกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ครั้งที่ 2/2560 ณ ห้องประชุม 134-135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยมีระเบียบวาระในครั้งนี้เพื่อพิจารณา เช่น แนวทางการตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกร โครงการและงบประมาณของคณะกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบ ยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร กรอบ โครงสร้างและกฎหมายของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สถานภาพและบทบาทหน้าที่ของคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัด 77 จังหวัด กรอบหลักเกณฑ์และผลการกลั่นกรองงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2561 ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นต้น
ในการประชุมครั้งแรกที่ประชุมมีมติที่สำคัญดังนี้ ตามที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 26/2560 เรื่องการแก้ปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้มีการตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจขึ้น แทนคณะกรรมการชุดเดิม เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเพื่อประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาคเกษตร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ โดยในการประชุมครั้งแรกได้มีมติเห็นชอบแต่งการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 4 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกร กรณีหนี้เร่งด่วน 2. คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร 3. คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างและกฎหมายของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และ 4. คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณประจำปี 2560 และ 2561 ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
สำหรับ ในการประชุมครั้งที่ 2 ที่ประชุมมีระเบียบวาระเพื่อพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ อาทิ โครงการและงบประมาณของคณะกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบ ยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร รวมถึงกรอบ โครงสร้างและกฎหมายของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และกรอบ หลักเกณฑ์และผลการกลั่นกรองงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2561 ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งที่ประชุมมีมติที่สำคัญ อาทิ เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการกรอบ โครงสร้างและกฎหมายของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ทบทวนรายละเอียดโครงสร้างและกฎหมายของกองทุนฟื้นฟูฯ โดยนำเสนอในการประชุมคราวหน้า รวมทั้ง เห็นชอบให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ดำเนินการจัดการหนี้เกษตรกรสมาชิกที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. ตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้ และเห็นชอบบัญชีรายชื่อและข้อมูลหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก.ที่ผ่านการตรวจสอบระหว่าง ธ.ก.ส. และ กฟก. จำนวน 2,185 ราย จำนวนเงิน 324,455,096.74 บาท เพื่อการจัดการหนี้และอนุมัติให้ชำระหนี้แทนในฐานะคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร และคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้ความเห็นใช้หลักเกณฑ์การจัดการหนี้ ประกอบด้วย 1) ต้องเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกร ขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกร 2) วัตถุประสงค์การกู้เพื่อการเกษตร 3) ชำระหนี้ต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท 4) มีหลักทรัพย์เป็นหลักประกันและชำระหนี้แทนได้ไม่เกินราคาประเมินหลักทรัพย์คุ้มมูลหนี้ 5) เป็นหนี้เร่งด่วน ได้แก่ ฟ้องร้องดำเนินคดี พิพากษา บังคับคดี ขายทอดตลาด 6) เกษตรกรที่ทุพลภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เกษตรกรสูงอายุ ไม่มีบุตรหลานดูแล ให้ช่วยเหลือเป็นลำดับแรก และ 4) ให้ดำเนินการตามกรอบของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ กำหนด โดยใช้ขั้นตอนพิเศษ และวิธีปฏิบัติของสำนักงาน
ทั้งนี้ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในกลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหา ก่อนเกิดผลกระทบซึ่งเน้นย้ำให้ทำทันที และเป็นไปตามระเบียบ กติกา นอกจากนี้ เพื่อให้แนวทางการตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบัน จึงได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมารตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรระดับจังหวัดและระดับอำเภอ พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติงาน รวมถึงคู่มือคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ตามกรอบภารกิจคำสั่ง คสช.ที่ 26/2560 เพื่อให้มีความรัดกุมและชัดเจนมากขึ้น