- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 30 June 2017 22:47
- Hits: 7464
ก.เกษตร เผยเกษตรกรสวนปาล์มไทย ยังต้องการภาคใช้แรงงานสูง หวั่นอนาคตการจ้างแรงงานท้องถิ่นอาจยากขึ้น หลังคนรุ่นใหม่ไม่สนใจอาชีพนี้
ก.เกษตรฯ เผยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จัดทีมลงพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ชุมพร กระบี่ สุราษฎร์ธานี เจาะสัดส่วนค่าใช้จ่ายของเกษตรกรสวนปาล์ม ระบุ ค่าใช้จ่ายการจ้างแรงงานมากสุด ร้อยละ 59 รองลงมา คือ ค่าใช้จ่าย ปุ๋ย ยา โดยค่าจ้างแรงงานร้อยละ 83 ใช้แรงงานไทยเป็นหลัก ย้ำ ความซื่อสัตย์สุจริตคือสิ่งสำคัญ ในขณะที่ทักษะฝีมือยังฝึกได้
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การใช้แรงงานและความต้องการแรงงานของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) ลงพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร กระบี่ และสุราษฎร์ธานี แหล่งผลิตปาล์มน้ำมันที่สำคัญของประเทศ พบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายเงินสดของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ใช้จ่ายมากที่สุด คือ ค่าจ้างแรงงาน คิดเป็นร้อยละ 59 รองลงมา คือ ค่าใช้จ่าย ปุ๋ย ยา ร้อยละ 31 และอีกร้อยละ 10 เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าวัสดุ เคียวเกี่ยวทางปาล์ม เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างในกิจกรรมเก็บเกี่ยวมากที่สุด มีการเก็บเกี่ยวผลปาล์มสุก ในทุก 15 - 20 วัน หรือเฉลี่ยปีละ 18 - 24 ครั้ง ค่าจ้างเก็บเกี่ยวตันละ 400-700 บาท แล้วแต่สภาพพื้นที่สวนส่วนค่าจ้างในการใส่ปุ๋ย เฉลี่ยกระสอบละ 50 บาท ใส่เฉลี่ยปีละ 3 กระสอบ และค่าจ้างตัดแต่งทางใบ เฉลี่ยต้นละ 10-25 บาท เฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และความสูงของต้นปาล์ม
สำหรับ สถานการณ์การใช้แรงงานในปัจจุบัน พบว่า ครัวเรือนมีการว่าจ้างแรงงานสูงถึงร้อยละ 83 ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 84 เป็นการจ้างแรงงานไทย ซึ่งเป็นการจ้างแรงงานในหมู่บ้านชุมชนใกล้เคียง และแรงงานจากภาคอีสาน ส่วนร้อยละ 9 เป็นการจ้างทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว และมีครัวเรือนเพียงร้อยละ 7 ที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวเพียงอย่างเดียว โดยลักษณะการจ้างแรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ทางลานเทจ้างไว้และเกษตรกรใช้บริการจากแรงงานดังกล่าว เนื่องจากขายผลผลิตให้ลานเทนั้นๆ
นายธรณิศร กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวเสริมว่า ในส่วนของแรงงานที่รับจ้างเก็บเกี่ยวทั้งไทยและต่างด้าวในพื้นที่ 3 จังหวัด (ที่ทางลานเทจ้างไว้) ส่วนใหญ่จะทำงานเป็นทีม หมุนเวียนกันไปตามแต่ละครัวเรือนที่มีการนัดหมาย บางครั้งเกิดปัญหาในการตัดผลปาล์มที่เร็วหรือช้าเกินไป เนื่องจากติดคิวจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำมันปาล์มเช่นกัน และถึงแม้เกษตรกรทราบว่าคุณภาพที่ได้ไม่เท่าที่เก็บเกี่ยวเอง แต่หลีกเลี่ยงการจ้างไม่ได้จากหลายปัจจัย เช่น จำนวนแรงงานในครัวเรือนมีไม่เพียงพอ อายุเกษตรกร และความสูงของต้นปาล์ม เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ เกษตรกรมองว่า ในปัจจุบันยังไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานแต่ในอนาคตการจ้างแรงงานท้องถิ่นอาจยากขึ้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่สนใจในอาชีพดังกล่าว เนื่องจากมองว่าเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก และแม้จะแก้ปัญหาโดยการเพิ่มค่าแรงในบางครั้ง แต่ก็ไม่จูงใจให้คนรุ่นใหม่มาทำได้ และเมื่อสอบถามถึงความต้องการแรงงานในอนาคต พบว่าเกษตรกรยังคงต้องการพึ่งพิงแรงงานไทย ถึงร้อยละ 85 อีกร้อยละ 15 ยอมรับการใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งไม่แตกต่างจากลักษณะการใช้แรงงานในปัจจุบัน โดยแรงงานพม่ายังคงเป็นที่ต้องการมากที่สุด รองลงมา คือ ลาว และกัมพูชา ที่สำคัญคือ เกษตรกรให้ความสำคัญกับแรงงานที่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ขยัน อดทน รับผิดชอบต่อหน้าที่ ส่วนทักษะฝีมือ และความชำนาญสามารถฝึกและเรียนรู้ได้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย