- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 18 June 2017 22:46
- Hits: 10927
ก.เกษตรฯประเมินแปลงใหญ่โคเนื้อ-ทุเรียนภุเขาไฟผ่าน 2 ปีเห็นผลต้นทุนลด-กำไรเพิ่ม วอนเกษตรกรพัฒนาคุณภาพสินค้าหนีคู่แข่ง
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน68 เปิดงาน 'เทศกาลเงาะ- ทุเรียนศรีสะเกษ ASEAN Trade Fair 2017' จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมทั้งตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของจังหวัดศรีสะเกษที่ประสบความสำเร็จนอกเหนือจากแปลงใหญ่ข้าว เช่น แปลงใหญ่โคเนื้อ และแปลงใหญ่ทุเรียน โดยได้เยี่ยมชมจุดรับซื้อ จุดจัดส่งทุเรียนพรีเมี่ยม เพื่อการพัฒนาทุเรียนคุณภาพของจังหวัดศรีสะเกษ ณ สหกรณ์การเกษตรลักษ์ จำกัด ว่า ผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของจังหวัดศรีสะเกษ พบว่า ในระยะสองปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าค่อนข้างมากและชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยในปี 2560 จังหวัดศรีสะเกษมีจำนวนแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 85 แปลง ในพื้นที่ 22 อำเภอ ได้แก่ ข้าว 68 แปลง ทุเรียน 2 แปลง พริก 3 แปลง หอมแดง 7แปลง กระเทียม 1 แปลง และปศุสัตว์ 4 แปลง พื้นที่รวม 171,490 ไร่ เกษตรกร 14,612 ราย โดยกลุ่มสินค้าแปลงใหญ่ที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาดในขณะนี้ คือ แปลงใหญ่ทุเรียน และแปลงโคเนื้อ
โดยแปลงใหญ่ทุเรียน พบว่า ผลผลิตของเกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากเดิมผลิตได้ 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ ปัจจุบันสามารถผลิตได้ถึง 1,590 บางพื้นที่สามารถผลิตได้ถึง 1,800 กิโลกรัมต่อไร่ ถือว่าเป็นจุดเด่นที่ชัดเจนมากในเรื่องของการพัฒนา ขณะเดียวกัน เกษตรกรก็หันมาใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้นช่วยลดต้นทุน ส่งผลทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ในส่วนของมาตรฐานถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญทางกระทรวงเกษตรฯ เร่งส่งเสริมระดับสินค้าทางการเกษตรนั้นจำเป็นจะต้องยกเรื่องมาตรฐานด้วย ทุเรียนจังหวัดศรีสะเกษได้รับรองมาตรฐาน GMP ทุกแปลง ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ผมภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก
สำหรับ แปลงใหญ่โคเนื้อ เป็นการรวมกลุ่มของโคเนื้อที่สามารถลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะเรื่องของอาหารสัตว์จากที่เคยซื้อกิโลกรัมละ 2 - 2.50 บาท เปลี่ยนมาใช้หญ้าเนเปียเป็นอาหารทำให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการขายลูกโคเนื้อ อายุ 6 เดือน ที่เปลี่ยนจากเดิมที่ใช้พันธุ์พื้นเมือง เปลี่ยนผสมพันธุ์ชาร์โรเล่ล์ กับพันธุ์บรามัน ทำให้คุณภาพของลูกวัวมีโครงสร้างและคุณภาพที่ดีกว่า ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
ก.เกษตรฯ เผยได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 61 วงเงิน 1.06 แสนลบ.เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.83% ด้านวงเงินรายจ่ายรวมทั้งประเทศ 2.9 ล้านลบ.
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2661 ในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 เห็นชอบในหลักการจัดสรรงบประมาณ และรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 โดยวงเงินรวมทั้งประเทศ 2,900,000 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับจัดสรรงบประมาณรวม 106,437.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 7,731.74 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.83 แยกเป็น ส่วนราชการและองค์การมหาชน 17 หน่วยงาน ได้รับจัดสรรจำนวน 102,559.66 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 3 หน่วยงาน ได้รับจัดสรรจำนวน 1,552.56 ล้านบาท และกองทุน 5 หน่วยงาน ได้รับจัดสรรจำนวน 2,325.00 ล้านบาท ดังนี้
1. งบประมาณส่วนราชการ
ส่วนราชการในสังกัด 17 หน่วยงาน (รวมองค์การมหาชน) ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2561 รวม 102,559.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8,141.78 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.62 โดยมีหน่วยงานได้รับงบค่อนข้างสูง คือ กรมชลประทาน ได้รับสูงสุด 57,521.75 ล้านบาท รองลงมาได้แก่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับ 6,758.80 ล้านบาท และกรมปศุสัตว์ ได้รับ 6,256.72 ล้านบาท
2. งบประมาณรัฐวิสาหกิจ
รัฐวิสาหกิจในสังกัดมี 4 หน่วยงาน คือ การยางแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และองค์การสะพานปลา ปี 2561 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 3 หน่วยงาน คือ การยางแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และองค์การสะพานปลา วงเงินงบประมาณรวม 1,552.56 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 805.01 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 34.15
3. งบประมาณกองทุน
ในการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเกี่ยวข้องกับกองทุนที่สำคัญหลายกองทุน อาทิ กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กองทุนจัดรูปที่ดิน กองทุนพัฒนาสหกรณ์ กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปี 2561 มีกองทุนได้รับจัดสรรงบประมาณเพียง 5 กองทุน วงเงินรวม 2,325.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 394.97 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.46
เมื่อพิจารณาตามกลุ่มงบประมาณที่สำนักงบประมาณกำหนดทั้งหมด 6 กลุ่ม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม ดังนี้
1) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ 25,823.40 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 จำนวน 61.23 ล้านบาท
หรือลดลงร้อยละ 0.24
2) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน (Function) 17,765.32 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 จำนวน 7,033.60 ล้านบาท
หรือลดลงร้อยละ 28.36 แยกเป็น 2.1) แผนงานพื้นฐาน 14,599.64 ล้านบาท 2.2) แผนงานยุทธศาสตร์ (แผนงานส่งเสริมการดำเนินงานตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง) 2,809.68 ล้านบาท
3) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวข้อง 14 แผน วงเงินรวม 55,580.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 13,709.32 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.74 ประกอบด้วย (1) แผนงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 218.79 ล้านบาท (2) แผนงานจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ 15.84 ล้านบาท (3) แผนงานการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 13.42 ล้านบาท (4) แผนงานพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 81.85 ล้านบาท (5) แผนงานพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 41.32 ล้านบาท (6) แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 203.22 ล้านบาท (7) แผนงานการวิจัยและนวัตกรรม 1,001.18 ล้านบาท (8) แผนงานสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ 7.72 ล้านบาท (9) แผนงานพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร (เฉพาะหน่วยงานใน กษ.) 9,050.67 ล้านบาท (10) แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง 2,021.35 ล้านบาท
(11) แผนงานจัดการปัญหาที่ดินทำกิน 68.35 ล้านบาท (12) แผนงานการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม 74.50 ล้านบาท
(13) แผนงานพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 10.71 ล้านบาท (14) แผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 42,771.84 ล้านบาท
4) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) (แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ (บูรฯ 29)) 7,267.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 1,117.25 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.17
กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) เป็นกลุ่มงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.22 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย