- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 17 August 2014 11:18
- Hits: 4138
การประชุม Thailand-Pacific Island Countries Forum (TPIF)ระหว่างวันที่ 9 – 10 สิงหาคม 2557 ณ กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1
กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้มีกําหนดจัดการประชุม Thailand – Pacific Island Countries Forum (TPIF) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9 – 10 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพมหานคร โดยจะเชิญผู้แทนระดับสูงของ 14 ประเทศ ในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ได้แก่ หมู่เกาะคุก ฟิจิ คิริบาส หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไมโครนีเซีย นาอูรู นีอูเอ ปาเลา ปาปัวนิวกินี ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองกา ตูวาลู และวานูอาตู รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทในภูมิภาค อาทิ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) ในฐานะผู้สังเกตการณ์มาร่วมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมทั้งยกระดับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างกัน
(TPIF) มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อกระชับความสัมพันธ์ไทยและประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก สร้างความคุ้นเคยในระดับผู้นําและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยกับประเทศ ต่าง ๆ โดยในวันแรก จัดการหารือในรูปแบบ Panel Discussion ใน 3 หัวข้อหลักที่เกี่ยวกับการพัฒนา และจะเป็นประโยชน์กับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก อาทิ การพัฒนาอย่างยั่งยืน เกษตรกรรม การท่องเที่ยวและการพัฒนาชุมชน พลังงานและสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจและการลงทุน และในวันที่สอง จัดกิจกรรมศึกษาดูงานนอกสถานที่ โดยเน้นโครงการตัวอย่างในสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงดูงานด้านการเกษตร เกี่ยวกับกระบวนการปรับปรุงคุณภาพข้าว และการจัดส่งสินค้าทางน้ำ (ท่าเรืออยุธยา และไอซีดี) ที่ บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด หรือ โรงงานข้าวตราฉัตร (จ.อยุธยา) อีกด้วย
ที่ผ่านมา ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้ง 14 ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ผ่านกรอบการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือในระดับภูมิภาค โดยไทยในฐานะประเทศคู่เจรจาภายใต้กรอบ Post-Forum Dialogue (PFD) มีบทบาทนํา ในฐานะเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ (Emerging Donor Country) ทั้งนี้ สํานักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดโครงการฝึกอบรม/ดูงาน และมอบทุนหลักสูตรนานาชาติให้กับประเทศกําลังพัฒนาในกลุ่มหมู่เกาะแปซิฟิกใต้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบแผนงาน Thai International Cooperation Programme (TICP) นอกจากนี้ ไทยยังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจัดหลักสูตรที่เหมาะสมต่อการพัฒนาบุคคลการของประเทศในภูมิภาค โดยในรอบ 18 ปี ที่ผ่านมา มีการให้ทุนแล้วกว่า 124 ทุน หรือเฉลี่ยปีละ 5 – 10 ทุน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 25.75 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภททุนการฝึกอบรมประจําปี (Annual International Training Course) และทุนการศึกษานานาชาติในระดับปริญญาโท (Thai International Post-graduate Programme) ที่จําเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพ เช่น เกษตรกรรม การประมง การท่องเที่ยว การศึกษา สาธารณสุข การพัฒนาชุมชน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ในภูมิภาคมีประชากรรวมกันกว่า 10 ล้านคน มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ สินแร่ และป่าไม้ และมีศักยภาพเป็นตลาดใหม่สําหรับสินค้าและการลงทุนของไทย ซึ่งนอกจากวัตถุประสงค์ที่ได้กล่าวมานั้น การประชุม Thailand – Pacific Island Countries Forum (TPIF) ครั้งที่ 1 ยังถือเป็นกิจกรรมสําคัญที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือในกรอบต่างๆ ที่มีอยู่เดิม และเชิดชูบทบาทของประเทศไทยในด้านความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ ได้อย่างดีอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบทของการพัฒนาแบบ South-South Cooperation (SSC) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาที่ปัจจุบันสหประชาชาติให้ความสําคัญ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศกําลังพัฒนาทั่วโลก
คุณทรงศักดิ์ สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้เหล่านี้เป็นประเทศ เกือบ 100% บริโภคข้าวไทย ก็มีความเชื่อมั่นข้าวไทยในแง่ของคุณภาพและราคาและก็คงเชื่อมั่นต่อไป ตอนนี้เค้ายังนำข้าวผ่านประเทศออสเตรเลียเป็นหลัก และมีความคิดว่าทำยังไงเค้าถึงจะสามารถนำข้าวตรงจากประเทศไทย ซึ่งเค้าก็ต้องมีระบบของเค้าเอง อาจจะมีประเทศใดประเทศหนึ่งนำศูนย์กระจายสินค้า อาหาร อีกส่วนหนึ่งพูดถึงเรื่องการฟื้นฟูข้าว มีความสนใจในเรื่องของการปลูกข้าว คิดว่านอกจากมีความเชื่อมั่นข้าวไทยแล้ว ยังเชื่อมั่นในเทคโนโลยีการผลิต อีกด้วย
คุณฐิติ ลุจินตานนท์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านการขายต่างประเทศ ข้าวตราฉัตร
พูดถึงเรื่องความเชื่อมั่นของตลาดข้าวในต่างประเทศ วันนี้เรายังถือว่าเป็นคิดว่าเรายังถือว่าเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก ของเพื่อนบ้านทั้งหมด ในเรื่องราคา ปกติที่ผ่านมา ราคาข้าวไทยก็สูงกว่าราคาข้าวของประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้วในตลาดที่เน้นเรื่องคุณภาพ ฉะนั้นผมยังเชื่อว่า ณ ปัจจุบันนี้ข้าวไทยก็ยังเป็นข้าวที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกเหมือนเดิม
ถ้ามองดูประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นคู่แข่งประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินเดีย ส่วนใหญ่แล้วอาจจะยังคงมีสต๊อคคงเหลืออยู่ไม่มากนัก เพราะฉะนั้นเชื่อว่าปีนี้ จากเดือนนี้เป็นต้นไปน่าจะเป็นโอกาสของข้าวไทยที่จะสามารถกลับมาเป็นอันดับ 1 ในการส่งออก เหมือนอย่างที่ทุก ๆ ปีที่ทำมา
สำหรับ ตลาดที่เน้นเรื่องคุณภาพ เน้นเรื่องความเป็นพรีเมี่ยมไม่ว่าจะเป็นตลาดในอเมริกา ยุโรป สิงคโปร์ ฮ่องกง ประเทศเหล่านี้เรายังไม่ประสบปัญหาอะไรทั้งสิ้น ในเรื่องของคุณภาพ เราก็ยังปฏิบัติการกฏระเบียบการควบคุมคุณภาพการตรวจสอบคุณภาพทุกตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานระดับโลก ฉะนั้นเชื่อว่าวันนี้ปัญหาคุณภาพต่างๆ ยังไม่มีที่จะเกิดขึ้นกับข้าวไทยเรา
สำหรับ ภาพรวมการส่งออกต่างประเทศปัจจุบันนี้ ผมคิดว่า 6 เดือนแรกเราส่งออกได้ตัวเลขน่าจะเกือบ 5 ล้านตัน และเท่าที่ได้มีการติดตามความต้องการของตลาดโลก ยังมีความต้องการต่อเนื่องเข้ามา เชื่อว่าสิ้นปีนี้ไทยน่าจะส่งออกได้ประมาน เกือบ 9ล้านตัน
สำหรับข้าวในประเทศเองก็ยังมีแนวโน้มที่เติบโตเช่นกันข้าวถุงในประเทศวันนี้จากราคาที่ผ่านมาถือว่าเป็นราคาที่ผู้บริโภคค่อนข้าวยอมรับได้ และกับความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพเช่นกัน ก็ยังมองว่าข้าวถุงในประเทศไทยก็ยังสามารถเติบโตได้เช่นกัน
เราเชื่อว่าสินค้าทั้งหมดที่มีการปรับปรุงคุณภาพข้าว จะต้องได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ ในกลุ่มตลาดที่เป็นข้าวหอม ข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งประเทศไทยเองครองตลาดโลกมาตลอดเวลาซึ่งตรงนี้เองเราก็คงยังมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพให้สูงขึ้น คัดสรรคุณภาพรวมทั้งปรับปรุงในการคัดเลือกคุณภาพต่างๆตอบสนองความต้องการให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ในส่วนของตลาดข้าวขาวปกติ ซึ่งอยู่ในสต๊อกที่ในประเทศมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ในโกดังข้าวรัฐบาล เราเชื่อว่าผู้ส่งออกหลายรายผู้ประกอบการทั้งสิ้น คงยังมีโอกาสที่จะไปแข่งขันเหมือนกับตลาดโลกกับประเทศเพื่อนบ้านในราคาที่ยุติธรรม
เผยแพร่ข่าวในนาม กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กองแปซิฟิกใต้
Nicha Pitayathornpitaksa โทร : 0-2643-5117
1. ข้อมูลทั่วไปของโครงการข้าวนครหลวง
โครงการข้าวนครหลวง ประกอบด้วยโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าว ของ บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด และบริษัท ท่าเรืออยุธยาและไอซีดี จำกัด ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวนครหลวงแบบครบวงจร ทุ่มงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ 270 ไร่ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกเมื่อมองจากด้านบน จะเห็นเป็นรูปทรงเมล็ดข้าวงดงาม ส่วนภายในอาคารโรงงานได้ลงทุนติดตั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีกำลังการผลิต วันละ 3,600 ตัน/วัน หรือกว่า 1,080,000 ตัน/ปี มีภารกิจในการนำข้าวสารจากโรงสี เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงคุณภาพข้าวโดยผ่านการควบคุม ตรวจสอบ และบรรจุถุงด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพื่อจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศภายใต้ตราสินค้าเดียวกัน คือ ข้าวตราฉัตร (Royal Umbrella) บริษัทฯ มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ, ควบคุมกระบวนการผลิต, ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่,โรงงานออกแบบให้เป็นระบบปิด สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและการจัดการผลิตได้ดี,ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยควบคุมการทำงานของเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูง,มีการแยกชั้นของการผลิตอย่างชัดเจน, มีระบบกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจสอบการทำงานทุกจุด ตลอดเวลาควบคุมระบบการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล, ให้ความสำคัญด้านความสะอาดและความปลอดภัยทุกขั้นตอน และสามารถสอบทานคุณภาพของผลิตภัณฑ์ย้อนหลังได้ ข้าวตราฉัตรจึงเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังกว่า 100 ประเทศทุกๆ ทวีปทั่วโลกอีกทั้งได้รับการรับรองมาตรฐานสากลต่างๆ อาทิ ISO 9001 version 2008, GMP, HACCP และ เครื่องหมาย อย. พร้อมรางวัลการันตีความมีคุณภาพ อาทิ Thailand Energy Award 2012 และล่าสุด อย. ควอลิตี้ อวอร์ด 2556 ด้วย
การจัดส่งสินค้าไปยังท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และส่งไปยังภาคใต้ของประเทศไทยจะใช้วิธีการขนส่งทางน้ำเป็นหลัก โดยผ่านท่าเรือตู้สินค้าลำน้ำ (Container River Port) ของบริษัท ท่าเรืออยุธยาและไอซีดี จำกัด ซึ่งสร้างอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันกับโรงงานข้าวนครหลวง เพื่อให้การขนส่งสินค้าจากโรงงาน ไปลงเรือมีระยะทางสั้นที่สุด เป็นท่าเรือที่มีเครื่องมือทุ่นแรงที่ทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานท่าเรือระหว่างประเทศ และเป็นท่าเรือแห่งเดียวบนแม่น้ำป่าสัก ที่สามารถรองรับการขนส่งทั้งสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ และสินค้าทั่วไปได้ ท่าเรืออยุธยาและไอซีดี จึงมีส่วนช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากทางบกไปเป็นทางน้ำและการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเพื่อขนส่งสินค้า ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ช่วยลดปัญหาการจราจรแออัดบนถนนสายหลักรวมทั้งถนนบริเวณท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังด้วย
และจากผลสำรวจของ AC Neilsen หรือ บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปานี ที่ช่วยตอกย้ำความมีคุณภาพของข้าวตราฉัตร ว่าเป็น “ข้าวหอมมะลิไทย ยอดขายดี เป็นแบรนด์อันดับ 1 ของประเทศ (ติดต่อกัน 6 ปีซ้อน)” สามารถครองใจผู้บริโภคในประเทศ ด้วยคุณสมบัติ ข้าวคุณภาพดี การันตีโดยรางวัล “ข้าวที่ดีที่สุด” หรือ World Best Rice Award 2009 จากงานสัมมนาข้าวโลก
ประวัติย่อหัวหน้าคณะผู้แทนหมู่เกาะแปซิฟิก
ประเทศ |
ชื่อ |
ประวัติย่อ |
หมู่เกาะคุก |
Mr. Tu Tai Tura สมาชิกรัฐสภาหมู่เกาะคุก |
เกิด พ.ศ. 2492 / ปัจจุบัน อายุ 65 ปี ลงเล่นการเมืองตั้งแต่ปี 2553 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา สังกัดพรรค Cook Islands Party |
ฟิจิ |
Mr. Peter Wise ปลัดกระทรวงวางแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาแห่งชาติ และสถิติแห่งฟิจิ |
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงวางแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาแห่งชาติ และสถิติ |
คิริบาส |
H.E. Reteta Rimon Nikuata ข้าหลวงใหญ่ (เอกอัครราชทูต) คิริบาส ประจำกรุงซูวา ประเทศฟิจิ |
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ (เอกอัครราชทูต) คิริบาสประจำกรุงซูวา ประเทศฟิจิ |
หมู่เกาะมาร์แชลส์ |
H.E. Tom D. Kijiner (นายทอมัส ดี คิจิเนอร์) เอกอัครราชทูตหมู่เกาะมาร์แชลส์ ประจำประเทศไทย (ถิ่นพำนัก ณ กรุงโตเกียว) |
เกิด 29 สิงหาคม ค.ศ. 1945 / อายุ 69 ปี สถานะครอบครัว สมรสและมีบุตร 7 คน การศึกษา University of Hawaii - ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตหมู่เกาะมาร์แชลส์ประจำกรุงโตเกียวเมื่อปี 2555 - ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตหมู่เกาะมาร์แชลส์ประจำประเทศไทยคนแรกเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 |
นาอูรู*** |
นายบารอน วากา (His Excellency Honourable Baron Waqa) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐนาอูรู |
เกิด 31 ธันวาคม พ.ศ. 2502 / อายุ 54 ปี พ.ศ. 2546 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภานาอูรู เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ 11 มิ.ย. 2556 ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ข้อมูลเพิ่มเติม - เมื่อเดือน เม.ย. 2547 ได้เข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงที่ท่าอากาศยานนานาชาตินาอูรูเพื่อคัดค้านนโยบายว่าด้วยผู้ขอลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานของรัฐบาลออสเตรเลีย ส่งผลให้อาจถูกตัดสินจำคุก 14 ปี แต่ในที่สุด ไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด |
นีอูเอ |
H.E. Mrs. O’ Love Tauveve Jacobsen ข้าหลวงใหญ่นีอูเอประจำนิวซีแลนด์ |
ประวัติการทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสาธารณะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสตรี รัฐมนตรีควบคุมดูแลบริษัทพลังงาน สมาชิกคณะรัฐมนตรีนีอูเอ พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน ข้าหลวงใหญ่นีอูเอประจำนิวซีแลนด์ |
ตองกา*** |
ลอร์ด ซิอาเลอาทาโองโก ทุยวากาโน (Lord Siale’ataongo Tu’ivakano) นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการการต่างประเทศ |
เกิด 15 มกราคม พ.ศ. 2495 / อายุ 62 ปี คู่สมรส Lady Joyce Robyn Kaho การศึกษา รัฐศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) จาก Flinders University(ออสเตรเลีย) ประวัติการทำงาน พ.ศ. 2545-2547 ประธานสภานิติบัญญัติ พ.ศ. 2548 รัฐมนตรีว่าการ Works พ.ศ. 2549 รัฐมนตรีว่าการ Training, Employment, Youth และ Sport พ.ศ. 2553 – ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรี |
ตูวาลู*** |
The Hon. Maatia Toafa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตูวาลู |
เกิด 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 สถานะครอบครัว สมรส 27 สิงหาคม 2547– 14 สิงหาคม 2549 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2549 – พ.ศ. 2553 หัวหน้าฝ่ายค้าน 29 กันยายน 2553– 24 ธันวาคม 2553 5 สิงหาคม 2556 – ปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการประทรวงการคลัง ข้อมูลเพิ่มเติม - เคยทำงานในสำนักเลขาธิการองค์การ Pacific Islands Forum |
วานูอาตู*** |
The Hon. Meltek Sato Kilman Livtuvanu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศวานูอาตู |
เกิด พ.ศ. 2500 / อายุ 57 ปี สถานะครอบครัว สมรสแล้ว การศึกษา จบจาก Derrick Technical Institute (Fiji Institute of Technology) - พฤศจิกายน 2552 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี - 2 ธ.ค. 2553 - 23 มี.ค. 2556 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี - ตั้งแต่ 15 พ.ค. 2557 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ |
โซโลมอน*** |
The Hon. Connelly Sandakabatu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพื่อการวางแผนเพื่อการพัฒนาและความช่วยเหลือ |
เกิด 11 มิถุนายน 2499 / อายุ 58 ปี การศึกษา ปริญญาโท มหาวิทยาลัย Western Sydney ออสเตรเลีย - 30 สิงหาคม 2553 – 22 ตุลาคม 2555 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ - ตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2555 รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเพื่อการวางแผนเพื่อการพัฒนาและความช่วยเหลือ |
สำนัก ลธ. PIF |
Mr. Alfred Schuster ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา สำนักเลขาธิการ PIF |
ไม่มีข้อมูล |
ไมโครนีเซีย |
Mr. Samson E. Pretrick รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ไมโครนีเซีย |
ไม่มีข้อมูล |
เผยแพร่ข่าวในนาม บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด
ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ กรุณาติดต่อ:
กนกพร ตรีสุคนธรัตน์ (ผู้จัดการแผนกสื่อสาร และประชาสัมพันธ์องค์กร)
เบอร์โทรฯ : 0-2646-7162, 081-256-0800
แฟกซ์ : 0-2646-7392
อีเมล์ : [email protected]
เว็บไซต์ : www.cpthairice.com
Facebook : www.facebook.com/KhaoTraChat