- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 16 August 2014 21:07
- Hits: 2638
สศก.หนุนเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้เพื่อประโยชน์ยั่งยืน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยผลติดตามการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร/เกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี ช่วงเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า ช่วยพัฒนาเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ถึง 99% มั่นใจเกษตรอินทรีย์ เป็นทางเลือกในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าและรายได้ให้กับเกษตรกร และชูความเป็นอยู่ดีขึ้น
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการ สศก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนโครงการ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการผลิตภาคการเกษตรจากเดิมที่พึ่งพาการใช้สารเคมีเป็น หลักมาเป็นการผลิตที่ลดการใช้สารเคมีลง แบบสร้างเครือข่ายเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่ใช้สารอินทรีย์และขยายผลให้ เกษตรกรรายอื่น ๆ มีความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการผลิตโดยการใช้สารอินทรีย์ มีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุตามธรรมชาติ และใช้พืชสมุนไพรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภค และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ อีกด้วย
ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการ และโฆษก สศก. กล่าวว่า จากการติดตามโครงการในพื้นที่จังหวัด ราชบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า มีการดำเนินการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมี โดยการพัฒนาเกษตรกร กลุ่มเดิมที่เข้มแข็ง และพัฒนาเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จำนวน 100,340 ราย คิดเป็น ร้อยละ 99 จากเป้าหมาย 100,500 ราย โดยอบรมให้ความรู้ในเรื่องการใช้ปุ๋ยตามชุดดิน การผลิตน้ำหมักชีวภาพ การสาธิตทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐาน พร้อมอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น ถังหมักขนาด 120 ลิตร กากน้ำตาล และพืชสมุนไพรให้เกษตรกรที่เข้าอบรม
นอกจากนี้ ยังดำเนินการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด 613,518 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 95 จากเป้าหมาย 646,300 ไร่ จัดงานรณรงค์งดเผาฟางและตอซังพืช 6,500 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 87 จากเป้าหมาย 7,500 ไร่ ขับเคลื่อนโรงปุ๋ยอินทรีย์งบ CEO จำนวน 81 โรง คิดเป็นร้อยละ 16 จากเป้าหมาย 504 โรง และรับรองมาตรฐานปัจจัยการผลิต 1,490 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 213 จากเป้าหมาย 700 ชนิด
ทั้งนี้ จากกระแสความนิยมในการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้ตระหนักถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวด ล้อม และส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีมากขึ้น อีกทั้งในปี 2558 ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรสามารถแข่งขันได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น เกษตรอินทรีย์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าและรายได้ให้กับเกษตรกร ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น และส่งผลให้การพัฒนาภาคการเกษตรไทยมีความยั่งยืนอีกด้วย
อินโฟเควสท์