- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 09 August 2014 12:54
- Hits: 2901
บอร์ดยาสูบชุดใหม่ไฟแรง ลุยแก้ปัญหาใบยาส่วนเกิน กำหนดเป็นบรรทัดฐานการรับซื้อใบยาในทุกพื้นที่ บรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่ พร้อมมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
จากกรณีที่นายกสมาคมพัฒนาชาวไร่ยาสูบบ่มชาวเชียงใหม่ เข้ายื่นหนังสือต่อผู้จัดการสำนักงานยาสูบเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้โรงงานยาสูบช่วยรับซื้อผลผลิตใบยาแห้งที่เกินจากโควต้าเดิมที่กำหนดไว้
เมื่อวันที่ 3-5 สิงหาคม ที่ผ่านมา ผู้บริหารโรงงานยาสูบชุดใหม่ นำโดยพลเอกวิลาศ อรุณศรี ประธานกรรมการอำนวยการ และนางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ กรรมการอำนวยการและรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการยาสูบ ได้ลงพื้นที่พบปะกับเกษตรกรชาวไร่ใบยาในพื้นที่ภาคเหนือที่ประสบปัญหาผลผลิตเกิน หลังการหารือร่วมกันได้ข้อสรุปว่า โรงงานยาสูบจะรับซื้อใบยาที่เกินโควต้าทั้งหมดจำนวน ร้อยละ 15 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และกำหนดให้เป็นบรรทัดฐานการรับซื้อใบยาเกินโควต้าในพื้นที่อื่นๆ ถือเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไร่ยาสูบ
นางสาวดาวน้อย กล่าวต่อว่า ในส่วนของคุณภาพใบยา โรงงานยาสูบได้มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพใบยาอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้ชาวไร่เพาะปลูกใบยาให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี นำไปสู่ระบบการเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อให้ใบยาสูบไทยมีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ด้านคุณภาพชีวิตของชาวไร่และความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โรงงานยาสูบได้สนับสนุนปัจจัยในการเพาะปลูกยาสูบ จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่ชาวไร่ และกิจกรรมเชื่อมความสามัคคีระหว่างชาวไร่และผู้ที่เกี่ยวข้อง มอบรางวัลให้กับชาวไร่ดีเด่น สนับสนุนการสร้างโรงบ่มใบยาแบบประหยัดพลังงาน มอบทุนการศึกษาครอบครัวยาสูบ การนำนวัตกรรมสำรวจพื้นที่ปลูกยาสูบโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม สนับสนุนชุดตรวจสารเคมีตกค้างในใบยาสด รวมทั้งรักษาสิ่งแวดล้อมและชุมชนในท้องถิ่น
สำหรับบุคลากรของยาสูบ ขอให้ทำงานบนพื้นฐานของความถูกต้อง เป็นประโยชน์กับองค์กร ผู้บริหารให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกคนทุกระดับ สำหรับลูกจ้างชั่วคราวจะดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เหมาะสม
ทั้งหมดนี้ถือเป็นแผนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพื่อมุ่งสู่การเป็นโรงงานต้นแบบในทุกๆด้าน ภายในระยะเวลา 3 ปี ตามที่บอร์ดบริหารโรงงานยาสูบได้มอบนโยบายให้กับพนักงานยาสูบ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้โรงงานยาสูบของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย