- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 13 March 2017 21:45
- Hits: 9149
ธ.ก.ส โพลล์เผยผลสำรวจระดับความสุขของเกษตรกรไทยต้นปี 2560 เพิ่มขึ้น ด้านความรู้ ทางการเงิน (Financial Literacy)พบเรียนรู้แล้วใช้จริงวางแผนทำบัญชีครัวเรือน รู้ออมก่อนกู้ ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส.เผยผลสำรวจ“ระดับความสุขของเกษตรกรไทย”จากเกษตรกรทุกภาคทั่วประเทศ พบราคาผลิตผลการเกษตรเพิ่ม ส่งผลความสุขพุ่งทะยานทุกมิติชี้วัด และโครงการให้ความรู้ทางการเงิน(Financial Literacy) ทำให้เกษตรกรมีความรู้และนำไปประยุกต์ใช้ ส่งผลดีต่อพฤติกรรมทางการเงิน
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เผย”ผลการสำรวจของศูนย์วิจัยและพัฒนาธ.ก.ส.ในหัวข้อ ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 2,064 ราย ทั่วประเทศ พบว่า ความสุขของเกษตรกรไทยในภาพรวมคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) (คะแนนเฉลี่ย 83.11 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน) เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดเริ่มปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ อาทิ อ้อย ปลาน้ำจืด และผลไม้ ทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชและทำประมงน้ำจืดมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้านราคาสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ที่เกษตรกรพอใจ อาทิ ข้าวและยางพารา ส่วนเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดเป็นผลกระทบในระยะสั้น
ภาพ ระดับความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทย ปี 2558-2560 (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) ที่มา: จากการสำรวจของศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. (2560)
จากการสำรวจความสุขของเกษตรกรไทยในมิติชี้วัดความสุข 6 มิติของศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. พบว่า มิติครอบครัวดี มิติสุขภาพดี มิติสังคมดี มิติการงานดี มิติใฝ่รู้ดี และมิติสุขภาพเงินดี มีคะแนนเฉลี่ยความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) โดยมิติครอบครัวดี มีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุดในทุกมิติ (คะแนนเฉลี่ย 87.94) และมิติสุขภาพเงินดีเป็นมิติที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 76.77) แต่คะแนนเฉลี่ยยังอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) ความสุขของเกษตรกรไทย จำแนกตามอาชีพการเกษตรหลัก พบว่า เกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรหลัก ทุกประเภทมีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) โดยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 86.75) เนื่องจากแนวโน้มราคาผลผลิตอ้อยปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำตาลทรายโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งทั่วโลก
เมื่อผลผลิตอ้อยราคาดีทำให้เกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้น ระดับความสุขของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพการเกษตรอื่น รองลงมา คือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้และเลี้ยงปลาน้ำจืด (คะแนนเฉลี่ย 84.75 และคะแนนเฉลี่ย 84.50) ตามลำดับ เนื่องจากราคาผลไม้มีแนวโน้มสูงขึ้น ตั้งแต่กลางปี 2559 จนถึงปัจจุบันจากความต้องการของตลาดต่างประเทศและผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ส่งผลต่อการประมงน้ำเค็มได้รับความเสียหาย ราคาปลาน้ำจืดในตลาดจึงปรับตัวสูงขึ้น
เมื่อจำแนกความสุขของเกษตรกรไทยเป็นรายภาค พบว่า เกษตรกรทุกภาคมีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 85.75) สาเหตุจากราคาอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2559/60 ปรับสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตอ้อยสำคัญของประเทศ รองลงมาคือ เกษตรกรภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออก คะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมเท่ากับ 84.50 84.25 และ 84.00 ตามลำดับ เนื่องจากราคาผลผลิตภาคเกษตร เช่นอ้อย ผลไม้ และปลาน้ำจืด ได้ราคาสูงขึ้น ส่วนเกษตรกรภาคใต้ตอนล่าง มีคะแนนเฉลี่ยความสุขต่ำที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 79.75) อันเนื่องมาจากผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย (ปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560) โดยเกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่สามารถกรีดยางได้ และเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รวมทั้งผลผลิตที่เก็บได้มีอัตราการให้น้ำมันลดลง”
นายลักษณ์ กล่าวต่อว่า”จากการที่ ธ.ก.ส.จัดทำโครงการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) มาอย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นนโยบายในการสนับสนุนสินเชื่อที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่พี่น้องเกษตรกรด้วยนั้น ในปีบัญชี 2559 นี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส ทำการสำรวจโดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นตัวอย่าง จำนวน 1,155 ราย ได้แก่ เกษตรกร ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ธ.ก.ส.และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เยาวชนในโครงการโรงเรียนธนาคาร และผู้ประกอบการ SME เกษตร พบว่า พฤติกรรมทางการเงินของกลุ่มตัวอย่างปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากปี 2558 ในทุกด้าน ได้แก่ ด้านการจัดทำบัญชีครัวเรือนรายรับ-รายจ่าย การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน การออมเงิน การออมก่อนใช้ ก่อนกู้มีการพิจารณาถึงความจำเป็น การใช้เงินตามวัตถุประสงค์ และการจัดสรรเงินสำหรับชำระหนี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ พบว่า กลุ่มที่เป็นเกษตรกร ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ธ.ก.ส.และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเยาวชนในโครงการโรงเรียนธนาคาร เห็นว่า การเรียนรู้ทางการเงินทำให้มีความรู้ความเข้าใจ เรื่อง “3 รู้ (รู้การออม รู้ชีวิต รู้ก่อนกู้) สู่ 12 แนวทางสว่างทางการเงิน”และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้สมาชิกในครอบครัว โดยพบว่าได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้เกี่ยวกับการใช้เงินตามวัตถุประสงค์มากที่สุดร้อยละ 98.0 รองลงมา คือ การออมเงินร้อยละ 95.4 และนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 94.1 ตามลำดับ สำหรับผู้ประกอบการ SME เกษตร เห็นว่า โครงการดังกล่าวมีประโยชน์ สร้างความรู้และความเข้าใจ เรื่อง“3 ก้าว 9 รู้ สู่ธุรกิจ SME เกษตร”ซึ่งเป็นความรู้ ตั้งแต่การสร้างความพร้อม สร้างความรู้ทางธุรกิจและสร้างความเติบโต โดย ธ.ก.ส.จะมุ่งพัฒนาการให้ความรู้ทางการเงินกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ SME เกษตรและเยาวชนต่อไป จากผลการสำรวจบ่งชี้ว่าการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียน สามารถปรับพฤติกรรมทางการเงิน อาทิ การจัดทำบัญชีครัวเรือนรู้รายรับรายจ่าย รู้ออมรู้ใช้ รู้ก่อนกู้ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรและภาคชนบทอย่างยั่งยืน”
ที่มา:ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. กลุ่มงานวิจัยและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร/กลุ่มงานพัฒนาเครือข่ายและวิจัยชุมชน
สำนักสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์