- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 27 December 2016 23:10
- Hits: 9784
บอร์ด กยท.อนุมัติร่างหลักเกณฑ์ช่วยเหลือชาวสวนยางภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม-แนะแนวทางฟื้นฟู
คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย อนุมัติร่างระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 49 (5) พ.ศ. .... ประกาศใช้ทันที เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 พร้อมแนะเกษตรกรชาวสวนยางฟื้นฟูสวนยางหลังน้ำลดอย่างถูกวิธี
นายธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 49 (5) ของ พ.ร.บ. กยท. เพื่อเร่งให้เป็นของขวัญปีใหม่ 2560 แก่เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับทาง กยท. อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือเกษตรกรที่สวนยางประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ทันที
โดยในร่างระเบียบดังกล่าว จะให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกรณีสวนยางประสบภัย ในอัตรารายละไม่เกิน 3,000 บาท นอกจากนี้ ยังจัดสรรสวัสดิการอื่นๆ แก่พี่น้องชาวสวนยาง อาทิ เงินให้แก่ทายาทของเกษตรกรชาวสวนยางกรณีเกษตรกรชาวสวนยางเสียชีวิต และเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ร่างระเบียบนี้จะเป็นการนำร่องประกาศใช้ และสามารถปรับเปลี่ยนการจัดสรรสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องตามสถานการณ์ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรตามกำหนดได้ในอนาคต
นายธีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดในพื้นที่ภาคใต้ประสบปัญหาฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้สวนยางพาราของเกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบและสวนยางพารามีน้ำท่วมขัง ในเบื้องต้น กยท.ได้ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน พร้อมผู้นำเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และหน่วยงานปกครองในจังหวัด มอบถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรจากการเกิดอุทกภัยในครั้งนี้
โดยผลการสำรวจ พบว่ามีเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้ จำนวน 60,338 ราย และมีพื้นที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด ประมาณ 531,876 ไร่ แบ่งเป็น จังหวัดนครศรีธรรมราช 41,932 ราย มีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 416,133 ไร่ จังหวัดพัทลุง 17,331 ราย มีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 105,944 ไร่ จังหวัดตรัง 700 ราย มีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 7,250 ไร่ จังหวัดสงขลา 353 ราย มีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 2,396 ไร่ และจังหวัดนราธิวาส จำนวน 22 ราย มีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 153 ไร่ อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ของ กยท.เข้าไปประเมินความเสียหายของพื้นที่สวนยางที่ถูกน้ำท่วม พร้อมทั้งให้คำแนะนำดูแลสวนยางที่ถูกน้ำท่วมขัง เพื่อฟื้นฟูสวนยางอย่างถูกวิธี
นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า การดูแลสวนยางอย่างถูกวิธีหลังถูกน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรดำเนินการเร่งขุดร่องระบายน้ำ บริเวณกึ่งกลางระหว่างแถวยาง ออกจากสวนยางโดยเร็ว และควรใช้แรงงานคน หรือเครื่องจักรขนาดเล็กเท่านั้น ไม่ควรใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ขุดร่องน้ำ เพราะจะทำให้โครงสร้างของดินยังไม่แน่นพอเสียหาย อาจทำลายรากยางโดยตรง และควรงดใส่ปุ๋ยทุกชนิดในขณะที่ดินยังไม่แห้ง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะความเป็นพิษต่อต้นยาง เนื่องจากส่วนของรากขาดออกซิเจน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมต้นยางที่ทรุดโทรม รวมทั้งยังทำให้ต้นยางฟื้นตัวช้า อาจทำให้ต้นยางอ่อนแอกระทั่งถึงตายได้ ดังนั้นเกษตรกรควรรอให้ต้นยางฟื้นตัวและแข็งแรงดีเสียก่อน อย่างน้อยประมาณ 30 วัน จึงทำการใส่ปุ๋ย
หากกรณีต้นยางมีอายุไม่เกิน 1-4 ปี ให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่งหลัก เพื่อลดน้ำหนักและลดการคายน้ำของต้นยาง พร้อมทั้งยกต้นยางให้ตั้งตรงโดยใช้ไม้ค้ำยัน เพื่อให้ต้นยางพารากลับสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้น และลดอัตราความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางควรประเมินสภาพทั่วไปของสวนหลังน้ำลดในสภาพโดยรวม หากต้นยางได้รับความเสียหายมากกว่า 50% ของสวน และส่งผลต่อการปฏิบัติดูแลรักษา เกษตรกรอาจต้องทำการโค่นเพื่อปลูกซ่อมทดแทนต้นยางที่ตาย
กยท.ดันโครงการยางล้อประชารัฐ ส่งเสริมใช้ยางในประเทศ จับมือเอกชนผลิตยางล้อคุณภาพ
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า โครงการยางล้อประชารัฐ จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการใช้ยางพาราภายในประเทศ ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติที่ส่งออกรายใหญ่ของโลก ในปี 2558 มีผลผลิตยางประมาณ 4.47 ล้านตัน สามารถนำไปใช้ภายในประเทศประมาณ 0.6 ล้านตัน คิดเป็น 13.42% ของผลผลิตทั้งหมด และยางส่วนใหญ่ถูกใช้ในการผลิตยางยานพาหนะ 0.34 ล้านตัน คิดเป็น 56.48% ของปริมาณยางทั้งหมด
ขณะเดียวกัน แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายในประเทศจะมีความเติบโตขึ้นในช่วงปี 2560 เนื่องมาจากตลาดส่งออกมีการขยายสู่ภูมิภาคอาเซียนตามแผนการส่งออกรถอีโคคาร์จากเงื่อนไขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น ดังนั้นหากมีการนำผลผลิตยางไปผลิตยางล้อรถยนต์นั่งที่มีส่วนผสมของยางพาราเพิ่มขึ้น และที่สำคัญได้มาตรฐานคุณภาพในราคาต่ำกว่าท้องตลาด จะเป็นโอกาสในการนำวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ เพิ่มรายได้ให้กับประเทศชาติมากขึ้นด้วย
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการยางล้อประชารัฐ กยท.จะจับมือร่วมกับบริษัทเอกชน ทำการผลิตยางล้อรถยนต์นั่งที่มีส่วนผสมของยางพาราเพิ่มขึ้น โดยนำร่องขอความร่วมมือขายให้กับสหกรณ์รถแท็กซี่ และผู้ประกอบการรถแท็กซี่ ขณะนี้มีรถแท็กซี่ที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 73,000 คัน หากทุกคันมีการเปลี่ยนยางล้อปีละ 1 ครั้ง จะมีการใช้ยางล้อ 292,000 เส้น เป็นการใช้ยางเพิ่มขึ้นอย่างน้อยจำนวน 584,000 กิโลกรัมต่อปี
นอกจากนี้ กยท.จะนำโครงการดังกล่าว มาใช้กับรถยนต์ของการยางแห่งประเทศไทยเอง ปัจจุบัน กยท.มีรถยนต์ทั่วประเทศ 333 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 5 คัน รถกระบะ 193 คัน รถตู้ 88 คัน รถบรรทุก 6 ล้อ 44 คัน และรถบรรทุก 10 ล้อ 3 คัน จะต้องใช้ยางล้อประมาณ 1,400 กว่าเส้น และจะขยายสู่หน่วยงานราชการอื่นๆ ตั้งเป้ารถยนต์ในปี 2560 ประมาณ 5,000 คัน
ทั้งนี้ โครงการยางล้อประชารัฐใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการประมาณ 2 ปี คือตั้งแต่ม.ค.60 ถึง ธ.ค.61 คาดการณ์ปริมาณการใช้ยางในประเทศจะเพิ่มไม่ต่ำกว่า 48 ตันต่อปี
"หากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หรือภาคเอกชน ต่างช่วยกันสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับยางพารา จะเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนภายในประเทศ รวมทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณภาพและความมั่นใจต่อสินค้าของไทย อาจเริ่มต้นจากการผลิตยางล้อ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคคนไทยทุกคนส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ และมีการใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตค่อนข้างสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคอย่างแน่นอน" นายณกรณ์ กล่าว
ชาวสวนยางฯ เตรียมยื่นศาลปกครองให้กยท.ชะลอขายยางในสต็อก 3.1 แสนตันชั่วคราว หลังราคาร่วงหนัก
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉินให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ชะลอการขายยางพาราในสต็อก 3.1 แสนตันในวันที่ 28 ธ.ค.นี้ออกไปชั่วคราว 3 เดือน เพื่อไม่ให้ราคายางตกต่ำ เนื่องจากตั้งแต่ กยท.ประกาศเปิดให้เอกชนมาประมูลยางในวันที่ 28 ธ.ค.นี้ ส่งผลให้ราคายางตกอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้ให้นโยบายระบายยางของรัฐอย่างระมัดระวัง และดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสมและให้องค์กรส่วนท้องถิ่นโดยมอบให้คณะกรรมการ กยท.กำกับดูแลการระบายยาง
"นายกฯ สั่งไว้ละเอียดแบบนี้ แต่กยท.หยิบเอานโยบายนายกฯมาใช้ไม่ครบ เอามาแค่ครึ่งเดียว คือระบายยาง แต่ไม่ได้คำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม ระบายยางโดยไม่ได้คิดถึงข้อสังเกตและไม่ได้คิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งไม่มีการมาหารือ สยยท.ขนาดตนทำหนังสือคัดค้านการขายยาง 3.1 แสนตันเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ไปยังบอร์ด กยท. ซึ่ง กยท.รับหนังสือไปแล้วบอกว่าเป็นสิทธิ์ที่ทางนั้นจะฟ้อง แต่ไม่ได้ชะลอการระบายยางแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องออกมาร้องเรียนดีกว่าเดินขบวนหรือปิดทำเนียบฯ...ปี 57 ผมเคยฟ้องรัฐมนตรียุคล ลิ้มแหลมทอง ฟ้องรมช.ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อที่เก็บไว้ 2.1 แสนตันเลือดหยุดไหล แต่คราวนี้ยางอยู่ในสต็อกเยอะเหลือเกิน มีจากโครงการมูลภัณฑ์กันชนอีก 1 แสนตันเป็น 3.1 แสนตัน"นายอุทัย กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์
นายอุทัย กล่าวว่า ในช่วงเดือนธ.ค.-ม.ค. เกษตรกรกำลังได้เงิน เคยขายราคายางกิโลกรัมละ 70-80 บาท เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. กยท.มาประกาศว่าจะให้เอกชนมายื่นประมูลขายยาง ระบายยางในวันที่ 28 ธ.ค.นี้ ซื้อซอง ตรวจสต็อก 23-24 ธ.ค.ทำให้ราคายางก้อนถ้วยตกลงมาเกือบ 4-7 บาท/กก. จึงต้องออกมาเรียกร้องขอให้ กยท.ชะลอการขายยางออกไปก่อน รอจนกว่าเกษตรกรจะปิดกรีดยางในช่วงต้นเดือน เม.ย. จึงค่อยเปิดประมูลเพื่อไม่ให้กระทบกับเกษตรกร
ณ วันที่ 17 ธ.ค.ราคายางตลาดเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ 20,580 หยวน/ตัน พอมาวันที่ 22 ธ.ค.ราคาลดลงมาเหลือ 18,350 หยวน/ตัน และ วันนี้ ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 73.87 บาท/กก. ลดลง -0.04 บาท/กก.จากวันที่ 23 ธ.ค. ส่วนราคาเศษยาง 100% ราคาวันนี้อยู่ที่ 61.50 บาท/กก. ลดลง -0.50 บาท จากวันที่ 23 ธ.ค. และแนวโน้มราคายังมีโอกาสปรับตัวลดลงอยู่เรื่อยๆ หากยังไม่มีการชะลอระบายยาง
อินโฟเควสท์