- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 25 November 2016 22:35
- Hits: 9416
ก.เกษตรฯ เผยไทยร่วมขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกทางการค้า หนุนการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรไทย
ก.เกษตรเผยไทยร่วมขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกทางการค้า หรือ TFA เตรียมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ หนุนนโยบายในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการค้าและการลงทุน หวังผลักดันกระบวนการนำเข้า ส่งออก ให้เป็นธรรม มีความโปร่งใส ลดภาระและต้นทุนระยะเวลา โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเสียหายง่าย
นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement: TFA) ข้อ 23.2 ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบันยอมรับการแก้ไขพิธีสารมาราเกซเพื่อผนวกความตกลงดังกล่าว เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงองค์การการค้าโลกแล้ว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 โดยคณะอนุกรรมการ มีกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมเป็นองค์ประกอบ
องค์การการค้าโลก (WTO) ได้บรรจุความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า หรือ TFA เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงองค์การการค้าโลก หลังจากการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 หรือ MC9 เมื่อวันที่ 3-6 ธันวาคม 2556 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความเห็นชอบบทบัญญัติที่ไทยพร้อมปฏิบัติได้ทันทีที่ความตกลง TFA มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 จำนวน 123 บทบัญญัติ เนื่องจากมีความสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบภายในประเทศที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหรือจะมีการปรับปรุงในระยะเวลาอันสั้น
เนื้อหาของความตกลงดังกล่าว ประกอบด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติด้านการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดนของสินค้า ได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลที่มีความสําคัญสําหรับผู้ค้า เช่น อัตราภาษีศุลกากร ค่าธรรมเนียม กฎหมาย กฎระเบียบ การออกคําวินิจฉัยล่วงหน้าเกี่ยวกับพิกัดของสินค้า การชําระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย การยอมรับให้ใช้สําเนาแทนเอกสารตัวจริง การพยายามนําระบบ Single Window มาใช้งาน เสรีภาพในการขนส่งสินค้าผ่านแดนโดยการไม่เก็บค่าธรรมเนียมการผ่านแดน เว้นแต่เพื่อเป็นค่าบริการ หลักเกณฑ์เงื่อนไขด้านความร่วมมือกันของหน่วยงานศุลกากร เป็นต้น
ทั้งนี้ ความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า จะมีส่วนสนับสนุนให้กระบวนการปฏิบัติด้านการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดนของสินค้า มีความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และมีความโปร่งใส ช่วยลดภาระต้นทุน ระยะเวลา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเสียหายง่าย นอกจากนี้ ความตกลงดังกล่าว ยังสอดคล้องกับนโยบายของไทยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการค้าและการลงทุน โดยการลดต้นทุนรวมของการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการลดต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนเวลา และลดความไม่แน่นอน สำหรับการนำเข้า การส่งออก และผ่านแดนสินค้าซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย