- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 20 November 2016 21:35
- Hits: 11781
ชูโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ช่วยสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ลดต้นทุนได้จริง
ชูโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ช่วยสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ลดต้นทุนได้จริง
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงผลประเมินการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร เผย เกษตรกรพึงพอใจ นำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติใช้จริง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมเครื่องจักรกลได้ 1,477 บาท/ราย/ปี
นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลประเมินการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร พบว่า การดำเนินงานปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา สามารถสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ได้ 3,305 ราย และพัฒนาความรู้ให้ผู้ประกอบการธุรกิจการให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรในชุมชน จำนวน 107 ราย (สูงกว่าเป้าหมายคิดเป็นร้อยละ 104.09 และ 107 ของเป้าหมายตามลำดับ)
สำหรับ การประเมินผลกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวม 12 จังหวัด ซึ่งเป็นเกษตรกรในกิจกรรมสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น 285 ราย และผู้ประกอบการในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพการให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรชุมชน 49 ราย ผลการประเมินผล พบว่า
ก่อนเข้าร่วมโครงการเกษตรกรที่ผ่านการอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นร้อยละ 78 มีความรู้พื้นฐานการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรเบื้องต้นอยู่แล้ว เช่น เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรองโซล่าแต่เมื่อมีการชำรุดเสียหายของเครื่องจักรกลการเกษตร ยังต้องใช้วิธีจ้างช่างทั้งในและนอกชุมชนซ่อม ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยช่างท้องถิ่นระดับ 1 มีค่าใช้จ่ายในการจ้างซ่อมเฉลี่ย 2,129.13 บาท/เครื่อง/ปี
อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าอบรมแล้วเกษตรกรร้อยละ 94 นำความรู้ไปปฏิบัติใช้ ทั้งการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรของตนเอง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,373.04 บาท/เครื่อง/ปี (สามารถลดค่าใช้จ่ายจากการจ้างซ่อมลงได้ 756 บาท/เครื่อง/ปี) ส่วนช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 2 และ 3 สามารถให้บริการซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตรให้เกษตรกรข้างเคียง ทำให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายจากการนำเครื่องยนต์ไปซ่อมนอกพื้นที่ได้เฉลี่ย 1,477 บาท/ราย/ปี โดยเกษตรกรที่ผ่านการอบรมมีการนำความรู้ไปขยายผลให้เกษตรกรใกล้เคียงได้ เฉลี่ย 1 : 8 ราย
สำหรับกิจกรรมพัฒนาศักยภาพธุรกิจฯ ผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมใน 3 หลักสูตร ได้แก่ การเพาะกล้า/ดำนาข้าว การเก็บเกี่ยวข้าว และการสีข้าว มีศักยภาพในการให้บริการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20 ราย/ปี มีผลประกอบการ (กำไร) เพิ่มขึ้น 35,917 บาท/ปี และต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ลดลง 36,209 บาท/ปี ในภาพรวมผู้ที่ผ่านการอบรมมีความพึงพอใจต่อตัวโครงการในระดับมาก ทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์โครงการ ด้านการถ่ายทอดความรู้ และด้านการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเห็นว่าความรู้ที่ได้รับสามารถนำมาปรับใช้และลดค่าใช้จ่ายได้จริง โดยเสนอว่าควรเพิ่มระยะเวลาในการอบรม และเพิ่มเนื้อหาหลักสูตร เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อใช้ต่อยอดในการซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร และต้องการให้มีโครงการอย่างต่อเนื่องทุกปี
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานในระยะต่อไปมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควรเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีความพร้อมด้านเครื่องจักรกลการเกษตร และมีความสนใจเรียนรู้ทางด้านช่าง โดยในการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริง ควรใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ชำรุดมาเป็นเครื่องมือในการฝึกปฏิบัติ ซึ่งจะเกิดการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ เพื่อให้การอบรมความรู้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน ควรมีการดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตรในหมู่บ้าน ให้เกษตรกรที่มีศักยภาพเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการ รวมทั้งผลักดันให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการสร้างงานให้คนในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร