WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1DLD

กรมปศุสัตว์ เฝ้าระวังยาปฎิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานสากล เดินหน้าสร้างอาหารปลอดภัยร่วมกับผู้ประกอบการ

     กรมปศุสัตว์ ย้ำควบคุมและเฝ้าระวังยาสัตว์ตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวด สอดคล้องกับมาตรฐานโลก เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค พร้อมผลักดันผู้ประกอบการร่วมกันสร้างอาหารปลอดภัยอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ

    นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับผู้ประกอบการภาคปศุสัตว์ พัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์อย่างต่อเนื่อง มุ่งสร้างอาหารปลอดภัยตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP) ที่เน้นการป้องกันโรคโดยใช้มาตรการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ลดการใช้ยาหรือสารเคมีในฟาร์ม มีข้อกำหนดให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต้องมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม เป็นผู้ดูแลด้านสุขภาพสัตว์และควบคุมการใช้ยาในสัตว์เท่าที่จำเป็น และต้องมีระยะหยุดการใช้ยาและสารเคมีต่างๆ

     ก่อนส่งสัตว์เข้าโรงฆ่าสัตว์ตามมาตรฐานสากล เพื่อไม่ให้มียาและสารเคมีตกค้างในเนื้อสัตว์ ต้องผ่านการเชือดชำแหละในโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมายและมีสุขอนามัยที่ดี มีพนักงานตรวจโรคสัตว์ทำหน้าที่ตรวจสอบสัตว์ก่อนการฆ่าและตรวจเนื้อสัตว์หลังการฆ่าชำแหละ จึงจะรับรองให้นำเนื้อสัตว์ออกจำหน่ายได้ จากการดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิตของกรมปศุสัตว์อย่างจริงจังทำให้เนื้อสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ปีก มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับโลก สามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกไปจำหน่ายต่างประเทศ อาทิ EU ญี่ปุ่น ฯลฯ และล่าสุดเกาหลีใต้อนุญาตนำเข้าเนื้อไก่ดิบจากไทยแล้ว

     “กรมปศุสัตว์มุ่งพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก และมีมาตรการลงโทษตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหากมีการตรวจพบ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเกษตรกรรายย่อย ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต”อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า

       จากการดำเนินการอย่างเคร่งครัดและการบูรณาการดำเนินการร่วมกัน ที่เน้นระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์ม ส่งผลให้การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาและนโยบายของประเทศ ในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างเป็นระบบ และแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการร่วมกันแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพกับนานาประเทศทั่วโลก ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวของโลก (One World, One Health) ทั้งสุขภาพมนุษย์ สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อม

      นายสัตวแพทย์อภัย กล่าวอีกว่า กรมปศุสัตว์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าทำงานในเชิงบูรณาการ ด้วยการจัดทำ'แผนปฏิบัติการการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔'ตลอดจนแผนปฎิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม 'ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔' ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา และกำกับดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมในภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง

  ขณะเดียวกัน ยังมีการดำเนินโครงการร่วมกับองค์กรสากล อาทิ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งประชาชาติ (FAO) ในการวิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงของเชื้อดื้อยาในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ และยังร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) และ FAO จัดอบรม Regional Training Workshop on Antimicrobial Resistance (AMR) Responding to the Global Challenge of AMR Threats : Toward a One Health Approach ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 15 -18 พฤศจิกายน 2559 เพื่อควบคุมปัญหาเชื้อดื้อยาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก./

       ข้อมูล/ข่าว : กรมปศุสัตว์สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์และกองควบคุมอาหารและยาสัตว์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!